ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๔

ข่าวต่างประเทศ Friday March 5, 2021 13:21 —กระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ผ่านการถ่ายทอดสด Facebook Live จากกระทรวงการต่างประเทศ

๑. ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ

เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีดาโตะ เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไนดารุสซาลาม คนที่สอง เป็นประธานการประชุม

การประชุมดังกล่าว เป็นข้อริเริ่มของอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยมีการหารือกันในประเด็นความท้าทายร่วมต่าง ๆ ของภูมิภาค นอกเหนือจากสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะประเด็นความร่วมมือเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และการฟื้นฟูภายหลังโควิด-๑๙ ของประเทศอาเซียน การดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอก และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและประชาคมระหว่างประเทศ

ที่ประชุมย้ำความสำคัญของการฟื้นฟูภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยเฉพาะการเร่งรัดการจัดซื้อวัคซีนโดยใช้เงินจากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และการจัดทำ ASEAN Travel Corridor Arrangement ช่องทางการเดินทางที่ปลอดภัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างกันในอาเซียน

ที่ประชุมรับฟังการบรรยายสรุปจากฝ่ายเมียนมาเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาและแผนงาน (Roadmap) ๕ ข้อ เพื่อนำประเทศกลับสู่สถานการณ์ปกติ โดยที่ประชุมแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในเมียนมา และขอให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น ความยืดหยุ่น หลีกเลี่ยงดำเนินการใด ๆ ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น และให้การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของทุกฝ่าย และแสวงหาทางออกโดยสันติ

ที่ประชุมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหาทางออกที่สันติผ่านการเจรจาที่สร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนต่างยืนยันความพร้อมของอาเซียนเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันในการสนับสนุนเมียนมาให้กลับสู่สถานการณ์ปกติ ด้วยวิธีการเชิงบวก สันติ และสร้างสรรค์

ประเทศสมาชิกบางประเทศได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทางการเมือง และเปิดให้ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติด้านเมียนมามีปฏิสัมพันธ์กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนของไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคซึ่งมีอาเซียนเป็นแกนกลาง และเน้นย้ำ ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของเมียนมา เราต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาในเมียนมาอย่างสันติและยั่งยืน เพื่อความสุขและประโยชน์ของประชาชนเมียนมาและประชาชนไทยในเมียนมา รวมทั้งประชาชนตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ

จากการรายงานของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ว่ายังไม่มีคนไทยได้รับอันตรายจากสถานการณ์ในเมียนมา โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประชาสัมพันธ์แนะนำให้คนไทยในเมียนมาหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม และติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวจากสถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างใกล้ชิด

สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับรายงานว่า ผู้ประกอบการไทยในเมียนมาบางราย ทั้งที่มีกิจการที่กรุงย่างกุ้งและเมืองอื่น ๆ จำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว เนื่องจากลูกจ้างชาวเมียนมาหยุดงานเพื่อไปเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง

สมาคมธุรกิจไทยในเมียนมาได้มีการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของภาคธุรกิจไทยในเมียนมา โดยแนะนำให้ภาคธุรกิจติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้นและยาว โดยควรมีการสำรองสภาพคล่องที่อาจกระทบจากการปิดทำการชั่วคราวของธนาคารต่าง ๆ และควรติดตามมาตรการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่อาจมีขึ้นโดยทางการเมียนมาอย่างใกล้ชิด

เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินจั๊ตที่ผันผวน ทำให้เมียนมาขาดดุลการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมา

Deputy Prime Minister and Minister of Foreign Affairs, Don Pramudwinai, attended the Informal ASEAN Ministerial Meeting (IAMM) on 2 March 2021 via videoconference.

The Meeting was chaired by Dato Erywan Pehin Yusof, Minister of Foreign Affairs II of Brunei Darussalam, as the Chairman of ASEAN. Key objectives of the Meeting are to advance the ASEAN Community-building, work on an ASEAN Community Vision Post-2025, strengthen ASEAN?s collective response to COVID-19, and discuss regional and international issues of common concern, including the situation in Myanmar.

On COVID-19 response, the Meeting welcomed the decision to utilise USD 10.5 million from the COVID-19 ASEAN Response Fund to procure vaccines for ASEAN citizens and the ASEAN Secretariat staffs through COVAX Facility. The Meeting also welcomed the establishment of the Ad-hoc Task Force and urged them to finalise the ASEAN Travel Corridor Arrangement Framework by the 38th ASEAN Summit in November.

The Meeting also discussed the situation in Myanmar and concurred that political stability in Myanmar is essential to maintain peace and security. The Meeting was briefed by Myanmar on the recent development and the Five Point Roadmap to be implemented during the state of emergency.

The Meeting shared concern on the recent development and underscored the need to focus on the safety and well-being of Myanmar people. The Meeting called on all parties to refrain from instigating further violence, exercise utmost restraint and flexibility. The Meeting also called on all parties concerned to seek a peaceful solution, through constructive dialogue and reconciliation in the interest of Myanmar people. The Meeting reiterated ASEAN?s readiness to assist Myanmar in a positive and constructive manner.

Some ASEAN Member States called for the release of political detainees and for the UNSG Special Envoy on Myanmar, to engage the parties concerned.

The Deputy Prime Minister and Minister of Foreign Affairs stressed the importance of peace, stability and security in the region and expressed Thailand?s readiness, as a close neighbour and a fellow ASEAN Member, to assist Myanmar in the pursuance of peaceful resolution for the benefit and interest of Myanmar people. He also stressed that in doing so, trust is of vital importance.

๒. กิจกรรม ?เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา?

เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะสื่อมวลชนไทย ๒๙ คน ร่วมโครงการ ?เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา? ณ จ. พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจัดโดยกรมสารนิเทศ โดยมี รศ.ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร

โครงการครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากโครงการศึกษาดูงาน ?เส้นทางวัฒนธรรมกับประวัติศาสตร์การทูตไทยในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์? ณ จังหวัดลพบุรี

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านการทูตวัฒนธรรมของกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมของชาติและเหตุการณ์ในอดีตที่สำคัญ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน อันจะเป็นพลังสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายกับสื่อมวลชนให้เกิดการขยายผลไปสู่ความร่วมมือและการทำงานร่วมกันในการเผยแพร่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องสู่สาธารณชน โดยเฉพาะงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คณะได้เข้าเยี่ยมชมพร้อมรับฟังการบรรยายความรู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาทิ เรื่องราวของออกญาเสนาภิมุขและชุมชนญี่ปุ่น ชุมชนคริสต์แห่งแรกในอยุธยา บ้านจำลองชาวดัตช์ในอยุธยาและความสำคัญของบริษัท VOC ในด้านการค้า และค่ายฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยล้วนเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์และสะท้อนความสัมพันธ์กับต่างประเทศในสมัยกรุงศรีอยุธยาในหลากหลายมิติ อาทิ การดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูต การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การเรียนรู้สหวิทยาการในด้าน

ต่าง ๆ และความเป็นสังคมนานาชาติที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา

กรมสารนิเทศจะจัดกิจกรรมนี้อีกครั้งในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๔ สำหรับสื่อมวลชนต่างประเทศที่ประจำในประเทศไทย สื่อมวลชนต่างประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมสามารถ ติดต่อกองการทูตวัฒนธรรม กรมสารนิเทศ โทร ๐๒ ๒๐๓ ๕๐๐๐ ต่อ ๒๒๐๖๓ หรือ ๒๒๐๖๖

๓. การดำเนินการกรณีสื่อเดนมาร์กรายงานข่าวพาดพิงประเทศไทยและตลาดจตุจักรว่าอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-๑๙

ตามที่มีสื่อต่างประเทศ รายงานข่าวว่า ?ตลาดนัดสวนจตุจักร? อาจเป็นต้นกำเนิดของเชื้อโควิด-๑๙ ก่อนมีการแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยภายใต้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ชี้แจงข้อมูลกับสาธารณชน และดำเนินมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง และให้ความมั่นใจว่า ไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนว่าเชื้อติดต่อจากค้างคาวไปสู่คน และไม่พบการจำหน่ายค้างคาวในตลาดนัดสวนจตุจักรแต่อย่างใด นอกจากนี้ ได้มีสำรวจและเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาเชื้อในสัตว์ทุกกลุ่มในตลาดนัดสวนจตุจักรเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๓ พบว่าเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นคนละสายพันธุ์กับ เชื้อไวรัสโควิด-๑๙ รวมทั้งไทยมีมาตรการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน รวมถึงโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ต่อมาองค์การอนามัยโลกได้ชี้แจงว่า ได้รวบรวมคณะผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจการสืบหาต้นกำเนิดของไวรัสซึ่งก่อโรคโควิด-๑๙ คณะผู้เชี่ยวชาญนี้ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์อิสระ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้ถูกสื่อยกคำพูดไปอ้างอิงอย่างไม่ถูกต้องโดยกล่าวว่าประเทศไทยเป็นต้นกำเนิดของไวรัส ขณะนี้ไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าต้นกำเนิดของไวรัสอยู่ในประเทศไทย

Thailand is gravely concerned over the serious allegation made in article published by a certain news outlet entitled, ?Animal market in Bangkok may be the place that brought corona to Wuhan? that Chatuchak Market in Bangkok may have been the source of the COVID-19 pandemic, despite the fact that the WHO?s international group of experts has not even made any conclusions on the subject matter, or on its fact-finding mission in China.

WHO has issued a statement entitled ?Misquoted information regarding the origins of the virus? on 24 February 2021, confirming that the WHO expert mentioned in the news piece, Thea Fischer, was misquoted in the article by the news outlet and the article with the misquote has since been corrected.

Thailand has strict surveillance measures to guard against the transmission of communicable diseases from animals to humans.

The COVID-19 virus has not been detected in animals in Thailand. The authorities have investigated and collected samples from animals being traded at Chatuchak Market, none were found with COVID-19, and bats are not being traded there. There is also no scientific evidence that the COVID-19 virus is transmissible from bats to humans

๔. กิจกรรมฉลอง "วันยุติการเลือกปฏิบัติสากล? วันที่ ๑ มีนาคม

เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ร่วมกันฉลองวันยุติการเลือกปฏิบัติสากล โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วม ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Eamonn Murphy ผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

กิจกรรมสำคัญของงาน คือการอภิปรายในหัวข้อ Global Partnership to Eliminate All Forms of HIV-Related Stigma and Discrimination โดยผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วม ได้แก่ UNAIDS กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย คณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์แห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โดยมีการแลกเปลี่ยนความเห็นเสนอ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติในผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

นอกจากนี้ นายณัฐวัฒน์ กฤษณะมระ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้เน้นย้ำผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี ที่ทำให้ปัญหาความยากจนและความไม่เสมอภาคทางเพศรุนแรงขึ้น ซึ่งสามารถจัดการได้ด้วยการอาศัยการมีส่วนร่วมและความเข้าใจของคนในชุมชน การใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุม

ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการหนังสือเทิดพระเกียรติ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ในฐานะทูตสันถวไมตรีของ UNAIDS ในการป้องกัน HIV ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และนิทรรศการรณรงค์ยุติการเลือกปฏิบัติจากหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย

๕. กิจกรรมงานวันสตรีสากล (International Women's Day)

กระทรวงการต่างประเทศจัดงานวันสตรีสากล (International Women's Day) เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔) ภายใต้หัวข้อ ?Women in Leadership: Achieving an Equal Future in a COVID-19 World? โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย (๑) ดร. วิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ซึ่งเป็นผู้สมัครของไทยสำหรับตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission ? ILC) วาระปี ๒๕๖๖ ? ๒๕๗๐ (๒) คุณจิตติรัตน์ ตันตสิรินทร์ ซีอีโอของ ATTA Autohaus โชว์รูมเมอร์เซเดส เบนซ์แบบดิจิทัลแห่งแรกของไทย (๓) คุณวรภัทร แสงแก้ว หัวหน้าหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ด้านการแพทย์และศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลปทุมธานี (๔) นางสาวยศวดี ดิสสระ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และ (๕) Ms. Sarah Knibbs, Deputy Regional Director of UN Women Asia-Pacific หรือรองผู้อำนวยการ

การเสวนาครั้งนี้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในหลากหลายประเด็น รวมถึงแนวทาง การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ และความรุนแรงในเด็กและสตรี

๖. การประชุมเตรียมการเป็นเจ้าภาพ OECD Southeast Asia Regional Forum และการเปิดตัวรายงาน OECD Investment Policy Reviews: Thailand

เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้แก่ (๑) การประชุมเตรียมการเป็นเจ้าภาพ OECD Southeast Asia Regional Forum ไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ ภายใต้หัวข้อ ?การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อการฟื้นฟูหลังโควิด-๑๙? และ (๒)กิจกรรมเปิดตัวรายงาน ?OECD Investment Policy Reviews: Thailand? ซึ่งรายงานประกอบด้วย ผลการประเมินนโยบายและสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนของไทย และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและข้ามผ่านกับดักประเทศรายได้ปานกลางตามเป้าหมายของรัฐบาล ประเด็นการลงทุนในประเทศไทย ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน

ที่ประชุมเตรียมการฯ ได้ย้ำความสำคัญของการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (upskill/reskill) การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีด้านการศึกษา การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ การฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนได้ระดมสมองแนวทางการนำข้อเสนอแนะจากรายงาน OECD นี้ มาพัฒนานโยบายการลงทุนของไทย ใน ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทย ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ผู้สนใจสามารถสืบค้นรายงานได้ที่เว็บไซต์ของ OECD

๗. ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ASEM อย่างไม่เป็นทางการ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอด ASEM ครั้งที่ ๑๓

เมื่อวันที่ ๑-๒ มีนาคม ๒๕๖๔ นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป เป็นฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและผู้ประสานงานกลุ่มอาเซียนภายใต้กรอบการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting หรือ ASEM) เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ASEM อย่างไม่เป็นทางการ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอด ASEM ครั้งที่ ๑๓ ซึ่งกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในช่วงปลายปี ๒๕๖๔ โดยเลื่อนมาจากปี ๒๕๖๓ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-๑๙

ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับเอกสารผลลัพธ์การประชุมสุดยอด ASEM ครั้งที่ ๑๓ ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีเพื่อรับมือกับความท้าทายในโลกปัจจุบัน มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ตลอดจนการส่งเสริมความเชื่อมโยง (Connectivity) ระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งรวมถึงด้านสังคม วัฒนธรรม สตรีและเยาวชน

อธิบดีกรมยุโรปได้กล่าวแสดงความยินดีในวัน ASEM Day ซึ่งตรงกับวันที่ ๑ มีนาคมของทุกปี และย้ำประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญเพื่อฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังโควิด-๑๙ อาทิ การส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจ BCG การส่งเสริมหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) การส่งเสริม SMEs ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ไทยเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งกระบวนการ ASEM โดยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด ASEM ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๙ ที่กรุงเทพฯ และได้มีส่วนร่วมที่สำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้ ASEM มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีสมาชิก ๒๕ ประเทศ และ ๑ องค์กรระหว่างประเทศ จนปัจจุบันมีสมาชิก ๕๑ ประเทศ และ ๒ องค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน

๘. ประชาสัมพันธ์

รายการ Spokesman Live!!!

ในวันศุกร์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. รายการ ?คุยรอบโลกกับโฆษก กต.? Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์คุณแคสเปอร์ ธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน ผู้ก่อตั้งบริษัท SEA Bridge เรื่อง ?Startup ไทยก้าวไกลทั่วอาเซียน? จะพูดคุยถีงการเสริมสร้างระบบนิเวศน์เพื่อการเจริญเติบโตของบริษัท Startup และศักยภาพของ Startup ไทยในภูมิภาค เชิญติดตามรับชมได้ทาง Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ