เมื่อวันที่ ๑๒ – ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและองค์การระหว่างประเทศหลายองค์กรได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Responsible Business and Human Rights (RBHR) Forum ณ ศูนย์ประชุมแห่งสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยการประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานภายใต้โครงการ Fostering Responsible Conduct ซึ่งเป็นโครงการย่อยภายใต้ความร่วมมือ Country Programme ระหว่างไทยกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development – OECD) อันเป็นผลจากการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสองฝ่ายเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑
การจัดการประชุมดังกล่าวเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในทุกมิติรวมทั้งในภาคธุรกิจ และการที่ OECD ได้พิจารณาเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่แรกเพื่อจัดการประชุม RBHR นอกสำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส สะท้อนถึงความร่วมมืออันดีของไทยในเวทีระหว่างประเทศในการเสริมสร้างพลวัตของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ องค์กรเอกชน (NGOs) ผู้แทนภาคธุรกิจ และนักวิชาการ กว่า ๗๐๐ คน จาก ๖๐ ประเทศ
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมบทบาทของภาคธุรกิจต่อสังคม เช่น การดำเนินการของภาครัฐเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การสนับสนุนและลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับ SMEs ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีความรับผิดชอบ บทบาทของภาคธุรกิจต่อการบรรลุ SDGs เป็นต้น นอกจากนี้ มีการประชุมแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อหารือตามประเด็นและสาขาธุรกิจ เช่น เรื่อง Due Diligence ในภาคอาหารและการเกษตร โครงสร้างพื้นฐาน และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยกล่าวเปิดงาน ได้ย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการดำเนินการ เพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้รับคำชื่นชมจากที่ประชุมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการที่ไทยแสดงบทบาทนำในภูมิภาคด้านสิทธิมนุษยชนและการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ด้วยการเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงการรับเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุม RBHR Forum นี้
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยถือเป็นผลของความพยายามร่วมกันระหว่างหน่วยงานของไทยและองค์การระหว่างประเทศ ในส่วนของไทยมีกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำหรับองค์การระหว่างประเทศที่เป็นเจ้าภาพร่วม ได้แก่ OECD โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – UNESCAP) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) และคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights – AICHR)
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ