ไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 33 เสนอความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 การจัดตั้งเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข การส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ความเชื่อมโยงด้านพลังงานในอนุภูมิภาค และการพัฒนาทักษะแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่ม MSMEs และสตรี ที่ประชุมยังร่วมหารือการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการผ่อนคลายมาตรการ และการคุ้มครองแรงงาน
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 นายสุนทร ชัยยินดีภูมิ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 33 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโส สปป. ลาว (ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ) และสหรัฐฯ เป็นประธานร่วม และมีเจ้าหน้าที่อาวุโสประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม
ที่ประชุมได้ย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ ในการรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยคุกคามในทุกรูปแบบ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเน้นความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-สหรัฐฯ ในทุกมิติบนพื้นฐานของมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกและวิสัยทัศน์ Free and Open Indo-Pacific ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและเห็นความสำคัญของการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการคุ้มครองแรงงาน ประเทศสมาชิกอาเซียนยินดีที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอาเซียนในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขรวม 87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยข้อริเริ่ม ASEAN-US Health Futures และการยกระดับศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ ในภูมิภาค ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำบทบาทของสหรัฐฯ ในการฟื้นฟูภูมิภาคภายหลังการระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยง เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านบรรษัทการเงินเพื่อการพัฒนาของสหรัฐฯ (US International Development Finance Corporation – USDFC) และการพัฒนาทุนมนุษย์
รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศขอบคุณสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการเป็นแกนกลางของอาเซียน รวมถึงกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำเพื่อสร้างสมดุลในภูมิภาค โดยไทยมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสสำหรับรักษาโควิด-19 การจัดตั้งเครือข่ายระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข การส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลในภูมิภาคผ่านการลงทุนของภาคเอกชนสหรัฐฯ ความเชื่อมโยงด้านพลังงานในอนุภูมิภาค และการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่แรงงานในการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเฉพาะในกลุ่ม MSMEs และสตรี
การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสในการเสริมสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับสหรัฐฯ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืนในภูมิภาค รวมทั้งเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ และการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ในเดือนกันยายน และเดือนพฤศจิกายน 2563 ตามลำดับ
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ