รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมอบนโยบายแก่เอกอัครราชทูตและอุปทูตภูมิภาคแอฟริกา ในการประชุมเอกอัครราชทูตภูมิภาคแอฟริกา ประจำปี ๒๕๖๔ โดยเน้นย้ำความสำคัญของการผลักดันความสัมพันธ์กับภูมิภาคแอฟริกาในด้านต่าง ๆ ประยุกต์ใช้แนวทาง BCG Economy และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นในการส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ ๗ ? ๘ เมษายน ๒๕๖๔ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกาได้จัดการประชุมเอกอัครราชทูตภูมิภาคแอฟริกา ประจำปี ๒๕๖๔ โดยนายดุสิต เมนะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมฯ และมีเอกอัครราชทูตและอุปทูตประจำประเทศในภูมิภาคแอฟริกา และเขตอาณา ๙ ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย เคนยา เซเนกัล โมซัมบิก โมร็อกโก อียิปต์ รวมทั้ง ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งมีอาณาเขตดูแลประเทศในทวีปแอฟริกา? เข้าร่วม
เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวและมอบนโยบายแก่เอกอัครราชทูตและอุปทูตภูมิภาคแอฟริกา โดยเน้นย้ำความสำคัญของการผลักดันความสัมพันธ์กับภูมิภาคแอฟริกาในด้านต่าง ๆ โดยนำแนวทาง Bio ? Circular - Green (BCG) Economy และปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของทุกภาคส่วนและกำชับให้เอกอัครราชทูตและอุปทูตภูมิภาคแอฟริกาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นในการส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศ
การประชุมเอกอัครราชทูตภูมิภาคแอฟริกาประจำปี ๒๕๖๔ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกอัครราชทูตประจำประเทศในภูมิภาคแอฟริกาได้มีโอกาสหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกันในประเด็นต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางเพื่อรับมือกับความท้าทายข้อจำกัดที่กำลังเผชิญอยู่และอาจเกิดขึ้นในอนาคตในภูมิภาคและกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินนโยบายและกลยุทธ์ในการดำเนินความสัมพันธ์แบบยั่งยืนกับประเทศยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้
ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแผนการดำเนินความสัมพันธ์เชิงรุกกับประเทศในแอฟริกาภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) คลี่คลายลงด้วย โดยผลลัพธ์จากการประชุมดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้จะร่วมกันส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยในแอฟริการะหว่างปี ๒๕๖๔ ? ๒๕๖๕ ดังนี้
๑) การผลักดันผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของไทยในแอฟริกา เน้นสร้างความร่วมมือกับประเทศที่เป็นคู่ค้าและนักลงทุน สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยและผู้ประกอบการไทย แสวงหาลู่ทางเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการไทยผ่านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ตลาดโลก และเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ พร้อมทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
๒) การใช้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเป็นกลไกผลักดันผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับแอฟริกา เพื่อส่งเสริมสถานะและบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในแอฟริกา รวมถึงแผนการจัดทำโครงการส่งเสริมความร่วมมือโดยใช้แนวทาง Bio ? Circular - Green (BCG) Economy และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
๓) เสริมสร้างความตระหนักรู้ระหว่างไทยกับแอฟริกาให้มากขึ้น ผ่านการทูตสาธารณะ (Public Diplomacy) และการทูตด้านการศึกษา (Education Diplomacy) เป็นกลไกในการสร้างความรู้จัก เสริมสร้างภาพลักษณ์ และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ