นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมการหารือระดับผู้นำระหว่างการประชุมสุดยอดว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 1, 2020 14:24 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีร่วมกล่าวถ้อยแถลงในช่วงการหารือระดับผู้นำ ๑ (Leaders Dialogue I) ระหว่างการประชุมสุดยอดว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ย้ำความสำคัญของปัญหาการลดลงและความเสื่อมโทรมของความหลากหลายทางชีวภาพ และความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐสมาชิกสหประชาชาติเพื่อร่วมกันรับมือความท้าทายที่เกิดขึ้นและในอนาคต โดยไทยได้แบ่งปันประสบการณ์ด้านการจัดการกับปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศ รวมทั้งย้ำความสำคัญของความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพให้อยู่คู่กับโลกต่อไป

เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงผ่านบันทึกวีดิทัศน์ในช่วงการหารือระดับผู้นำ ๑ (Leaders Dialogue I) ระหว่างการประชุมสุดยอดว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Summit on Biodiversity) ภายใต้หัวข้อ ?Addressing biodiversity loss and mainstreaming biodiversity for sustainable development? ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๕ (75th Session of the United Nations General Assembly - UNGA75) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงแห่งหนึ่งของโลก แต่ปัจจุบันกลับถูกคุกคามโดยพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งไทยตระหนักดีถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ใน ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) ไทยมีนโยบายเพื่ออนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยได้กำหนดแผนแม่บทบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนงานตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (๒) ไทยได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนกุญแจสู่ความสำเร็จ รวมทั้งส่งเสริมการบูรณาการของหน่วยงานในทุกระดับ ทั้งนี้ ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ โดยได้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นกับประเด็นดังกล่าวด้วย และ (๓) จากช่วงโควิด-๑๙ นั้น ทำให้ไทยได้เรียนรู้การเว้นระยะจากธรรมชาติเพื่อการฟื้นฟู ส่งผลให้ไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนเพื่อปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อฟื้นฟูผืนป่า ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า รวมถึงการบริหารจัดการกิจกรรมและจำนวนนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ไทยยังกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy - BCG) โดยมุ่งหวังให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ และส่งเสริมให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่กับธรรมชาติที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจังและหวังว่าจะได้ข้อสรุปในการเจรจากรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๐ เพื่อให้ทุกประเทศมีแนวทางร่วมกันในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพต่อไป

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ