รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงวิสัยทัศน์ต่อ ?เมกะเทรนด์? ที่กำลังส่งผลกระทบสำคัญกับโลกปัจจุบัน ได้แก่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ซึ่งส่งผลทำให้รัฐบาลไทย ต้องดำเนินการเพื่อรับมืออย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างอนาคตที่ครอบคลุม เป็นปึกแผ่นและยั่งยืน ในการกล่าวปาฐกถาในงานเสวนา ?Forbes Thailand Forum 2020: Thailand's Megatrends?
เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ สำหรับงานเสวนา ?Forbes Thailand Forum 2020: Thailand's Megatrends? ที่จัดขึ้นโดยนิตยสาร Forbes Thailand ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ โดยในงานยังมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกล่าวปาฐกถา รวมถึงผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำของไทยที่มาร่วมเป็นวิทยากรด้วย
ในปาฐกถาของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้บรรยายถึงนิยามของ ?เมกะเทรนด์? ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงการขับเคลื่อนของการพัฒนาในภาพใหญ่และยั่งยืน การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ที่จะส่งผลและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และชีวิตประจำวันของผู้คนในหลาย ๆ ด้าน และเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางไม่จำกัดเพียงประเทศหรือสังคมใดสังคมหนึ่ง อาทิ นวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมผู้สูงอายุ การขยายของสังคมเมือง การเติบโตของอภิมหาอำนาจใหม่
ในยุคปัจจุบัน มีเมกะเทรนด์ ๒ ปรากฏการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลก ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ซึ่งความท้าทายสองประการนี้ ทำให้รัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินการและหาแนวทางที่เหมาะสมในการรับมือและเตรียมความพร้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาอย่างสมดุล และความริเริ่มจากภาครัฐบาล เพื่อสร้างอนาคตที่ครอบคลุม เป็นปึกแผ่นและยั่งยืน โดยในส่วนของโควิด-๑๙ นั้น รัฐบาลตระหนักดีว่า แนวทางการรับมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การจัดหาวัคซีนที่มีราคาที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องในประเทศกับองค์กรด้านการวิจัยและผลิตยาและเวชภัณฑ์ในต่างประเทศ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ประเทศไทยจะอยู่ในแถวหน้าของโลกในการได้รับวัคซีนโควิด-๑๙ และปฏิบัติในฐานะสมาชิกประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ
นอกจากนั้น ในส่วนของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ที่เป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโลกทางกายภาพเข้ากับดิจิทัล รวมทั้งมีความพิเศษจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ที่มหาศาล การถือกำเนิดของของเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ นาโนเทคโนโลยี และอื่น ๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวไปด้วยความรวดเร็วว่องไวมากกว่าครั้งก่อน ๆ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลต้องขับเคลื่อนนโยบายด้วยข้อมูล โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีความยืดหยุ่นคล่องตัวขึ้นกว่าที่เคย ภายใต้การทำงานเชิงรุกที่คำนึงถึงอนาคต โดยกระทรวงการต่างประเทศ ก็อยู่ในจุดที่มีบทบาทสามารถนำแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจากทั่วโลกในด้านใหม่ ๆ มาสู่ประเทศไทยได้ รวมทั้งยังทำงานเพื่อยกระดับฐานะทางการค้าการลงทุนของไทย และรักษาตลาดในต่างประเทศให้เปิดกว้างเพื่อรองรับการส่งออก ผ่านความร่วมมือทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เน้นย้ำว่า แม้การปฏิวัติทางเทคโนโลยีในศตวรรษที่ ๒๑ หรือยุคแห่งการสะดุดชะงัก (Age of Disruption) ซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดโดยไม่หยุดยั้ง และเชื่อมต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกเข้าด้วยกันผ่านอุปกรณ์พกพา รวมถึงเทคโนโลยีอันล้ำสมัยต่าง ๆ แต่ก็ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน สังคม เศรษฐกิจ และภาครัฐอย่างมากมายมหาศาล คำว่า ?การอยู่คนเดียวด้วยกัน? เริ่มได้รับความนิยมผ่านการเชื่อมต่อทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจดูเหมือนว่า เทคโนโลยีทำให้ผู้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่กลับต้องแลกมาด้วยการสูญเสียความสามารถในการเชื่อมต่อกับผู้อื่น ความท้าทายเหล่านี้ ทำให้ทุกองคาพยพอยู่ในช่วงเวลาสำคัญที่ต้องเผชิญกับทางเลือกต่าง ๆ ซึ่งในขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสในการสรรค์สร้างและจัดวางระบบระเบียบของโลกใหม่ ด้วยหลักธรรมาภิบาล เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงและสมดุล ในขณะที่กำลังก้าวไปสู่อนาคตที่ไม่คุ้นเคย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ