กรุงเทพ--10 มี.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
ตามที่มีสื่อมวลไทยบางฉบับได้รายงานข่าวว่า การที่กัมพูชาจะดำเนินการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จะทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนถอยร่นเข้ามาในเขตไทยอีก 7.2 ตารางกิโลเมตร นั้น
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนี้
1. ในหลักการ ประเทศไทยมิได้คัดค้านการที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการมรดกโลกและต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะไทยเองก็เห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของปราสาทพระวิหารซึ่งควรได้รับการยอมรับเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติเช่นเดียวกัน และไทยก็ยอมรับคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505 ว่า ตัวปราสาทพระวิหารนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชาด้วย รัฐบาลไทยจึงเห็นว่าปราสาทพระวิหารควรเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างสองประเทศ
2. อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยยืนยันว่า การดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้ของกัมพูชาหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะต้องไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิทางเขตแดนของไทยในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ทั้งไทยทั้งกัมพูชาอ้างทับซ้อนกันอยู่ เนื่องจากเส้นเขตแดนในบริเวณนี้ยังไม่ชัดเจน และทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ แต่ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา มีเอกสารแผนที่ที่กัมพูชาเสนอต่อ UNESCO ที่ลากเส้นบริเวณเขตต่างๆ รอบตัวปราสาท ล้ำเข้ามาในเขตที่ไทยถือว่าเป็นดินแดนไทย ไทยจึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิของตนโดยชอบธรรม จนกว่าจะปักปันเขตแดนเสร็จสิ้น เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของแต่ละฝ่าย และในส่วนของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้ดำเนินการทางการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของประเทศไทยมาตลอด
3. ดังนั้น หากจะมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกกัน เพื่อให้มีการบูรณะ ปฏิสังขรณ์และพัฒนาโบราณสถานสำคัญแห่งนี้ได้ ฝ่ายไทยก็ต้องการให้มีการตกลงกันอย่างชัดเจนและเป็นกิจจะลักษณะเสียก่อนว่า จะมีกลไกหรือระบบการบริหารจัดการร่วมกันเฉพาะกิจอย่างไรในพื้นที่ทับซ้อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะปักปันเขตแดนสำเร็จ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็กำลังหารือกับฝ่ายกัมพูชาอยู่ในเรื่องนี้ตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ ฝ่ายไทยเห็นว่า การจัดระบบการบริหารจัดการร่วมกันจะเป็นการเอื้ออำนวยหรือช่วยให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารนั้นมีความหมายและมีผลในทางปฏิบัติได้จริง กล่าวคือ ทำให้งานทางด้านการทำนุบำรุงปราสาท อนุรักษ์สภาพแวดล้อม ให้ความสะดวกแก่นักวิชาการ นักศึกษาและนักท่องเที่ยวในการเข้าศึกษาและเยี่ยมชม ฯลฯ สามารถเดินหน้าไปได้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งไทยและกัมพูชา โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาความไม่แน่ชัดด้านเขตแดน และโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ต้องปักปันเขตแดนกันเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร
4. ส่วนกลไกที่จะใช้ปักปันเขตแดนนั้น รัฐบาลทั้งสองฝ่ายก็ได้เห็นชอบพร้อมกันจัดตั้งไว้เสร็จแล้ว คือ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission - JBC) ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ตาม บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 และรัฐบาลไทยก็ยังคงพร้อมอยู่ที่จะทำงานร่วมมือกับฝ่ายกัมพูชาภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ เพื่อปักปันเขตแดนให้เกิดความชัดเจนต่อไป
5. ประเด็นที่สื่อมวลชนบางส่วนรายงานข่าวว่าไทยจะเสียดินแดนนั้น กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนยืนยันว่า
- ในขณะนี้ กระบวนการพิจารณาของยูเนสโกเพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารยังไม่สิ้นสุด ยังคงดำเนินอยู่ และไม่ว่าจะมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือไม่ก็ตาม งานของยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกโลกก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับปัญหาเขตแดน และอนุสัญญายูเนสโกว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก ค.ศ. 1972 ก็ระบุว่า การขึ้นทะเบียนไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิในดินแดน อีกทั้งยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกโลกก็เคยยอมรับเองว่าไม่มีอาณัติหรืออำนาจหน้าที่ในเรื่องการกำหนดเขตแดน มีเพียงความสนใจและความรับผิดชอบเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เท่านั้น
- ท่าทีของฝ่ายกัมพูชาที่ผ่านมากล่าวคือ ทั้งในการหารือระดับนายกรัฐมนตรีสองฝ่าย ในการหารือระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และในหนังสือติดต่อที่มีมาจากสมาชิกอาวุโสในคณะรัฐบาลกัมพูชามายังฝ่ายไทย ก็ได้เคยแสดงท่าทีว่า กัมพูชาจะขอให้ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาก็ได้มีหนังสือยืนยันมาว่า การกำหนดเขตขึ้นทะเบียนจะไม่ใช่การปักปันเขตแดนระหว่างกัน
- ฝ่ายไทยเอง กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นทางกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิด้านดินแดนของไทยมาโดยตลอดแล้ว และจะดำเนินการต่อไป
ฉะนั้นขอให้ประชาชนไทยสบายใจได้ว่า ประเทศไทยจะไม่เสียดินแดน และการเจรจาหารือฉันมิตรระหว่างไทยและกัมพูชายังดำเนินอยู่ต่อไป บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้ข้อยุติโดยสันติวิธีที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายได้ในที่สุด
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
ตามที่มีสื่อมวลไทยบางฉบับได้รายงานข่าวว่า การที่กัมพูชาจะดำเนินการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก จะทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนถอยร่นเข้ามาในเขตไทยอีก 7.2 ตารางกิโลเมตร นั้น
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2551 นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนี้
1. ในหลักการ ประเทศไทยมิได้คัดค้านการที่กัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการมรดกโลกและต่อองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะไทยเองก็เห็นคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของปราสาทพระวิหารซึ่งควรได้รับการยอมรับเป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติเช่นเดียวกัน และไทยก็ยอมรับคำตัดสินของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505 ว่า ตัวปราสาทพระวิหารนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชาด้วย รัฐบาลไทยจึงเห็นว่าปราสาทพระวิหารควรเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างสองประเทศ
2. อย่างไรก็ดี ฝ่ายไทยยืนยันว่า การดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้ของกัมพูชาหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะต้องไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิทางเขตแดนของไทยในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ทั้งไทยทั้งกัมพูชาอ้างทับซ้อนกันอยู่ เนื่องจากเส้นเขตแดนในบริเวณนี้ยังไม่ชัดเจน และทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่างกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ แต่ในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา มีเอกสารแผนที่ที่กัมพูชาเสนอต่อ UNESCO ที่ลากเส้นบริเวณเขตต่างๆ รอบตัวปราสาท ล้ำเข้ามาในเขตที่ไทยถือว่าเป็นดินแดนไทย ไทยจึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิของตนโดยชอบธรรม จนกว่าจะปักปันเขตแดนเสร็จสิ้น เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของแต่ละฝ่าย และในส่วนของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้ดำเนินการทางการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อปกป้องและรักษาสิทธิของประเทศไทยมาตลอด
3. ดังนั้น หากจะมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกกัน เพื่อให้มีการบูรณะ ปฏิสังขรณ์และพัฒนาโบราณสถานสำคัญแห่งนี้ได้ ฝ่ายไทยก็ต้องการให้มีการตกลงกันอย่างชัดเจนและเป็นกิจจะลักษณะเสียก่อนว่า จะมีกลไกหรือระบบการบริหารจัดการร่วมกันเฉพาะกิจอย่างไรในพื้นที่ทับซ้อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะปักปันเขตแดนสำเร็จ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศก็กำลังหารือกับฝ่ายกัมพูชาอยู่ในเรื่องนี้ตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ ฝ่ายไทยเห็นว่า การจัดระบบการบริหารจัดการร่วมกันจะเป็นการเอื้ออำนวยหรือช่วยให้การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารนั้นมีความหมายและมีผลในทางปฏิบัติได้จริง กล่าวคือ ทำให้งานทางด้านการทำนุบำรุงปราสาท อนุรักษ์สภาพแวดล้อม ให้ความสะดวกแก่นักวิชาการ นักศึกษาและนักท่องเที่ยวในการเข้าศึกษาและเยี่ยมชม ฯลฯ สามารถเดินหน้าไปได้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งไทยและกัมพูชา โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาความไม่แน่ชัดด้านเขตแดน และโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ต้องปักปันเขตแดนกันเสร็จเรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร
4. ส่วนกลไกที่จะใช้ปักปันเขตแดนนั้น รัฐบาลทั้งสองฝ่ายก็ได้เห็นชอบพร้อมกันจัดตั้งไว้เสร็จแล้ว คือ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission - JBC) ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ตาม บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 และรัฐบาลไทยก็ยังคงพร้อมอยู่ที่จะทำงานร่วมมือกับฝ่ายกัมพูชาภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ เพื่อปักปันเขตแดนให้เกิดความชัดเจนต่อไป
5. ประเด็นที่สื่อมวลชนบางส่วนรายงานข่าวว่าไทยจะเสียดินแดนนั้น กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนยืนยันว่า
- ในขณะนี้ กระบวนการพิจารณาของยูเนสโกเพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารยังไม่สิ้นสุด ยังคงดำเนินอยู่ และไม่ว่าจะมีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือไม่ก็ตาม งานของยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกโลกก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับปัญหาเขตแดน และอนุสัญญายูเนสโกว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลก ค.ศ. 1972 ก็ระบุว่า การขึ้นทะเบียนไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิในดินแดน อีกทั้งยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกโลกก็เคยยอมรับเองว่าไม่มีอาณัติหรืออำนาจหน้าที่ในเรื่องการกำหนดเขตแดน มีเพียงความสนใจและความรับผิดชอบเกี่ยวกับความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เท่านั้น
- ท่าทีของฝ่ายกัมพูชาที่ผ่านมากล่าวคือ ทั้งในการหารือระดับนายกรัฐมนตรีสองฝ่าย ในการหารือระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ และในหนังสือติดต่อที่มีมาจากสมาชิกอาวุโสในคณะรัฐบาลกัมพูชามายังฝ่ายไทย ก็ได้เคยแสดงท่าทีว่า กัมพูชาจะขอให้ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาก็ได้มีหนังสือยืนยันมาว่า การกำหนดเขตขึ้นทะเบียนจะไม่ใช่การปักปันเขตแดนระหว่างกัน
- ฝ่ายไทยเอง กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นทางกฎหมายระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิด้านดินแดนของไทยมาโดยตลอดแล้ว และจะดำเนินการต่อไป
ฉะนั้นขอให้ประชาชนไทยสบายใจได้ว่า ประเทศไทยจะไม่เสียดินแดน และการเจรจาหารือฉันมิตรระหว่างไทยและกัมพูชายังดำเนินอยู่ต่อไป บนพื้นฐานของความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ซึ่งเชื่อว่าน่าจะได้ข้อยุติโดยสันติวิธีที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายได้ในที่สุด
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-