ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๕.๐๐ น.

ข่าวต่างประเทศ Tuesday December 22, 2020 13:30 —กระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๕.๐๐ น.

ณ ห้องแถลงข่าว กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

๑. ความร่วมมือกับประเทศ?เพื่อนบ้านในการบริหารจัดการแรงงานและกลุ่มเสี่ยงใน?บริบทของโควิด-๑๙

๑.๑ ความร่วมมือระหว่างไทยกับเมียนมาในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙
  • เมื่อวานนี้ (๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๓) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับนายจ่อ ติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศเมียนมา โดยทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญที่จะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้นขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ให้ความสำคัญกับการป้องกันแนวชายแดน สกัดกั้นขบวนการลักลอบนำแรงงานเมียนมาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทั้งสองฝ่ายรับทราบถึงกระบวนการนายหน้านำเข้าแรงงานเมียนมาที่ผิดกฎหมายและจะต้องร่วมมือกันอย่างเคร่งครัดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ สำหรับการรับแรงงานเมียนมาเพิ่มเติม จะต้องปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ที่มีร่วมกัน ทั้งนี้ ฝ่ายเมียนมาแจ้งว่า การระบาดที่เกิดขึ้นในเมียนมาที่ผ่านมา มีต้นเหตุมาจากการแพร่ระบาดในพื้นที่รัฐยะไข่
  • เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ นายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือจากฝ่ายเมียนมาผ่านนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ระหว่างหารือทางไกลทางโทรศัพท์ว่า ขอให้ทั้งสองฝ่ายประสานงานใกล้ชิดกันมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาแรงงานข้ามแดนผิดกฎหมาย ซึ่งนางออง ซาน ซู จี ตอบรับด้วยดี
  • ไทยและเมียนมาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและเข้มข้นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงการต่างประเทศมีการติดต่อประสานงานที่ใกล้ชิดกับทางการเมียนมา มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังช่วยประสานงานความร่วมมือระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ ของไทยกับส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี มีการหารือกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้นำรัฐบาลลงมาจนถึงระดับปฏิบัติ โดยการปฏิบัติของไทยเป็นการปฏิบัติต่อการแพร่ระบาดในเฉพาะพื้นที่ หรือ area-based คือ จังหวัดสมุทรสาคร หรือพื้นที่ที่มีการระบาด โดยให้ความสำคัญกับการระงับการแพร่ระบาด ทั้งในคนไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
  • การประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ชายแดนของสองประเทศอย่างใกล้ชิดถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ตามพื้นที่ชายแดนร่วมที่อาจส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรคฯ เช่น ระหว่าง สตม. ระหว่างกองทัพ และระหว่างคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee?TBC) ของไทยและเมียนมา ซึ่งทั้งสามเป็นกลไกติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด
  • ในกรอบของกระทรวงสาธารณสุข มีการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ติดเชื้อที่เดินทกลับจากไทยเข้าเมียนมาและจากเมียนมาเข้าไทยผ่าน national focal point ภายใต้ International Health Regulation ของ WHO ซึ่งทั้งไทยและเมียนมาเป็นสมาชิกอยู่
  • การให้ความช่วยเหลือด้านแพทย์แก่เมียนมาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนของไทยให้ความร่วมมือสนับสนุนเมียนมาแล้ว รวมกว่า ๔๕ ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมถึงการให้ความช่วยเหลือของนิติบุคคลหรือประชาชนทั่วไปที่ไม่มีการรายงานมูลค่า
  • ที่ผ่านมา ไทยได้อำนวยความสะดวกให้แก่ชาวเมียนมาในไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ (ทั้งทางบกและทางอากาศ) โดยในช่วงที่ไทยต้องประสบกับการแพร่ระบาดของโรคฯ จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ในไทย ทำให้มีแรงงานจำนวนมากต้องตกงานและทยอยเดินทางกลับเมียนมาผ่านจุดผ่านแดนถาวรแม่สอด ๒ จังหวัดตาก จุดผ่านแดนถาวรแม่สาย ๒ จังหวัดเชียงราย และจุดผ่านแดนถาวรระนอง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยได้ร่วมกันบริหารจัดการให้การเดินทางกลับของแรงงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีระบบ และปลอดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ตามแนวชายแดน และยังคงดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน
๑.๒ ภาพรวมสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ในประเทศเพื่อนบ้าน (สถานะ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๓)

เมียนมา - ผู้ติดเชื้อสะสม ๑๑๕,๑๘๗ คน รักษาหาย ๙๔,๑๑๘ คน เสียชีวิต ๒,๔๒๔ คน

สปป.ลาว - ผู้ติดเชื้อสะสม ๔๑ คน รักษาหาย ๒๖ คน เสียชีวิต ไม่มี อยู่ระหว่างการรักษา ๑๕ คน

กัมพูชา - ผู้ติดเชื้อสะสม ๓๖๒ คน รักษาหาย ๓๔๕ คน เสียชีวิต ไม่มี อยู่ระหว่างการรักษา ๑๗ คน

๑.๓ การดำเนินการของฝ่ายไทยในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาด
  • ไทยยังไม่มีนโยบายนำแรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานในไทย โดยคำนึงทั้งไทยและประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าวบางประเทศยังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคฯ อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงาน โดยการประสานงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มพิจารณาแนวทางการนำเข้าแรงงานในอนาคต เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงบ้างแล้ว
  • หน่วยงานความมั่นคงตามแนวชายแดนได้เพิ่มมาตรการสกัดกั้นการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายตลอดแนวชายแดนเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงแรกที่มีการระบาดทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งบังคับใช้มาตรการคัดกรองและลงโทษผู้ลักลอบข้ามแดนที่เข้มงวดมากขึ้น
  • ไทยได้อำนวยความสะดวกการเดินทางกลับไทยของคนไทยในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจากเมียนมาอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยพยายามกระชับความร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาในการอำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยที่อยู่ในเมียนมาและต้องการเดินทางกลับไทย ให้สามารถเดินทางกลับผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย แทนการลักลอบข้ามแดน เพื่อให้สามารถคัดกรองโรคฯ ได้ถี่ถ้วนมากขึ้น
๑.๔ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำ ดังนี้
  • ที่ผ่านมา ไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งเป็นความท้าทายร่วมกันของนานาชาติ และขอให้เชื่อมั่นว่าไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จะเดินหน้ากระชับความร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะต่างตระหนักดีว่าไม่มีประเทศใดปลอดภัยได้ อย่างแท้จริง หากประเทศเพื่อนบ้านยังคงประสบปัญหาการแพร่ระบาดอยู่
  • ประเทศไทยตระหนักถึงบทบาทสำคัญของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในการมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย และที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยก็ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อดูแลแรงงานเหล่านี้ในด้านสาธารณสุขในระหว่างที่พำนักทำงานอยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยขอย้ำว่า เราดูแลแรงงานต่างด้าวเทียบเท่ากับการดูแลแรงงานไทย ทั้งเรื่องค่าจ้าง ชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการดูแลรักษาโควิด-๑๙
  • เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบและเพื่อความปลอดภัยของทุกคนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันสร้างความตระหนักในสังคม โดยเฉพาะหมู่ผู้ประกอบการในการช่วยกันเป็นหูเป็นตา และไม่สนับสนุนการลักลอบนำแรงงานเข้ามาไทยอย่างผิดกฎหมาย
  • กระทรวงการต่างประเทศจะสนับสนุนการดำเนินการของกระทรวงอื่น ๆ และภาคส่วน ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ต่อไป และเป็นหนึ่งในเรื่องที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญสูงสุดในเวลานี้ เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นและฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ ได้โดยเร็ว
  • ต่อคำถามเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานเมียนมาเข้ามาตามโครงการความร่วมมือ มีโควตาหรือไม่ อย่างไร และจะเพียงพอที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานหรือไม่ อธิบดีกรมสารนิเทศ ย้ำว่า กระบวนการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านควรจะต้องดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ที่มีร่วมกัน ซึ่งถือเป็นนโยบายของเราที่ส่งเสริมให้มีการนำเข้า/จ้างแรงงานต่างชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้แรงงานเหล่านั้นผ่านการตรวจโรค และมีระบบประกันสุขภาพและสวัสดิการต่าง ๆ รองรับ
๒. ของขวัญปีใหม่จากกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล

เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ กระทรวงการต่างประเทศขอมอบของขวัญปีใหม่ ๒๕๖๔ แก่ประชาชน ดังนี้

(๑) การให้บริการแปลเอกสารจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษฟรี ระหว่างวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๓ - ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ ณ กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อลดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน เอกสารดังกล่าวประกอบด้วย เอกสารทะเบียนราษฎรและเอกสารทะเบียนบ้านครอบครัว ๑๙ ประเภท อาทิ สูติบัตร ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ consular.go.th สำหรับประชาชนที่สนใจจะต้องนำเอกสารดังกล่าวมายื่นที่กรมการกงสุล และเมื่อดำเนินการแล้วจะส่งคืนให้ทางไปรษณีย์

(๒) การให้บริการเครื่องรับคำร้องขอทำหนังสือเดินทางด้วยตัวเอง (kiosk) ที่สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน (ศูนย์การค้า MBK) ในเวลาทำการ ๑๐.๐๐ ? ๑๘.๐๐ น. ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ