นายกรัฐมนตรีเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๔

ข่าวต่างประเทศ Monday September 23, 2019 13:32 —กระทรวงการต่างประเทศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะผู้แทนไทยมีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๔ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๗ กันยายน ๒๕๖๒ พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๔ มีหัวข้อหลัก คือ “การผลักดันความพยายาม ในระดับพหุภาคีเพื่อการขจัดความยากจน การศึกษาอย่างมีคุณภาพ การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและการมีส่วนร่วม” และจะมีการจัดการประชุมระดับสูงที่สำคัญ ได้แก่

(๑) การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals Summit – SDGs Summit) ซึ่งเป็นการประชุมในระดับผู้นำเป็นครั้งแรกภายหลังจากที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย ได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (Sustainable Development Goals - SDGs) เมื่อปี ๒๕๕๘ เพื่อประเมินผลและเร่งอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ร่วมกัน ทั้งนี้ เป็นวาระที่ไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในกรอบของอาเซียน

(๒) การประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage – UHC) โดยเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย ณ นครนิวยอร์กเป็นผู้ประสานงานร่วมในการยกร่างปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะเป็นเอกสารสำคัญที่ผู้นำจะร่วมรับรองในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการให้ประเทศต่าง ๆ มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและทั่วถึง ทั้งนี้ ไทยมีบทบาทนำในเรื่องนี้มาโดยตลอด

(๓) การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action Summit) เพื่อผู้นำร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขและป้องกันปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไทยจะกล่าวในวาระนี้ในนามของอาเซียนด้วย

นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียนในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งจะกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในนามประเทศไทย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบหารือทวิภาคีกับเลขาธิการสหประชาชาติ ประธานสมัชชาสหประชาชาติ และผู้นำประเทศต่าง ๆ ในระหว่างการประชุม

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีภารกิจสำคัญ อาทิ การพบปะชุมชนชาวไทยในนครนิวยอร์ก การกล่าวปาฐกถาตามคำเชิญของ Asia Society และสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US - ASEAN Business Council) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชนที่เป็นนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน ๑๙๓ ประเทศสมาชิกปัจจุบันของสหประชาชาติ โดยเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ และมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ทั้งในด้านการรักษาสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และการพัฒนามาโดยตลอด

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ