รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมถอดบทเรียนการรับมือกับวิกฤติโควิด-๑๙ ในเวทีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยย้ำเตือนความสำคัญของการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างที่ทั่วโลกกำลังรับมือกับโควิด-๑๙ และเสนอให้นานาชาติดำเนินมาตรการเพื่อฟื้นฟูจากวิกฤติในครั้งนี้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น
เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะมนตรีเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: HRC) สมัยที่ ๔๖ ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา สหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ ในรูปแบบการประชุมทางไกล
ไทยเน้นย้ำความสำคัญของค่านิยมพื้นฐานในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พร้อมเสนอให้การฟื้นฟูจากวิกฤติโควิด-๑๙ อย่างยั่งยืน ต้องดำเนินการด้วยนโยบายที่มีการบูรณาการหลักสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ อาทิ สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม สิทธิเศรษฐกิจ และสิทธิด้านสุขภาพ พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายของรัฐมีผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงแนวทางและมาตรการของไทยซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านการเมืองและสังคม พร้อมแลกเปลี่ยนบทเรียนของไทย ดังนี้
(๑) รัฐต้องสร้างพื้นที่ในการแสดงออกสำหรับทุกฝ่ายและเน้นการมีส่วนร่วมในการพูดคุยพร้อมกับยึดมั่นในหลักนิติธรรม และรัฐต้องปกป้องประชาชนจากการหาประโยชน์จากการเผยแพร่ข่าวปลอมและ hate speech
(๒) รัฐต้องกลับมาเน้นที่คน ความยั่งยืน และความยืดหยุ่นในสังคมมากขึ้น เพื่อการพัฒนาสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์การใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ยั่งยืนกับนานาประเทศ
(๓) รัฐต้องมุ่งมั่นในการพัฒนาสิทธิด้านสุขภาพสำหรับทุกคน โดยไทยประสบความสำเร็จจากการใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) ในการคุ้มครองคนทุกกลุ่มรวมทั้งแรงงานข้ามชาติจากโรคภัยและความลำบากด้านสังคมและเศรษฐกิจ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวทิ้งท้ายว่าไทยยึดมั่นต่อการใช้ระบบพหุภาคีในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยพร้อมสนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ ไทยได้แสดงความพร้อมในการเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๓ ในเดือนพฤศจิกายนศกนี้
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ