นายกรัฐมนตรีร่วมกล่าวถ้อยแถลงระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับผู้นำสตรีอาเซียน เพื่อการเสริมสร้างบทบาทสตรีสำหรับประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนและรวมเป็นหนึ่งเดียวในโลกหลังโควิด โดยเสนอให้อาเซียนให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีดิจิทัล และส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทด้านสาธารณสุข
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๙.๐๐ น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนเรื่องผู้นำสตรี พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ผู้แทน และผู้แทนสตรีจากอาเซียน สมเด็จพระราชินีมักซิมาแห่งเนเธอร์แลนด์ ในฐานะผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนา รองประธานธนาคารโลก และเลขาธิการอาเซียน โดยผู้แทนสตรีไทย คือ คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนสากลและประเทศไทย โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนแนวทางเสริมสร้างบทบาทและศักยภาพของสตรี เช่น การบูรณาการนโยบายและแนวปฏิบัติต่อความเท่าเทียมทางเพศ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตรีโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงการจ้างงานอย่างเสมอภาพ การส่งเสริมให้มีผู้นำสตรีมากขึ้น การพัฒนาทุนมนุษย์และทักษะเพื่อรองรับกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ ๔ เพื่อให้สามารถรับมือกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ รวมถึงโควิด-๑๙ และสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมถึงมาตรการของรัฐบาลไทยในการเยียวยากลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ตามสภาพปัญหาใน ๔ ด้าน ได้แก่ (๑) สวัสดิการและการสงเคราะห์ (๒) การส่งเสริมการจ้างงาน (๓) การส่งเสริมศักยภาพ และ (๔) การเยียวยาทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเสนอแนะให้อาเซียนส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะสตรีที่ประกอบธุรกิจ SMEs ให้สร้างรายได้และพึ่งพาตนเองได้ โดยปรับกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบปกติใหม่ (New Normal) รวมถึงส่งเสริมบทบาทสตรีด้านสาธารณสุข โดยยกตัวอย่างความสำเร็จจากกรณีสตรีไทยในฐานะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า ๑ ล้านคน ที่ทำงานเชิงป้องกันการแพร่ระบาดในชุมชนทั่วประเทศ จนทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ได้ในระดับที่น่าพอใจ
คุณหญิงณัฐิกาฯ ในฐานะผู้แทนสตรีไทย ได้กล่าวเน้นความจำเป็นที่สตรีต้องได้รับทรัพยากรอย่างทั่วถึง ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิตและดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล ได้รับโอกาสทางการศึกษา และเน้นย้ำถึงการเพิ่มความเสมอภาคทางเพศ และการพัฒนาอย่างครอบคลุม ตลอดจนการส่งเสริมให้สตรีมีบทบาทสำคัญในการบรรลุวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ