ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ณ กระทรวงการต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Friday March 26, 2021 13:26 —กระทรวงการต่างประเทศ

ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ณ กระทรวงการต่างประเทศ

๑. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลสำหรับ ?หนังสือ ๓๓๓ ปี ราชทูตสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส? (333 Years Siamese Envoy to France) จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ

หนังสือ ?๓๓๓ ปี ราชทูตสยามเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส? (333 Years Siamese Envoy to France) ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไปในการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๓ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงการศึกษาธิการ โดยนางจุฬามณี ชาติสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป ได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังสระปทุม เพื่อรับพระราชทานประกาศนียบัตรรางวัลดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๔

กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมยุโรป ได้จัดทำหนังสือดังกล่าวเมื่อปี ๒๕๖๒ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พิศภูมิวิถี เป็นบรรณาธิการ เพื่อเฉลิมฉลองวาระการครบรอบ ๓๓๓ ปี ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงส่งคณะราชทูตสยาม นำโดยออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๒๒๙ ณ ห้องท้องพระโรงกระจก (Gal?rie des Glaces) ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการต่างประเทศไทย

กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่หนังสือให้แก่สถาบันการศึกษาของไทยที่มีภาควิชาฝรั่งเศส สถาบันการศึกษาของต่างประเทศ ตลอดจนหน่วยงานที่สนใจ

๒. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติ ครม. เกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ด้านการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ และระหว่างเอกชนกับรัฐ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔

เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership - CPTPP) ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ โดยเปิดรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคเอกชน ตัวแทนภาคประชาสังคม และจะประมวลเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาการเริ่มเจรจาเข้าเป็นสมาชิก CPTPP โดยยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับข้อคิดเห็นต่าง ๆ และคณะรัฐมนตรีจะปกป้องผลประโยชน์ของทุกภาคส่วน

๓. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ ๕ ปีของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC)

เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีสารแสดงความยินดีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม ในโอกาสครบรอบ ๕ ปี ของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong - Lancang Cooperation ? MLC)

สารดังกล่าวระบุว่า นับตั้งแต่การจัดตั้งเมื่อปี ๒๕๕๙ MLC ได้แสดงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยง ศักยภาพการผลิต ความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน การเกษตรและการแก้ไขปัญหาความยากจน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ ซึ่งจีนได้แสดงความจริงใจที่จะแบ่งปันข้อมูลน้ำตลอดทั้งปีกับประเทศสมาชิก MLC อื่น ๆ

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิก MLC ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพื่อฟื้นฟูอนุภูมิภาคฯ หลังโควิด-๑๙ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังภายใต้ความปกติใหม่ (New Normal) เพื่อความเจริญรุ่งเรืองยั่งยืนของอนุภูมิภาค และเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกประเทศ

๔. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development

เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงในการเปิดการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development (APFSD) ครั้งที่ ๘ ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ภายใต้หัวข้อหลัก ?Sustainable and resilient recovery from the coronavirus disease (COVID-19) pandemic in Asia and the Pacific?

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการฟื้นฟูให้กลับมาดีกว่าเดิม (build back better) หลังโควิด-๑๙ เน้นย้ำให้ความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนให้วัคซีนโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะของโลก ซึ่งทุกคนต้องเข้าถึงได้ และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง รวมทั้งนำเสนอสามประเด็นหลักซึ่งทุกประเทศควรให้ความสำคัญและเร่งรัดการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูจากภาวะวิกฤติ ได้แก่ (๑) การสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยใช้แนวทางการพัฒนาที่เป็นของตนเอง ซึ่งไทยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (๒) การลดความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต และ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นในช่วงโควิด-๑๙ เสื่อมโทรมลง

๕. ผลการหารือระหว่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย (สวีเดน เวียดนามและอียิปต์)

๕.๑ การหารือกับกับนายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย วันที่ ๒๒ มี.ค. ๒๕๖๔

ทั้งสองฝ่ายหารือการผลักดันการเจรจาความตกลงเสรีการค้า (FTA) ไทย - อียูให้มีความคืบหน้า และหารือประเด็นด้านการลงทุน เนื่องจากไทยเป็นฐานการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของสวีเดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยล่าสุด บริษัท Swedish Space Corporation (SSC) ได้เข้ามาลงทุนในไทยและจัดตั้งบริษัท SSC Space Thailand ขึ้นใน EEC Digital Park ถือเป็นบริษัทข้ามชาติด้านอวกาศแห่งแรกในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก นอกจากนี้ ไทยและสวีเดนได้ร่วมกันดำเนินโครงการบำบัดน้ำเสียสำหรับเทศบาลนครอ้อมน้อย ใน จ.สมุทรสาคร อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสวีเดนเชี่ยวชาญและสามารถแบ่งปันองค์ความรู้กับไทยได้ ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสวีเดนฯ เชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวสวีเดนจะกลับมาท่องเที่ยวประเทศไทยอีกภายหลังสถานการณ์โควิด-๑๙ คลี่คลาย

๕.๒ การหารือกับนายฟาน จี๊ ทัญ เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย วันที่ ๒๓ มี.ค. ๒๖๕๔

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในฐานะ ?หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง (Strengthened Strategic Partnership)? และสนับสนุนให้มีการหารือและแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงผ่านกรอบทวิภาคีที่มีอยู่ รวมถึงการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat: JCR) ครั้งที่ ๔ นอกจากนั้น ยังได้หารือเกี่ยวกับแผนการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองการครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์ไทย ? เวียดนามในปีนี้

ปลัดกระทรวงฯ แสดงความยินดีที่ภาคเอกชนไทยมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของเวียดนาม พร้อมทั้งขอบคุณรัฐบาลเวียดนามที่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกและให้การสนับสนุนนักลงทุนไทยในเวียดนามอย่างดีตลอดมา ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศที่นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนมากที่สุดในต่างประเทศ

๕.๓ การหารือกับนายมุศเฏาะฟา มะฮ์มูด มุศเฏาะฟา เอลกูนี เอกอัครราชทูตอียิปต์ประจำประเทศไทย วันที่ ๑๗ มี.ค. ๒๕๖๔

ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือให้แน่นแฟ้นในด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรมและการประมง โดยอียิปต์มีความสนใจอย่างมากที่จะเรียนรู้ความเชี่ยวชาญด้านการประมงจากไทย

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ขอบคุณอียิปต์ที่ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน/นักศึกษาไทยมุสลิมไปศึกษาที่อียิปต์อย่างต่อเนื่องมาหลายปี และขอบคุณอียิปต์ที่ช่วยดูแลนักเรียน/นักศึกษาไทยเหล่านั้น ที่มีจำนวนมากกว่า ๓,๗๐๐ คน ซึ่งอียิปต์ถือเป็นประเทศที่นักเรียนไทยมุสลิมนิยมไปศึกษาต่อมากที่สุด

๖. ผลการประชุม ASEAN-New Zealand Forum

เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-นิวซีแลนด์ ครั้งที่ ๒๘ ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ที่ประชุมหารือถึงความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-นิวซีแลนด์ ซึ่งครอบคลุมหลากหลายมิติ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อประเด็นสำคัญในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวนำในประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-๑๙ รวมทั้งได้นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล

นอกจากนี้ ไทยได้เสนอให้นิวซีแลนด์พิจารณาดำเนินโครงการความร่วมมือกับอาเซียนในสาขาที่นิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญ อาทิ การเกษตรยั่งยืน การศึกษา การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการจัดการขยะทะเล

๗. มาตรการล่าสุดในการอำนวยความสะดวกคนไทยและชาวต่างประเทศ ในการเดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงมาตรการผ่อนคลายการกักกันตัว

เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๔ ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ครั้งที่ ๔/๒๕๖๔ โดยมีสาระสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวไทยและชาวต่างชาติ ดังนี้

การลดระยะเวลาการกักกันตัว ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป ให้ลดระยะเวลาการกักตัวในสถานที่กักกันตัวประเภทต่าง ๆ (SQ LQ ASQ ALQ HQ AHQ และ OQ) จาก ๑๔ วัน เหลือ ๑๐ วัน ยกเว้นกรณีเดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์ ให้คงระยะเวลาการกักกันตัวไว้ที่ ๑๔ วันตามเดิม โดยกระทรวงสาธารณสุขจะประกาศรายชื่อประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์เป็นระยะ ซึ่งจะมีการปรับสถานะทุก ๑๕ วัน ทั้งนี้ ผู้เดินทางจะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ โดยวิธี RT-PCR จำนวน ๒ ครั้ง ในช่วงวันที่ ๓ ? ๕ และ ๙ ? ๑๐ ของการกักตัว

มาตรการผ่อนคลายในสถานกักกันตัว ตั้งแต่วันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๖๔ ให้มีการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบริเวณสถานกักกันตัวได้ โดยสามารถออกนอกห้องพักได้ตามเวลาและเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อาทิ การใช้ห้องฟิตเนส การออกกำลังกายกลางแจ้ง การใช้สระว่ายน้ำ การปั่นจักรยานในพื้นที่ปิดและมีการควบคุม และการซื้อสินค้าและอาหารจากภายนอก

๓. เอกสารประกอบสำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทย เริ่มวันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป

สำหรับคนต่างชาติ ให้ยกเลิกเอกสาร fit to fly/fit to travel สำหรับชาวต่างชาติ แต่ยังคงต้องแสดงเอกสารที่รับรองว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด-๑๙ โดยวิธี RT-PCR อายุไม่เกิน ๗๒ ชม. ก่อนการเดินทาง

สำหรับคนไทยสามารถเลือกแสดงเอกสาร fit to fly หรือเอกสารที่รับรองว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด-๑๙ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยวิธี RT-PCR อายุไม่เกิน ๗๒ ชม. ก่อนการเดินทาง

สถิติการอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศไทย

ระหว่างวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๓ ? ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือคนไทยกลับจากต่างประเทศแล้ว รวมจำนวน ๑๘๙,๑๖๕ คน (ทางอากาศ ๑๕๒,๐๕๑ คน/ทางบก ๓๔,๕๘๘ คน/ทางน้ำ ๒,๕๒๖ คน)

ระหว่างวันที่ ๙ ก.ค. ๒๕๖๓ - ๒๔ มี.ค. ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสืออนุญาตการเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Certificate of Entry - COE) ให้แก่ชาวต่างชาติแล้ว ๑๐๐,๖๗๓ คน โดยในกลุ่มนี้ เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าโดยใช้วีซ่าท่องเที่ยวและ Special Tourist VIsa (STV) ประมาณ ๑๖,๐๐๐ คน

๘. กระทรวงการต่างประเทศรับมอบรูปปั้นเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการต่างประเทศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๔ นางจุฬามณี ชาติสุวรรณ อธิบดีกรมยุโรป และนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้รับมอบรูปปั้นเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ จากเคานต์ เจรัลด์ แวน เดอ สตราเทน พอนโธส (Count Gerald van der Straten Ponthoz) ผู้สืบเชื้อสายของเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ และประธานมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยจะนำรูปปั้นไปประดิษฐาน ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำราชอาณาจักรเบลเยียมต่อไป

เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ หรือ คุสตาฟ โรลิน-ยัคมินส์ (Gustave Rolin-Jaequemyns) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเบลเยียมและนักกฎหมายสัญชาติเบลเยียม ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการทั่วไปในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างปี ๒๔๓๕-๒๔๔๔ และได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญ อาทิ การเจรจากับรัฐบาลฝรั่งเศสกรณีพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส การปรับปรุงระบบกฎหมายและการปกครองของสยามให้ทัดเทียมนานาประเทศ และการถวายคำแนะนำแนวทางการศึกษาในต่างประเทศแด่พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕

๙. ประชาสัมพันธ์

๙.๑ รายการ Spokesman Live!!! ในวันศุกร์ที่ ๒๖ มีนาคม เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. ขอเชิญติดตามชม รายการ ?คุยรอบโลกกับโฆษก กต.? Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์คุณเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ เรื่อง ?หุ่นยนต์ดินสอ นวัตกรรมของคนไทยที่ดังไกลไปทั่วโลก? ติดตามรับชมได้ทาง Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?

๙.๒ งานสัมมนาออนไลน์โอกาสในการประกอบธุรกิจในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน

กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ร่วมกับสภาธุรกิจ ไทย-ลาตินอเมริกา จะจัดงานสัมมนาออนไลน์ เรื่อง โอกาสการประกอบธุรกิจในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ในวันพุธที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ระหว่างเวลา ๐๘.๓๐ - ๑๒.๐๐ น. เพื่อให้ข้อมูลโอกาสการค้าการลงทุนในลาตินอเมริกาสำหรับภาคเอกชนไทย โดยจะมีเอกอัครราชทูตจากลาตินอเมริกา ประจำประเทศไทย ๙ ประเทศ ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ชิลี เปรู โคลอมเบีย ปานามา คิวบา และกัวเตมาลา เข้าร่วมบรรยาย (เป็นภาษาอังกฤษ)

ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนร่วมงานสัมมนาได้ทางแบบฟอร์มออนไลน์ https://forms.gle/q6xzjowAtw2fmQvt9 และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ โทร. ๐๒ ๒๐๓ ๕๐๐๐ ต่อ ๑๓๐๒๙ หรือที่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ latinlink2020@gmail.com

๑๐. ช่วงถาม ? ตอบ

๑๐.๑ เหตุกราดยิงที่ซูเปอร์มาเก็ตในเมืองโบลเดอร์ มลรัฐโคโลราโด

เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๓๐ น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ ๐๓.๓๐ น. ตามเวลาประเทศไทย ได้เกิดเหตุกราดยิงที่ซูเปอร์มาเก็ตในเมืองโบลเดอร์ ห่างจากเมืองเดนเวอร์ เมืองหลวง/เมืองหลักของรัฐโคโลราโด ประมาณ ๔๘ ก.ม.

กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ว่า มีผู้เสียชีวิต ๑๐ ราย (รวม จนท. ตำรวจ ๑ นาย) แต่ไม่ปรากฎความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย ทั้งนี้ ยังไม่มีการรายงานเกี่ยวกับสาเหตุของการยิงกราดครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกท่านใช้ความระมัดระวังในการสัญจรและทำกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของท่าน

๑๑. วันสำคัญและกิจกรรมประจำสัปดาห์

๑๑.๑ กิจกรรม Earth Hour กระทรวงการต่างประเทศขอเชิญชวนร่วมปิดไฟและประหยัดการใช้พลังงานเป็นเวลา ๑ ชั่วโมง ในวันเสาร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๔ ในเวลา ๒๐.๓๐ น. ซึ่งเป็นวันจัดกิจกรรม Earth Hour ที่ทั่วโลกจะร่วมมือกันปิดไฟเป็นเวลา ๑ ชั่วโมงใน ๑ วันของทุก ๆ ปี เพื่อกระตุ้นสร้างความตระหนักรู้และใส่ใจต่อปัญหาโลกร้อน สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ Earth Hour ได้ที่ www.earthhour.org

๑๑.๒ แสดงความยินดีที่นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หายป่วยจากโควิด-๑๙ และพ้นการรักษาพยาบาลแล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศขอส่งกำลังใจให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานต่อสู้กับการระบาดของโควิด-๑๙ และชาวสมุทรสาคร ให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ