ผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.
ณ กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะ
กระทรวงการต่างประเทศขอร่วมแสดงความยินดีกับโปรแพตตี้ ปภังกร ธวัชธนกิจ ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับวงการกีฬาไทยและประเทศไทย หลังคว้าแชมป์กอล์ฟ ANA Inspiration รายการเมเจอร์แรกแห่งปีของกอล์ฟหญิง LPGA Tour ที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา การคว้าแชมป์ครั้งนี้ถือเป็นแชมป์แรกในการเล่นอาชีพแอลพีจีเอทัวร์ และเป็นแชมป์เมเจอร์แรกในชีวิตอีกด้วย โปรแพตตี้ เป็นนักกอล์ฟไทยคนที่ ๒ ที่คว้าแชมป์เมเจอร์ต่อจาก โปรเม เอรียา จุฑานุกาล ที่เคยคว้าแชมป์วีเมนส์ โอเพ่น ปี ๒๐๑๖ และแชมป์ยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น ปี ๒๐๑๘
ประเด็นแถลงข่าว
๑.รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยี่ยมชมการให้บริการประชาชนของกรมการกงสุล
ในวันนี้ (๘ เมษายน) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตรวจเยี่ยมส่วนราชการของกระทรวงการต่างประเทศ ๓ หน่วยงาน ได้แก่ กรมการกงสุล กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ยื่นทำหนังสือเดินทางเล่มอายุ ๑๐ ปีด้วย ซึ่งถือเป็นบริการใหม่ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๔ เพิ่มขึ้นมาจากบริการทำหนังสือเดินทางเล่มอายุ ๕ ปี เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้บรรลุนิติภาวะ (๒๐ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ที่เดินทางต่างประเทศเป็นประจำ และมีวีซ่าระยะยาว โดยมีค่าธรรมเนียม ๑,๕๐๐ บาท ส่วนเล่มอายุ ๕ ปี มีค่าธรรมเนียม ๑,๐๐๐ บาทเท่าเดิม หากต้องการรับด่วนภายในวันที่ยื่นคำร้อง (ยื่นเช้าจะได้รับบ่าย / ยื่นบ่ายจะได้รับเช้าของวันรุ่งขึ้น) จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก ๒,๐๐๐ บาท (นอกจากค่าธรรมเนียมทำหนังสือเดินทาง)
ผ่านมาเกือบ ๑ เดือนที่กรมการกงสุลเปิดให้บริการใหม่ มีคนมาทำหนังสือเดินทางเล่ม ๑๐ ปีแล้ว ๒ หมื่นกว่าคน (สถิติ ณ วันที่ ๕ เมษายน เท่ากับ ๑๙,๓๙๙ คน) ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ ๕๗ ของผู้ที่มาขอทำหนังสือเดินทางทั้งหมด ก็ถือว่าได้รับเสียงตอบรับดีพอสมควร
ปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศมีสำนักงานหนังสือเดินทางเปิดให้บริการทั่วประเทศ รวม ๒๑ แห่ง ได้แก่ ในกรุงเทพฯ ๓ แห่ง และในต่างจังหวัด ๑๘ แห่ง
ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศได้ริเริ่มนำตู้ทำหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Kiosk) สำหรับให้บริการประชาชนในช่วงหลังเวลาทำงานและในวันหยุดราชการ โดยได้นำร่อง ติดตั้งตู้ Kiosk เครื่องแรกที่สำนักงานหนังสือเดินทาง สาขาห้างมาบุญครอง หรือ MBK Centre และจะเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีก ๑๙ เครื่องเพื่อให้บริการประชาชนในวงกว้างขึ้นภายในปีนี้
สำหรับการให้บริการในต่างประเทศ กระทรวงฯ ได้ริเริ่มให้บริการการตรวจลงตราแบบอิเล็คทรอนิกส์ หรือ e-Visa โดยให้บริการเป็นครั้งแรกที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี ๒๕๖๒
โดยปัจจุบัน ได้ขยายการให้บริการ e-Visa ไปยังสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่รวม ๑๕ แห่ง ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต ๔ แห่ง (ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กรุงลอนดอน กรุงปารีส และกรุงวอชิงตัน) และสถานกงสุลใหญ่ ๑๑ แห่ง (ประกอบด้วยสถานกงสุลใหญ่ในจีน ๘ แห่ง ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองเซี่ยเหมิน นครซีอาน เมืองชิงต่าว นครคุนหมิง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว นครเฉิงตู และสถานกงสุลใหญ่ในสหรัฐฯ ๓ แห่ง ได้แก่ นครนิวยอร์ก นครชิคาโก และนครลอสแอนเจลิส)
ภายในครึ่งปีแรกของปี ๒๕๖๔ มีแผนจะขยายการบริการ e-Visa ไปยังสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ในเกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
๒. ผลการประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ ๑๗
เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ครั้งที่ ๑๗ ที่ศรีลังกาเป็นเจ้าภาพ ผ่านระบบการประชุมทางไกล
ที่ประชุมฯ ได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางบก ความร่วมมือด้านการขนส่งทางน้ำ ความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล พลังงาน และกฎระเบียบ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอแนวทางการใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy Model เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจทุกประเทศจากวิกฤติการระบาดของโควิด-๑๙ เนื่องจากประเทศสมาชิก BIMSTEC ล้วนเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม มีศักยภาพในการพัฒนาอย่างสมดุลและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ที่ประชุมฯ ยังได้หารือการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปีนี้ ซึ่งหลังจากนั้น ไทยจะรับหน้าที่ประธาน BIMSTEC ต่อจากศรีลังกา วาระปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕
อนึ่ง BIMSTEC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๐ โดยความริเริ่มของไทย ปัจจุบันมีสมาชิก ๗ ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย เนปาล ภูฏาน ไทย และเมียนมา
๓. ผลการประชุมระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับภาคเอกชนไทย เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS)
เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๔ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ระหว่างกลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขงของกระทรวงการต่างประเทศกับสภาธุรกิจ ACMECS ประเทศไทย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน ๓ สถาบัน (กกร.) ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง จึงมีดำริให้จัดตั้งกลุ่มงานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในกรอบความร่วมมือดังกล่าว สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานสภาธุรกิจ ACMECS ประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงาน กกร. (สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย) และกระทรวงคมนาคม เข้าร่วม
ที่ประชุมหารือแนวทางเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้ ACMECS ให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนไทยในโครงการของ ACMECS ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงโดยรวม และเห็นพ้องร่วมกันว่า ACMECS มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน โดยการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) การอำนวยความสะดวกการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานต่างชาติ การสอดประสานกันทางกฎระเบียบ และการพัฒนาพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (common control area) ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเศรษฐกิจและการพัฒนาร่วมกันของประเทศสมาชิก ACMECS
ACMECS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๖ โดยความริเริ่มของไทย ประกอบด้วยประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย
๔. ผลการระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๑
เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๔ กรมสารนิเทศได้จัดการประชุมระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๑ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของสื่อมวลชนเกี่ยวกับวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี ๒๕๖๕ ของไทย และหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับภาคสื่อมวลชนถึงแนวทางยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นประธานร่วม พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้แทนองค์กรสื่อ ผู้บริหาร และตัวแทนสื่อมวลชนไทยจากทุกแขนง ทั้งสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และสื่อใหม่เข้าร่วม
สื่อมวลชนได้รับทราบประเด็นหลักและสาขาความร่วมมือที่ไทยผลักดัน โดยคำนึงถึงการตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทย ที่จะสอดแทรกอยู่ในทุกสาขาของ APEC ในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
ที่ประชุมได้หารือแนวทางการที่ไทยจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการขับเคลื่อนประเด็นอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังโควิด-๑๙ การเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจไทยกับภาคธุรกิจเขตเศรษฐกิจเอเปคอื่น ๆ และการแสดงศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยในโอกาสเป็นเจ้าภาพเอเปค
ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมสำหรับประชาชนแต่ละกลุ่ม ทั้งภาคเอกชน/ธุรกิจ MSMEs start-ups เยาวชน/คนรุ่นใหม่ ประชาชนรากหญ้า เกษตรกร สตรี และประชาชนทั่วไป เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกลุ่มประชาชนที่หลากหลาย โดยเฉพาะประโยชน์ที่แต่ละกลุ่มจะได้รับจากเอเปค
กรมสารนิเทศกำหนดจัดการประชุม APEC Media Focus Group ขึ้นอีก ๒ ครั้ง โดยจะเชิญผู้แทนสื่อมวลชน กลุ่มเป้าหมายของการประชาสัมพันธ์ รวมถึงภาคประชาสังคมเข้าร่วมให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วย
๕. มาตรการการลดระยะเวลาการกักกันตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ (ขั้นตอน COE และรายนามผู้ผลิตวัคซีน+ วัคซีนที่ได้รับการรับรอง ปรับปรุงครั้งที่ ๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๖๔)
กระทรวงการต่างประเทศ ได้ปรับปรุงระบบลงทะเบียนกลาง สำหรับการขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย หรือ Certificate of Entry (COE) ทางเว็บไซต์ coethailand.mfa.go.th มีผลตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ สำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทย เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการลดวันกักกันตัวตามคำสั่ง ศบค. ครั้งที่ ๔/๒๕๖๔ โดยเพิ่มช่องกรอกข้อมูลและอัพโหลดเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (vaccine certificate) โดยระบบจะแจ้งระยะเวลาการกักตัวของผู้เดินทางเพื่อให้จองสถานที่กักกันตัว ASQ/ALQ ได้ถูกต้อง และจะระบุรายละเอียดการรับการฉีดวัคซีนและระยะเวลาในการกักตัว
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตผู้เดินทางเข้าประเทศไทยที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด (ปรับปรุงครั้งที่ ๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๖๔) โดยปรับเพิ่มวัคซีน Sinopharm ของบริษัท The Beijing Institute of Biological Products เพิ่มอีก ๑ รายการ
ดังนั้น ปัจจุบันจึงมีวัคซีน ๘ ชนิด ที่ผู้ได้รับวัคซีนเหล่านั้นตามจำนวนโดสที่กำหนด จะสามารถเข้ารับการกักกันตัวอย่างน้อย ๗ วัน เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย โดยต้องได้รับวัคซีนครบแล้ว อย่างน้อย ๑๔ วัน ก่อนเดินทาง หากไม่ได้รับวัคซีนต้องกักตัว ๑๐ วัน และหากมาจากประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ ต้องกักตัว ๑๔ วัน ทุกกรณี โดยรายชื่อประเทศที่มีเชื้อกลายพันธ์ สามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค
วัคซีน ๘ ชนิดดังกล่าว (เพิ่มจาก ๗ ชนิด) เป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายไทย หรือ ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก หรือ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ได้แก่
(๑) วัคซีน CoronaVac ของบริษัท Sinovac
(๒) วัคซีน AZD 1222 ของบริษัท AstraZenaca/Oxford
(๓) วัคซีน AZD 1222 ของบริษัท SK Bioscience (Korea) /AstraZeneca/Oxford
(๔) วัคซีน Ad26.COV2.S ของบริษัท Johnson & Johnson
(๕) วัคซีนโทซินาเมแรน (Tozinameran/ ของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค)
(๖) วัคซีน Covishield ของ Serum Institute of India
(๗) วัคซีน mRNA-1273 ของบริษัท Moderna และวัคซีนที่ได้รับการรับรองล่าสุดคือ
(๘) วัคซีน Sinopharm ของบริษัท The Beijing Institute of Biological Products
๖. การให้ความช่วยเหลือคนไทยในเมียนมา และกรณีผู้หนีภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
๖.๑ สถานการณ์ในเมียนมาและการให้ความช่วยเหลือคนไทย
กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้งว่า ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังคงมีการชุมนุมในหลายเมืองทั่วเมียนมา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งมีคนไทยอยู่มากที่สุด มีแนวโน้มลดน้อยลง
จากฐานข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง มีคนไทยในกรุงย่างกุ้ง จำนวน ๔๔๗ คน อยู่ในต่างจังหวัด/รัฐ จำนวน ๒๗๒ คน รวมคนไทยในเมียนมา ๗๑๙ คน
สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ทำการนัดหมายกับผู้แทนชุมชุนไทย และคนไทยในเขตต่าง ๆ ของกรุงย่างกุ้ง พร้อมทั้งลงพื้นที่พบปะและสอบถามถึงความเป็นอยู่ ความปลอดภัย เพื่อประเมินสถานการณ์ในพื้นที่อย่างตรงตามความเป็นจริงอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือคนไทยหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินใด ๆ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประเมินสถานการณ์ทุกวัน และเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือและอพยพคนไทยในกรณีที่จำเป็น โดยได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ตลอดเวลา แต่ในขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นใด ๆ ในการอพยพคนไทย
๖.๒ การให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
ในขณะนี้ ยังคงมีชาวบ้านในฝั่งรัฐกะเหรี่ยงที่วิตกกังวลกับสถานการณ์ความไม่สงบและได้หนีภัยมาบริเวณชายแดน รวมถึงบางส่วนเดินทางเข้ามาในฝั่งไทย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นปกติในบริเวณชายแดนเหมือนที่ผ่าน ๆ มา คือมีการข้ามแดนเข้า-ออกอยู่เสมอ เมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ
ในเรื่องของจำนวนของผู้หนีภัยฯ และการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ต้องติดตามจากหน่วยงานในพื้นที่ เพราะสถานการณ์มีพลวัตสูง แต่ละวันมีผู้หลบหนีเข้ามาเพิ่มเติมตามจุดต่าง ๆ โดยมีการเข้ามาในช่วงเย็น-ค่ำ และเดินทางกลับไปในช่วงเวลากลางวัน อย่างไรก็ดี ผู้หนีภัยฯ ที่ยังไม่ประสงค์จะเดินทางกลับ ก็ยังได้รับการอนุญาตให้พักอยู่ในเขตไทย และขอยืนยันว่ารัฐบาลไทยไม่มีนโยบาย ?ผลักดันกลับ? ผู้ที่หนีภัยเข้ามา โดยในขณะนี้เหลือผู้หนีภัยที่ยังอยู่ในฝั่งไทย จำนวน ๑๕๑ คน (สถานะ ๗ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๗.๐๐ น.)
กระทรวงการต่างประเทศ ขอขอบคุณกระทรวงกลาโหมที่สนับสนุนข้อมูลข้างต้น รวมทั้งขอขอบคุณทางกองกำลังจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเจ้าหน้าที่ สำหรับการให้ความร่วมมือและการดูแลผู้หนีภัยฯ
๗. รัฐบาลไทยจัดส่งอุปกรณ์ตรวจโควิด-๑๙ ให้โรงพยาบาลปอยเปต กัมพูชา
เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๔ ผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศพร้อมด้วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบันเตียเมียนเจยได้เข้าร่วมการจัดส่งอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการ RT-PCR และชุดตรวจ SARS-CoV-2 ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยให้แก่ รพ. ปอยเปต กัมพูชา ที่จุดผ่อนปรนบ้านหนองปรือ ต.ผ่านศึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว
การจัดส่งอุปกรณ์ในครั้งนี้อยู่ภายใต้แผนงานระยะยาวของโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชาเพื่อรับมือโรคโควิด-๑๙ ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ดำเนินงานร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานสาธารณสุข จ.สระแก้ว เพื่อพัฒนาศักยภาพการตรวจเชื้อของห้องปฏิบัติการโรคโควิด-๑๙ และโรคติดเชื้ออื่น ๆ ในอนาคต บนหลักการว่า การแก้ไขปัญหาโรคระบาดที่ดีที่สุดคือการร่วมแก้ไขปัญหาด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ นอกจากกัมพูชาแล้ว ฝ่ายไทยยังได้ให้การสนับสนุนในลักษณะเดียวกันกับ รพ. เมียวดี เมียนมา และกำลังจะจะส่งอุปกรณ์ไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ชายแดนไทย - สปป.ลาว อีกด้วย
๘. ประชาสัมพันธ์
๘.๑ รายการ Spokesman Live!!! ในวันพรุ่งนี้ (๙ เมษายน ๒๕๖๔) เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ขอเชิญติดตาม รายการ ?คุยรอบโลกกับโฆษก กต.? - Spokesman Live!!! ซึ่งจะสัมภาษณ์ นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หัวข้อ ?โครงการนำท้องถิ่นไทยสู่สากล Local to Global: Local to MFA and Team Thailand? เป็นการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการส่งเสริมศักยภาพของท้องถิ่นไปสู่สากล สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?
๘.๒ รายการทางวิทยุ
กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) จัดรายการทางวิทยุเป็นประจำทุกสัปดาห์เกี่ยวกับภารกิจด้านการต่างประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ ได้แก่ ๑. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? FM ๙๒.๕ (ภาษาไทย) ทุกเช้าวันพฤหัสบดี เวลา ๐๘.๓๐ ? ๐๘.๔๕ น. รับฟังสด/ย้อนหลังได้ทาง Facebook: ?บันทึกสถานการณ์?๒. รายการ "MFA Update" FM ๘๘.๐ (ภาษาอังกฤษ) ทุกเช้าวันศุกร์ เวลา ๐๘.๐๕ ? ๐๘.๒๐ น. รับฟังสด/ย้อนหลังได้ทาง Facebook ?RadioThailand World Service?
เมื่อเช้าวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๔ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์รายการ ?บันทึกสถานการณ์? FM ๙๒.๕ เรื่อง ?บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศกับสถานการณ์ในเมียนมา?
ในวันศุกร์ที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นการสัมภาษณ์รองอธิบดีสุพรรณวษา โชติกญาณถัง รองอธิบดี
กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เรื่อง ?Thailand?s First Female Candidate to the International Law Commission? ซึ่งนางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นผู้สมัครหญิงคนแรกของไทยที่ลงสมัครในตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ
ขอประชาสัมพันธ์รายการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจของวิทยุสราญรมย์ ทาง AM ๑๕๗๕ หรือทาง Facebook ?Saranrom Radio? ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๘.๐๐ น. มีรายการ ?หน้าต่างโลกกว้าง? โดยวันนี้ นำเสนอตอน ?ถกขแมร แลไทย? เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมของประเทศกัมพูชา
๙. ช่วงถาม ? ตอบ
คำถาม ตามข้อเสนอของมาเลเซียและบรูไนที่เสนอให้มีการจัดการประชุมระดับผู้นำอาเซียนในประเด็นเมียนมา การประชุมดังกล่าวจะมีการจัดขึ้นเมื่อใด ที่ใด และรูปแบบใด
คำตอบ ทราบว่า จะประชุมหารือกันในหลายประเด็น รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ ตลอดจนเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนกำลังประสานงานกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องวันเวลา สถานที่ รวมถึงรูปแบบของการประชุม โดยน่าจะจัดภายในเดือนเมษายนนี้ และหากมีความคืบหน้า จะแจ้งให้ทราบในโอกาสแรก
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ