กระทรวงการต่างประเทศยืนยันเดินหน้าช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกแก่คนไทยที่ต้องการเดินทางกลับบ้านเกิดในสถานการณ์โควิด-๑๙ รวมทั้งออกมาตรการผ่อนปรนลดเงื่อนไขให้คนต่างชาติกลุ่มต่าง ๆ เดินทางเข้าไทยได้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการดำเนินงานกระทรวงการต่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศในสถานการณ์โควิด-๑๙ และการอำนวยความสะดวกคนไทยและชาวต่างชาติในการเดินทางกลับ/เข้าประเทศไทย ให้แก่สื่อมวลชนจากสำนักข่าวในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
๑. ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ดูแลชาวไทยในต่างแดนที่มีอยู่กว่า ๑.๖ ล้านคนทั่วโลกอย่างเต็มกำลังความสามารถ ผ่านการเยี่ยมเยียน การแจกถุงยังชีพ การพูดคุยผ่านระบบทางไกล การประสานกับหน่วยงานเจ้าบ้านในการดูแลคนไทย รวมทั้งคนไทยที่เจ็บป่วยหรือติดเชื้อ รวมทั้งประสานกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านระบบออนไลน์ด้วย
๒. นับตั้งแต่วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๓ จนถึงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ช่วยนำคนไทยกลับประเทศจาก ๑๔๑ ประเทศ/พื้นที่การปกครอง จำนวน ๑๒๘,๑๐๓ คน แบ่งเป็นทางบก ๒๘,๗๐๐ คน ทางอากาศ ๙๗,๓๙๖ คน และทางน้ำ ๒,๐๐๗ คน และยังคงเดินหน้านำคนไทยกลับประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเพิ่มจำนวนคนไทยที่เดินทางกลับประเทศไทยได้มากขึ้นโดยลำดับ จากจำนวนประมาณ ๓,๐๐๐ คน ในเดือนเมษายน ๒๕๖๓ (เดือนแรกที่ปิดน่านฟ้า) จนถึง ๑๐,๐๐๐ คนต่อเดือนในปัจจุบัน และล่าสุด จนถึงสิ้นปี ๒๕๖๓ มีคนไทยแสดงความจำนงเดินทางกลับประเทศไทยอีก ๖,๙๕๑ คน (สถานะ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓)
๓. กระทรวงการต่างประเทศมีความห่วงใยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และทีมประเทศไทยทั่วโลกที่อยู่ด่านหน้าในต่างประเทศ และต้องเผชิญความเสี่ยงจากการติดโควิด-๑๙ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลคนไทย จึงได้กำชับให้ทุกสำนักงานดูแลสวัสดิภาพของบุคลากรอย่างดีที่สุด อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ มีข้าราชการ ลูกจ้างท้องถิ่น รวมถึงครอบครัว ติดเชื้อโควิด-๑๙ แล้วรวม ๔๕ คน จาก ๑๘ สำนักงาน โดยในจำนวนดังกล่าว มีผู้รักษาหายแล้ว ๒๒ ราย เสียชีวิต ๒ ราย เป็นลูกจ้างท้องถิ่น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้เร่งจัดส่งยารักษาโรคและอุปกรณ์ป้องกันโรค อาทิ หน้ากากอนามัย และชุด PPE ให้กับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก โดยล่าสุดได้ดำเนินการส่งหน้ากากอนามัยให้กับทุกสำนักงานไปแล้ว ทั้งสิ้น ๑๒๐,๐๐๐ ชิ้น และจัดส่งชุด PPE จำนวนหนึ่งให้กับสำนักงานต่าง ๆ
๔. กระทรวงการต่างประเทศได้อำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติเข้าไทยได้มากขึ้น ตั้งแต่ ๙ กรกฎาคม - ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ได้ออกหนังสือรับรองเพื่อเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Certificate of Entry- COE) ให้แก่ชาวต่างชาติที่อยู่ในข่ายบุคคลที่เดินทางเข้าราชอาณาจักรได้รวม ๔๐,๔๐๑ ราย จำนวนชาวต่างชาติผู้ได้รับ COE แบ่งตามสัญชาติ เรียงลำดับตามประเทศมากที่สุด ๕ ลำดับ ได้แก่ จีน (๗,๑๑๖ ราย) ญี่ปุ่น (๕,๔๒๗ ราย) สหรัฐฯ (๓,๒๗๙ ราย) สหราชอาณาจักร (๒,๖๔๐ ราย) และเกาหลีใต้ (๒,๑๖๙ ราย) กลุ่มบุคคลที่ได้รับการอนุญาตมากที่สุดคือ (๑) ผู้มีใบอนุญาตทำงาน และคู่สมรสหรือบุตร (๒) คู่ สมรส บิดามารดา หรือบุตรของคนไทย (๓) นักเรียน นักศึกษา บิดามารดาหรือผู้ปกครอง โดยทั้งหมดเข้ารับการกักกันตามระยะเวลาและในสถานที่ที่หน่วยงานภาครัฐกำหนดหรือเห็นชอบ
๕. กระทรวงการต่างประเทศได้พัฒนาระบบลงทะเบียนเพื่อออก COE ผ่านทางเว็บไซต์ coethailand.mfa.go.th โดยนำร่องใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลา ขั้นตอนการดำเนินการ ความเสี่ยงการติดเชื้อทั้งของผู้ร้องขอรับ COE และสามารถตรวจสอบสถานะ รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูลรายชื่อผู้เดินทางและรายละเอียดเที่ยวบินที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับอนุมัติ COE ผ่านระบบ online แล้ว ๑๕,๔๔๐ คน (คนไทย ๙,๘๔๙ คนต่างชาติ ๕,๕๙๑ คน และอยู่ระหว่างการรออนุมัติ ๑,๐๓๖ คน) (สถานะ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓) ทั้งนี้ กำลังมีการจัดทำหน้าเว็บไซต์ COE ลงทะเบียนเป็นภาษาจีน ซึ่งจะใช้งานได้ภายในปีนี้
๖. โดยที่มีการผ่อนคลายเพื่ออนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรมากขึ้น กระทรวงการต่างประเทศได้เตรียมเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวก ได้แก่ (๑) การบริหารจัดการเที่ยวบินในลักษณะกึ่งพาณิชย์ (semi-commercial flight) โดยขณะนี้มีสายการบินเข้าร่วมดำเนินการแล้ว ๓๗ สายการบิน (๒) การอนุญาตให้ตรวจลงตราแก่ชาวต่างชาติในกลุ่มต่าง ๆ และลดเงื่อนไขในการขอรับการตรวจลงตรา อาทิ การตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว รหัส STV และ TR โดยยกเลิกการแสดงหลักฐานสำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารวงเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้ง ปลดล็อกให้ชาวต่างชาติที่ขอวีซ่าประเภท TR สามารถเดินทางเข้ามาได้จากทุกประเทศทั่วโลก จากเดิมที่เข้ามาได้เพียง ๒๓ ประเทศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ และ (๓) กระทรวงฯ ได้ผลักดันให้มีการเพิ่มจำนวน Alternative State Quarantine เพื่อรองรับผู้เดินทางเข้าประเทศที่จะมีจำนวนมากขึ้น โดยในขณะนี้มี ASQ แล้ว ๑๑๓ แห่ง สามารถรองรับผู้เดินทางเข้าได้ถึงประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน
กระทรวงการต่างประเทศ เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในภารกิจอำนวยความสะดวกแก่คนไทยที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย รวมทั้งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการผ่อนปรนให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยต้องคำนึงถึงมาตรการเพื่อความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญควบคู่กันไปด้วย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ