เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๓ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council – ECOSOC) ได้เลือกให้ ดร. เสรี นนทสูติ ผู้สมัครชาวไทย ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Committee on Economic, Social and Cultural Rights – CESCR) วาระปี พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๗ (ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๔) พร้อมด้วยผู้สมัครจากโรมาเนีย อาเซอร์ไบจาน ซูรินาเม จีน อียิปต์ โมร็อกโก เยอรมนี และสเปน ซึ่งจะดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๔ – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๗
คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่มีหน้าที่ติดตามการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของรัฐสมาชิก ซึ่งรัฐสมาชิกมีพันธกรณีที่จะต้องส่งรายงานความคืบหน้าเป็นประจำทุก ๕ ปี และคณะกรรมการฯ จะพิจารณาให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้รัฐสมาชิกนำไปพิจารณาปรับปรุงการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศฯ
ดร. เสรีฯ มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนรัฐสมาชิกให้สามารถปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศฯ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะรวบรวมแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการปฏิบัติตามกติกาจากคณะกรรมการฯ และรัฐภาคี รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการทำงานของคณะกรรมการฯ ให้มากขึ้น และให้สาธารณชนตระหนักเกี่ยวกับสิทธิข้างต้น โดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสมอภาคทางเพศ การลดความยากจน และการศึกษา
อนึ่ง ดร. เสรีฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งในประเทศไทยและในอาเซียน เคยดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๑ โดยมีผลงานสำคัญ อาทิ การริเริ่มงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และการสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในงานของคณะกรรมาธิการฯ ปัจจุบัน ดร. เสรีฯ ดำรงตำแหน่งสำคัญในภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ รองกรรมการผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ กรรมการและประธานอนุกรรมการกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และที่ปรึกษากรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
การที่ ดร. เสรีฯ ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐภาคีฯ และสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ มีความเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของ ดร. เสรีฯ รวมทั้งยอมรับถึงบทบาทของไทยในเรื่องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมว่า มีการปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับ และสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐสมาชิกอื่น ๆ สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ