รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ส่งเสริมความสมดุลระหว่างสรรพสิ่งด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้นวัตกรรมและดิจิทัล

ข่าวต่างประเทศ Monday April 5, 2021 13:20 —กระทรวงการต่างประเทศ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ส่งเสริมความสมดุลระหว่างสรรพสิ่งด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้นวัตกรรมและดิจิทัล และส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในการประชุมระดมสมองระดับสูงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อนข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมในการประชุม High-Level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development (HLBD) ครั้งที่ ๕ มุ่งส่งเสริมความสมดุลระหว่างสรรพสิ่ง ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ใช้นวัตกรรมและดิจิทัล และส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน

เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาง Armida Salsiah Alisjahbana รองเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารเอสแคป เป็นประธานร่วมในการประชุม High-Level Brainstorming Dialogue on Enhancing Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the UN 2030 Agenda for Sustainable Development (HLBD) ครั้งที่ ๕ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อน ?ข้อริเริ่มความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ? หรือ Complementarities Initiative โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ได้แก่ ดาโต๊ะ ลิม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน และผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกอาเซียน หน่วยงานสหประชาชาติ ตลอดจนภาคีภายนอกของอาเซียน อาทิ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพยุโรป นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย มูลนิธิเอเชีย และมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอแนวคิดในการขับเคลื่อน Complementarities Initiative ได้แก่ (๑) การปรับกระบวนทัศน์ในการดำรงชีวิตให้มีความยั่งยืนมากขึ้น และส่งเสริมความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือความสมดุลระหว่างสรรพสิ่ง (Balance of Things) ซึ่งรวมถึงการใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) ในการพัฒนาภูมิภาค (๒) การส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและดิจิทัลในการแก้ไขปัญหาความท้าทายระดับโลกต่าง ๆ และ (๓) การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน และเปลี่ยนการแข่งขันให้เป็นความร่วมมือ เพื่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ที่ประชุมฯ ได้ติดตามความคืบหน้าและหารือแนวทางการขับเคลื่อน Complementarities Initiative ตามสาขาความร่วมมือที่ระบุใน Complementarities Roadmap (ค.ศ. ๒๐๒๐-๒๐๒๕) ได้แก่ การขจัดความยากจน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติ และการเสริมสร้างขีดความสามารถ ที่ประชุมยังได้ย้ำว่า แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและความร่วมมือภายใต้ Complementarities Initiative สามารถสนับสนุนการฟื้นฟูหลังโควิด-๑๙ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของภูมิภาคต่อความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตได้

อนึ่ง การประชุม HLBD จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ โดยมีไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และเอสแคป เป็นเจ้าภาพร่วม ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญของ HLBD ได้แก่ การจัดทำ Complementarities Roadmap และการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีบทบาทในการประสานการดำเนินการตามโร้ดแมปดังกล่าว

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ