รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเพื่อรำลึกและส่งเสริมวันสากลแห่งการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดสิ้นไป ย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องผลักดันการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ โดยในโอกาสที่สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์กำลังจะมีรัฐภาคีครบ ๕๐ ประเทศ ซึ่งจะเป็นผลให้สนธิสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ ไทยจึงเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาฯ โดยเร็ว
เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๓ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงผ่านบันทึกวีดิทัศน์ในการประชุมเพื่อรำลึกและส่งเสริมวันสากลแห่งการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดสิ้นไป (High-Level Plenary Meeting of the Assembly to Commemorate and Promote the International Day for the Total Elimination of Nuclear Weapons) ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๕ ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องผลักดันการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ โดยเห็นว่า โลกปัจจุบันยังคงเผชิญกับความเสี่ยง และอันตรายจากอาวุธนิวเคลียร์ ถึงแม้เหตุการณ์ที่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิจะล่วงเลยมาแล้วกว่า ๗๕ ปี ความมั่นคงระหว่างประเทศไม่ควรมีรากฐานอยู่บนความสามารถในการทำลายซึ่งกันและกัน แต่ควรเกิดขึ้นจากความไว้ใจ และการมีระบอบพหุภาคีที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ ในโอกาสที่สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์กำลังจะมีรัฐภาคีครบ ๕๐ ประเทศ ซึ่งจะเป็นผลให้สนธิสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ ไทยจึงเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ พิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาฯ โดยเร็ว
ทั้งนี้ โดยที่การประชุมทบทวนสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ครั้งที่ ๑๐ ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดในปีนี้ ถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงปี ๒๕๖๔ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ นานาประเทศจึงอาจใช้เวลาในช่วงนี้ ผลักดันการลดอาวุธนิวเคลียร์ ผ่านการส่งเสริมการศึกษาและการหารือในเวทีต่าง ๆ ด้วย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ