สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.
ผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook กระทรวงการต่างประเทศ
จากสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ บริเวณฉนวนกาซา จากการโจมตีโดยกลุ่มฮามัสในเมืองเอชโคล (Eshkol) ของอิสราเอล เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ส่งผลให้แรงงานไทยในอิสราเอล ซึ่งพักอาศัยในนิคมเกษตรกรรมโมซาฟ โอฮัด เสียชีวิตจำนวน ๒ ราย และได้รับบาดเจ็บจำนวน ๘ ราย ถือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยมากที่สุด นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ในนามของกระทรวงการต่างประเทศ ผมขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์และความสูญเสียที่เกิดขึ้น กับคนไทยจากเหตุการณ์ดังกล่าว และขอเป็นกำลังใจให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสีย และต่อคนไทยและแรงงานไทยในการฟันฝ่าอุปสรรคในครั้งนี้
๑. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์และเวียดนาม
๑.๑ การหารือกับนางนาไนอา มาฮูทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์เข้ารับหน้าที่
ทั้งสองฝ่ายได้หารือกระชับความร่วมมือทวิภาคี โดยเฉพาะด้านการศึกษา แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และหารือกรอบความร่วมมือในภูมิภาค โดยไทยสนับสนุนความตั้งใจของนิวซีแลนด์ที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา ? แม่โขง (ACMECS) ขณะที่นิวซีแลนด์สนับสนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่ไทยจะผลักดันในระหว่างการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕
นิวซีแลนด์ชื่นชมและสนับสนุนบทบาทของไทยและอาเซียน โดยเฉพาะฉันทามติ ๕ ข้อ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในเมียนมาอย่างสันติ
๑.๒ การหารือกับนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามเข้ารับหน้าที่
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือในฐานะ ?หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง? ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และได้หารือเกี่ยวกับแผนการจัดกิจกรรมเพื่อฉลองการครบรอบ ๔๕ ปี ความสัมพันธ์ไทย ? เวียดนามในปี ๒๕๖๔ นี้
ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ขยายการค้าการลงทุน และผลักดันให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น โดยไทยมีการลงทุนในเวียดนามมูลค่าสูงสุดเป็นลำดับที่ ๙ ของการลงทุนไทยในต่างประเทศ
ฝ่ายไทยขอบคุณฝ่ายเวียดนามที่อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนไทยด้วยดี ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนไทยมีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม และได้ชื่นชมบทบาทของเวียดนามในการเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๔ โดยฝ่ายเวียดนามได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี ๒๕๖๕
๒. ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม OECD Southeast Asia Regional Forum 2021
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) เป็นเจ้าภาพจัดงาน OECD Southeast Asia Regional Forum 2021 ภายใต้หัวข้อ การพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและการแข่งขันอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Human Capital Development in Southeast Asia: Fostering Competitiveness to Build Back Better) อันเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและพัฒนาภูมิภาค
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดการประชุม โดยแสดงมุมมองที่เน้นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อฟื้นฟูหลังโควิด-๑๙ อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ดังนี้ (๑) การพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อรองรับเศรษฐกิจสีเขียว (๒) การเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลของ SMEs ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (๓) การพัฒนาทักษะกลุ่มเปราะบางอย่างครอบคลุมเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และ (๔) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำและโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ไทยจะนำผลของการประชุมดังกล่าวไปผลักดันเพื่อขับเคลื่อนให้มีผลเป็นรูปธรรม อาทิ การจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการฝึกอบรมทักษะสีเขียวในหลักสูตรอาชีวศึกษา และพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับทักษะและการจ้างงานสีเขียว
๓. ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน ครั้งที่ ๒๗ ผ่านระบบทางไกล โดยมีนายอู๋ เจียงฮ่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเข้าร่วม
ที่ประชุมฯ ได้หารือถึงพัฒนาการความร่วมมืออาเซียน-จีนในมิติต่าง ๆ อาทิ การรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ความมั่นคง การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน รวมทั้ง ได้หารือถึงการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปีของความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ในปีนี้ และเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ ๖ ในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ ที่นครฉงชิ่ง ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะไปเข้าร่วม ตลอดจนการจัดกิจกรรมและโครงการภายใต้ปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีนในปี ๒๕๖๔ ? ๒๕๖๕
ไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ผลักดันให้อาเซียนและจีนขยายความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการขจัดความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร การจัดการภัยพิบัติ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเชิญชวนให้จีนดำเนินความร่วมมือกับอาเซียนผ่านศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน ในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ ที่จังหวัดเชียงราย
ไทยได้เสนอแนวทางเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยสนับสนุนให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP มีผลบังคับใช้โดยเร็ว รวมทั้งย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านดิจิทัล ครอบคลุมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเสริมสร้างทักษะและขีดความสามารถด้านดิจิทัลของผู้ประกอบการรายย่อย และเชิญชวนให้อาเซียนและจีนแสวงหาความร่วมมือตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG
และในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๙.๐๐ น. (เวลาไทย) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นประธานฝ่ายไทย ในการประชุมยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ ๗ (Thai-U.S. Strategic Dialogue) ผ่านระบบการประชุมทางไกลอีกด้วย
๔. การดูแลช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล
ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในอิสราเอลและปาเลสไตน์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ประกาศเตือนคนไทยที่พำนักในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวัง แจ้งแนวการปฏิบัติตนเมื่อได้ยินเสียงไซเรนแจ้งเตือนภัย และประสานงานกับหัวหน้าแรงงานไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอิสราเอล เพื่อติดตามผลกระทบต่อไปคนไทยอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
ปัจจุบัน มีแรงงานไทยในอิสราเอลประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน โดยส่วนใหญ่ทำงานในชุมชนและนิคมการเกษตร และมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ใกล้กับฉนวนกาซาประมาณ ๔,๐๐๐ คน ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจร จัดเที่ยวบินกลับประเทศไทย รวมถึงจัดกิจกรรมทางศาสนา และเยี่ยมพบปะเพื่อสร้างกำลังใจให้คนไทยในอิสราเอลมาโดยตลอด
ผลกระทบต่อคนไทยและการดูแลของสถานเอกอัครราชทูตฯ
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนแล้วว่า มีพี่น้องคนไทยที่ไปทำงานในอิสราเอลเสียชีวิตจำนวน ๒ ราย และได้รับบาดเจ็บจำนวน ๘ ราย จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ประกอบด้วยผู้มีอาการสาหัส ๒ ราย และผู้บาดเจ็บเล็กน้อย ๖ ราย ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล Soroka เมือง Beer Sheva โดยผู้ได้รับบาดเจ็บ ๗ รายได้รับการอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอีก ๑ รายที่ยังอยู่ระหว่างการรักษา
ขณะนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ อยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้าเรื่องการส่งศพผู้เสียชีวิตทั้ง ๒ รายกลับประเทศไทย โดยได้ประสานกับบริษัทที่รับผิดชอบดูแลการส่งศพอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทจะดำเนินการส่งศพกลับประเทศไทยในโอกาสแรกหลังจากสถาบันนิติเวชของอิสราเอลอนุมัติให้นำศพออกจากสถาบันได้ ทั้งนี้ เนื่องจากแรงงานทั้งสองรายมีประกันสุขภาพที่ทำกับอิสราเอล จึงจะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ คาดว่าจะส่งศพกลับประเทศไทยได้ในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔
นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสาน ติดตามสิทธิประโยชน์ รวมทั้งเงินชดเชยที่ผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บพึงได้รับจากสถาบันประกันแห่งชาติ (National Insurance Institute) ของอิสราเอล และยังจะได้รับเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศโดยกระทรวงแรงงานต่อไป
เอกอัครราชทูตฯ ได้โทรศัพท์หาผู้บาดเจ็บและสามีของผู้บาดเจ็บ เพื่ออวยพรให้ฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว พร้อมขอให้มีขวัญและกำลังใจเพื่อผ่านอุปสรรคในครั้งนี้
ขณะนี้ ผู้บาดเจ็บได้ย้ายไปพักอาศัย ณ แคมป์แรงงานไทยใกล้เคียงกับบริเวณเดิมที่ถูกโจมตี โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ย้ำกับนายจ้างให้จัดหาที่พักที่ปลอดภัย เหมาะสมและอยู่ใกล้กับ Shelter ให้แรงงานกลุ่มนี้ด้วย
นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังได้ติดต่อผู้ประสานงานนักศึกษาไทยที่เข้าร่วมโครงการศึกษาด้านพืชศาสตร์ในเขตอราวา ซึ่งปีนี้ มีนักศึกษาไทยเข้าร่วมโครงการนี้จำนวน ๘๐ คน ทราบว่านักศึกษาไทยทุกคนปลอดภัยดี
ปฏิกิริยาของฝ่ายอิสราเอล
เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล และพลโท Gabi Ashkenazi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ต่อกรณีการเสียชีวิตของแรงงานไทยทั้ง ๒ ราย ก่อนจะเริ่มการบรรยายสรุปสถานการณ์สำหรับนักการทูตต่างประเทศในอิสราเอล โดยเอกอัครราชทูตฯ ได้ใช้โอกาสนี้ ขอต่อนายกรัฐมนตรีอิสราเอลโดยตรง โดยขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้ทางการอิสราเอลช่วยดูแลความปลอดภัยของแรงงานไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีอิสราเอลได้มอบหมายทุกหน่วยงานในพื้นที่ ให้ดูแลพลเมืองทั้งหมด รวมถึงแรงงานไทย
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ รัฐบาลอิสราเอลได้ตีพิมพ์ประกาศข้อความแสดงความเสียใจในนามนายกรัฐมนตรีอิสราเอล รัฐบาลอิสราเอล และประชาชนอิสราเอล ต่อการเสียชีวิตของแรงงานไทยทั้ง ๒ ราย ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ๒ ฉบับ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในอิสราเอล
ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากแรงงานไทยในพื้นที่ ว่าทางอิสราเอลได้จัดส่งบังเกอร์เคลื่อนที่ไปยังนิคมเกษตรต่าง ๆ ที่แรงงานไทยทำงานอยู่เพิ่มเติมด้วย
คำแนะนำสำหรับคนไทย
กระทรวงการต่างประเทศขอให้พี่น้องชาวไทยในอิสราเอลทุกท่านติดตามข้อมูลข่าวสาร ปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และเมื่อมีเสียงไซเรนเตือนภัย ขอให้ทุกท่านรีบเข้าหลบภัยในสถานที่หลบภัยโดยเร็ว
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้เตรียมแผนอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลไว้แล้ว หากมีความจำเป็น โดยในชั้นนี้ มีคนไทย ๕ คนที่แสดงความประสงค์ที่จะเดินทางกลับไทย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ประสานจัดเที่ยวบินเพื่อนำคนไทยกลับประเทศในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และหากแรงงานไทยท่านใด ประสงค์จะขอย้ายออกจากพื้นที่อันตราย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ยินดีที่จะช่วยประสานให้ตามที่ร้องขอด้วยเช่นกัน ซึ่งล่าสุด สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานย้ายแรงงานไทย ๙ คน จากนิคมอุตสาหกรรม Nativ HaAsara ออกไปยังพื้นที่ปลอดภัย ห่างจากพรมแดนประมาณ ๓ กิโลเมตร
ในกรณีฉุกเฉินและต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ที่ ๐๕๔-๖๓๖-๘๑๕๐ หรือ inbox ข้อความมาที่เฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตฯ "Royal Thai Embassy, Tel Aviv" หรือ "ทุกเรื่องเมืองยิว?
๕. สถานการณ์การลับลอบเข้าเมือง/เคลื่อนย้ายแรงงานโดยผิดกฏหมาย และการอำนวยความสะดวกการเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านด่านทางบกและทางน้ำ
เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ได้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองและการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยผิดกฎหมายเข้ามายังราชอาณาจักรผ่านชายแดนทางบกติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจมีการนำเชื้อสายพันธุ์อื่นเข้ามายังไทยด้วย
โดยตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ? ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีการจับกุมชาวไทยและชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ถึง ๑๗,๖๒๗ คน แบ่งเป็นชาวไทย ๑,๘๕๓ คน ชาวเมียนมา ๗,๓๖๕ คน ชาวกัมพูชา ๕,๔๖๔ คน ชาว สปป.ลาว ๑,๐๘๙ คน และชาวมาเลเซีย ๓๓ คน
กระทรวงการต่างประเทศจึงขอประชาสัมพันธ์ย้ำว่า ก่อนการเดินทางเข้าประเทศไทย คนไทยจะต้องลงทะเบียนขอรับหนังสือรับรองสำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry-COE) จากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ก่อนทุกครั้ง โดยสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ mfa.go.th โดยจุดผ่านแดนถาวรทางบกจะเปิดสำหรับการเดินทางเข้าประเทศสำหรับชาวไทยจาก ๔ ประเทศเพื่อนบ้าน ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์
สำหรับการขอเดินทางเข้าไทยผ่านด่านทางน้ำหรือเข้าประเทศทางเรือ แบ่งเป็น
กรณีลูกเรือที่เป็นคนไทย จะต้องลงทะเบียนขอ COE ก่อนเดินทางเข้าไทย
กรณีลูกเรือที่ไม่ใช่คนไทย ไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ ยกเว้นเพียงบางกรณีที่เกี่ยวข้องกับมนุษยธรรมและเศรษฐกิจ ได้แก่
ผู้ควบคุมเรือและลูกเรือของเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช) เป็นคนที่เข้ามากับเรือยอร์ช เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ กรณีนี้ต้องขอตรวจลงตรา (visa) และ COE ผ่านกระทรวงการต่างประเทศก่อน และจะต้องผ่านกระบวนการกักตัวตรวจหาเชื้อระหว่างลอยลำกลางทะเล ๑๔ วัน
กรณีมนุษยธรรม ที่ลูกเรือสินค้าที่ปฏิบัติหน้าที่บนเรือมานานเกิน ๑๒ เดือนขอใช้สิทธิผ่านประเทศไทยเพื่อเดินทางกลับประเทศโดยทันที
ส่วนเรือสินค้าเข้าออกประเทศไทย จะได้รับอนุญาตให้เข้ามาจอดได้ตามระยะเวลาที่กำหนดและรีบกลับออกไปโดยห้ามลูกเรือลงจากเรือ
นอกเหนือจากกรณีข้างต้น ต้องแจ้งขออนุญาตเป็นการเฉพาะรายต่อ ศปก.ศบค.เท่านั้น
๖. สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา และการดูแลช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่และผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา
ล่าสุด มีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา จำนวน ๑,๕๖๙ คน (สถานะวันที่ ๒๑ พ.ค. ๒๕๖๔ เวลา ๐๗.๐๐ น.) ข้ามมายังฝั่งไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๔ ซึ่งฝ่ายไทยจัดให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ๔ แห่ง บริเวณ อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยในจำนวนนี้ มีผู้หนีภัยฯ ได้รับบาดเจ็บจากความไม่สงบจำนวน ๔ ราย ซึ่งฝ่ายไทยได้ให้ความช่วยเหลือรักษาพยาบาลตามหลักมนุษยธรรม นำส่งโรงพยาบาลใน จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งปัจจุบัน ยังรักษาตัวอยู่ ๒ ราย อีก ๒ รายออกจากโรงพยาบาลแล้ว
ส่วนราษฎรไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา ซึ่งได้อพยพเข้ามาพักในพื้นที่รวบรวมพลเรือน ยังคงเหลืออยู่จำนวน ๑๕๓ คน โดยอยู่ในความดูแลของหน่วยงานในพื้นที่
๗. การเปิดเส้นทางการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนผ่านด่านตงซิง ทางตอนใต้ของจีน
กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ซึ่งดูแลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (กว่างซี) ทางตอนใต้ของจีนว่า สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน ได้ประกาศให้ด่านทางบกตงซิง สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยใช้เป็นทางเลือกในการส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้อีกทางหนึ่ง
ด่านทางบกตงซิงแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ชายแดนจีนกับเวียดนาม ในเมืองตงซิง ของเขตฯ กว่างซี ในฝั่งจีน ตรงข้ามกับด่านม๊องก๋าย จังหวัดกว่างนิงห์ ของเวียดนาม ห่างจากกรุงฮานอย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว ๓๐๐ กิโลเมตร
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ได้มีการประเดิมส่งออกทุเรียนปฐมฤกษ์เพื่อทดลองนำร่องการขนส่งผ่านด่านตงชิง จำนวน ๗ ตู้คอนเทนเนอร์ ปริมาณรวม ๑๑๖.๒ ตัน มูลค่ากว่า ๔ ล้านหยวน (ประมาณ ๒๐ ล้านบาท) การขนส่งเป็นไปอย่างราบรื่น โดยผู้ประกอบการจีนได้ทำการต้อนรับตู้ทุเรียนตู้แรกของไทย ณ ตลาดการค้าสินค้าเกษตรฟู่หมินตงซิง กว่างซี ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เทศบาลเมืองตงซิงจึงได้จัดพิธีต้อนรับผลไม้ไทยล็อตแรก และแถลงข่าวการนำเข้าผลไม้ไทยมายังประเทศจีนผ่านด่านทางบกตงซิง
การขนส่งจากไทยผ่านด่านทางบกตงซิงใช้เวลา ๒ วัน เป็นช่องทางใหม่ที่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการกระจุกตัวของรถบรรทุกบริเวณนอกด่านโหย่วอี้กวาน ซึ่งเป็นด่านดั้งเดิมระหว่างจีนกับเวียดนาม ซึ่งอาจส่งผลให้ผลไม้สดได้รับความเสียหายได้
๘. ประชาสัมพันธ์
๘.๑ การฉีดวัคซีนให้นักเรียน/นักศึกษาไทยที่จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศ
ขอประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนสำหรับนักเรียน/นักศึกษาไทย อายุ ๑๘ ปีขึ้นไป ที่มีกำหนดเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับลงทะเบียนฉีดวัคซีนให้นักเรียน/นักศึกษาไทยที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยสามารถกรอกข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ http://bit.ly/2RAk6FZ ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และสามารถไปรับการฉีดวัคซีนได้ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๓ - ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔
หากมีคำถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ๐๒-๕๗๔-๘๔๔๒ หรือทางอีเมล์ student02vaccine@gmail.com
๘.๒ รายการ Spokesman Live!!!
ในวันศุกร์ที่ ๒๑ พ.ค. ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ขอเชิญติดตาม รายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์ รศ.ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ "CPTPP : โอกาสและความท้าทายของไทย"
สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?
๘.๓ รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ พ.ค.๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายบุญญฤทธิ์ วิเชียรพันธุ์ ผอ. กองลาตินอเมริกา กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ หัวข้อ "เปิดโลกความสัมพันธ์ ไทย-ลาตินอเมริกา ผ่าน DLA MAGAZINE นิตยสารออนไลน์ภาษาไทย" สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook ?สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย?
ในวันศุกร์ที่ ๒๑ พ.ค. ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) ได้สัมภาษณ์นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ในหัวข้อ ?Covid-19 Monthly Update? สามารถติดตามรับฟังย้อนหลังได้ทาง Facebook ?FM 88 Radio Thailand English?
๘.๔ งานเสวนาพิเศษออนไลน์ "ข้อควรรู้สำหรับนักเรียน/นักศึกษาและผู้ปกครองเพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักรในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-๑๙" จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน
ในวันศุกร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. (ตามเวลาประเทศไทย) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน จะจัดการเสวนาพิเศษออนไลน์ "ข้อควรรู้สำหรับนักเรียน/นักศึกษาและผู้ปกครองเพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักรในช่วงหลังสถานการณ์ COVID-19" โดยบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจต่าง ๆ อาทิ แนวทางของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในการจัดการโควิด-๑๙ ในสถานศึกษา ข้อกำหนดเกี่ยวกับพิธีตรวจคนเข้าเมือง ข้อควรรู้เกี่ยวกับการพำนักในสหราชอาณาจักร ขั้นตอนเกี่ยวกับการเดินทางกลับประเทศไทย และบริการด้านกงสุลของสถานเอกอัครราชทูต
นักเรียนนักศึกษาและผู้ที่สนใจ สามารถเข้าร่วมรับฟังทางโปรแกรม Zoom โดยลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านลิ้งก์ https://forms.gle/HhFnRCEzn8Hnn57ZA และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook "Royal Thai Embassy, London UK"
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ