สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook กระทรวงการต่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Friday May 28, 2021 13:18 —กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น.

ผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook กระทรวงการต่างประเทศ

๑. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถ้อยแถลงในงานวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี ๒๕๖๔

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงผ่านวีดิทัศน์ในงานวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี ๒๕๖๔ ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ร่วมกับคณะผู้แทนถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้ว่า ประเทศไทยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy หรือ SEP) เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง ควบคู่กับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เพื่อให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปอย่างสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมจะขยายความร่วมมือในบริบทของ ?SEP for SDGs Partnership? และ ?โมเดลเศรษฐกิจ BCG? ไปยังประเทศต่าง ๆ ที่สนใจ

๒. การหารือยุทธศาสตร์ไทย - สหรัฐฯ ครั้งที่ ๗

เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย เข้าร่วมการหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐฯ (Thailand-US Strategic Dialogue) ครั้งที่ ๗ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับนาย Atul Keshap รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาวุโส ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ที่ประชุมฯ หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การเสริมสร้างและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ เอเปค อาเซียน ACMECS และหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-US Partnership) นอกจากนี้ ได้มีการหารือความเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นและยาวนาน และแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคง ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงของมนุษย์ และการต่อต้านการค้ามนุษย์

๓. การประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ ๕

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย เข้าร่วมการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน (Strategic Dialogue) ครั้งที่ ๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับนายอู๋ เจียงฮ่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศจีน

หัวข้อหลักของการประชุม ได้แก่ (๑) การดำเนินความร่วมมือเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ความร่วมมือด้านวัคซีนและสาธารณสุข ซึ่งฝ่ายจีนพร้อมสนับสนุนการจัดซื้อวัคซีนจากจีนในอนาคต รวมถึงวัคซีน Sinopharm และสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาค (๒) การเร่งรัดการจัดประชุมกลไกทวิภาคีเพื่อกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ความเชื่อมโยง เศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (๓) การส่งเสริมการค้าและอำนวยความสะดวกด้านการค้า โดยไทยหยิบยกปัญหาข้อติดขัดเรื่องด่านนำเข้าสินค้าในช่วงโควิด-๑๙ และการเปิดด่านเพิ่ม (๔) การฟื้นฟูการเดินทางในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยเฉพาะการผลักดันให้นักศึกษาไทยเดินทางกลับจีนเพื่อไปศึกษาต่อ และให้สายการบินของไทยสามารถกลับไปทำการบินพาณิชย์ในจีน และ (๕) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การลดความยากจน การเกษตรสมัยใหม่ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

ที่ประชุมยังได้หารือประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ รวมถึงความร่วมมือในกรอบอาเซียน-จีน และกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อเสริมสร้างความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันในภูมิภาค

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - จีน สมัยพิเศษ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้างครั้งที่ ๖ ที่นครฉงชิ่งด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ ๗ - ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

๔. การให้ความช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอล

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้จัดเที่ยวบินนำคนไทยที่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย รวม ๒๖๓ คน ซึ่งรวมถึงแรงงานจากนิคมเกษตรกรรมโอฮาด จำนวน ๑๘ คน ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยสายการบินเอล แอล (El Al) เที่ยวบิน LY081 และเดินทางถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๒.๓๐ น.

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ น. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้จัดพิธีไว้อาลัยและส่งร่างของนายวีรวัฒน์ การุญบริรักษ์ และนายสิขรินทร์ สงำรัมย์ แรงงานไทยจากนิคมเกษตรกรรมโอฮาด ที่เสียชีวิตจากการโจมตีเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ณ ท่าอากาศยานเบนกูเรียน โดยมีนางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลและท่าอากาศยานเบนกูเรียนเข้าร่วม ก่อนจะนำร่างของผู้เสียชีวิตทั้งสองรายกลับสู่ประเทศไทยพร้อมเที่ยวบินดังกล่าว และส่งกลับไปยังภูมิลำเนาที่จังหวัดเพชรบูรณ์และบุรีรัมย์ในวันเดียวกัน

เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต และฝ่ายแรงงาน เดินทางไปเยี่ยมนายอัตรชัย ธรรมแก้ว แรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้รับการผ่าตัดครั้งที่ ๒ ผลเป็นที่น่าพอใจ และออกจากหอผู้ป่วยวิกฤตแล้ว เอกอัครราชทูตฯ ขอบคุณทีมแพทย์พยาบาลของโรงพยาบาล Soroka ที่ได้ทุ่มเทรักษานายอัตรชัยฯ จนพ้นขีดอันตรายและมีอาการดีขึ้นตามลำดับ

เอกอัครราชทูตฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมแรงงานไทยจำนวนประมาณ ๔๐ คน ในนิคมเกษตรกรรมโอฮาด ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการโจมตี เพื่อให้กำลังใจ และเน้นย้ำข้อควรปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ ได้เข้าพบหารือกับนายกเทศมนตรีเมืองเอชโคล เกี่ยวกับมาตรการดูแลและคุ้มครองความปลอดภัยของแรงงานภาคเกษตรของไทย โดยเฉพาะระบบเตือนภัยและการติดตั้งบังเกอร์หลบภัยให้เพียงพอและทั่วถึง รวมถึงการทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของแรงงานไทยเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติในยามสถานการณ์ไม่ปกติต่อไป

๕. สถานการณ์ชายแดนไทย - เมียนมา และการช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่และผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา

จากสถานะเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีผู้หนีภัยการสู้รบและความไม่สงบจากเมียนมาพำนักอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยฝั่งไทย ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา จำนวนทั้งสิ้น ๑,๐๓๙ คน โดยกองทัพไทยมีหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าว รวมทั้งดูแลผู้หนีภัยฯ ทั้งนี้ มีการแจกจ่ายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสิ่งของที่บริจาคโดยกลุ่มต่าง ๆ และกาชาดในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

นอกเหนือจากการจัดระเบียบพื้นที่ กองทัพไทยยังดำเนินการจัดระเบียบด้านสุขาภิบาล รวมถึงการพ่นฉีดยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และได้จัดหน่วยทหารเสนารักษ์เพื่อให้บริการตรวจรักษาสุขภาพเบื้องต้นแก่ผู้หนีภัยฯ โดยหากพบกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม ผู้หนีภัยฯ จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่

ผู้หนีภัยฯ ได้รับการชี้แจงเกี่ยวกับพัฒนาการการสู้รบในฝั่งเมียนมาโดยเจ้าหน้าที่กองทัพไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้หนีภัยฯ จะใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจด้วยตนเองว่า จะกลับไปยังภูมิลำเนาเมื่อใด ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยังมีแนวโน้มว่าไม่ปลอดภัย ฝ่ายไทยจะไม่อนุญาตให้ผู้หนีภัยฯ เดินทางกลับ

ส่วนราษฎรไทย ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในเมียนมา ซึ่งได้อพยพเข้ามาพักในพื้นที่รวบรวมพลเรือน ยังคงเหลืออยู่จำนวน ๒๑๗ คน โดยอยู่ในความดูแลของหน่วยงานในพื้นที่

๖. มาตรการผ่อนปรนให้บุคคลจากกลุ่มประเทศนอกสหภาพยุโรปที่มีความปลอดภัย (EU White List)สามารถเดินทางเข้าเขตสหภาพยุโรป (EU)

ประเทศนอกสหภาพยุโรปที่สหภาพยุโรปจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความปลอดภัย (EU White List) กล่าวคือ เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน ๗๕ คน ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ในช่วง ๑๔ วันที่ผ่านมา ได้แก่ ออสเตรเลีย อิสราเอล นิวซีแลนด์ รวันดา สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ คณะมนตรี EU ได้มีมติเห็นชอบต่อคำแนะนำ (recommendations) ให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเปิดให้บุคคลจากประเทศใน EU White List สามารถเดินทางเข้าได้ โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์

ดังนั้น ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถพิจารณาอนุญาตให้บุคคลที่เดินทางมาจากไทยเข้าเขต สหภาพยุโรปได้ โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์การเดินทาง และไม่ว่าจะฉีดวัคซีนมาแล้วหรือไม่ โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ไทยยังอยู่ใน EU White List

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ประสงค์เดินทางไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ควรตรวจสอบมาตรการจำกัดการเดินทางของแต่ละประเทศอีกครั้ง เนื่องจากอำนาจในการอนุญาตให้เข้าเมืองขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ มติของสหภาพยุโรปเป็นเพียงข้อแนะนำเท่านั้น ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปสามารถกำหนดมาตรการ เงื่อนไข รวมถึงเอกสารที่ขอรับจะแตกต่างกันไป

สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการยุโรป https://ec.europa.eu/ โดยค้นหาหัวข้อ ?Travel during the coronavirus pandemic? และเว็บไซต์ทางการของประเทศที่ต้องการเดินทางไป

๗. ความคืบหน้าล่าสุดของการทวงคืนโบราณวัตถุกลับสู่ประเทศไทย (ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ. บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ. สระแก้ว)

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ สำนักงานสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ (Homeland Security Investigation ? HSI) ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้จัดพิธีส่งมอบทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังปราสาทเขาโล้นคืนให้แก่รัฐบาลไทย ที่นครลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยฝ่ายไทย มีนายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เข้าร่วมพิธี พร้อมด้วยกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส กงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก และ กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก โดยกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยเป็นผู้รับมอบและลงนามในเอกสารที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ มีนาย David A. Prince ผู้แทนระดับสูงจาก HSI ประจำนครลอสแอนเจลิส เข้าร่วม พร้อมรักษาการอัยการสูงสุดเขตภาคเหนือของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

สำหรับการขนส่งทับหลังกลับไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้ช่วยกำกับดูแลการบรรจุทับหลังฯ โดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญการขนส่งโบราณวัตถุ ตลอดจนติดตามการขนย้ายทับหลังทั้งสองรายการไปยังท่าอากาศยานนครลอสแอนเจลิส จนจบสิ้นกระบวนการทางเอกสารและพิธีการศุลกากร โดยทับหลังฯ มีกำหนดถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔

กรมศิลปากรจะจัดพิธีรับมอบและตรวจสอบทับหลังฯ ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ และจะนำทับหลังฯ มาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นระยะเวลาประมาณ ๓ เดือน ก่อนที่จะเก็บรักษาในสถานที่ที่เหมาะสมต่อไป

กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ (Department of Homeland Security-HSI) โดยเฉพาะนาย David Keller เจ้าหน้าที่พิเศษ HSI ผู้รับผิดชอบคดีทับหลังฯ สำนักงานอัยการกลางสหรัฐฯ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กรมศุลกากร และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง

๘. การมอบอุปกรณ์การแพทย์ให้เนปาลเพื่อรับมือโควิด-๑๙

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายดุสิต เมนะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีมอบเครื่องผลิตออกซิเจน (oxygen concentrators) สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-๑๙ จำนวน ๔๖ เครื่อง ให้แก่เนปาล โดยมีเอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทยเป็นผู้รับมอบ โดยสิ่งของบริจาคทั้งหมดจะจัดส่งไปทางเครื่องบินในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔

การมอบสิ่งของบริจาคครั้งนี้เป็นการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วนของไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ และองค์กรพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล วัดไทยลุมพินี เนปาล และมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน รวมทั้งมูลนิธิวีระภุชงค์ ร่วมกันบริจาค

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นายโวสิต วรทรัพย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ ได้ส่งมอบเครื่องผลิตออกซิเจน จำนวน ๑๗ เครื่อง ซึ่งได้รับบริจาคจากประชาชนชาวไทยผ่านวัดไทยลุมพินี โดยผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขและประชากรเป็นผู้รับมอบด้วย

การบริจาคเครื่องผลิตออกซิเจนดังกล่าว สะท้อนถึงไมตรีจิตระหว่างสองประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินนโยบายให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของไทยแก่เนปาล ซึ่งเป็นมิตรประเทศที่มีความใกล้ชิดทางด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และกำลังขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์

๙. ประชาสัมพันธ์

๙.๑ รายการ Spokesman Live!!!

วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ขอเชิญติดตาม รายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. Spokesman Live!!! ซึ่งจะสัมภาษณ์ออท. ศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส หัวข้อ "บทบาทของเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส กับการทูตไทยในยุค New Normal" สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?

๙.๒ รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์ นายธฤต จรุงวัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูต/เลขาธิการมูลนิธิไทย หัวข้อ ?การทูตสาธารณะของไทย? สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook ?สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย?

และในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ รายการ ?MFA Update? FM 88 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์ นายนิธิรุจน์ โผนประเสริฐ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย หัวข้อ "Trade and Investment Opportunities of Southern India" สามารถติดตามรับฟังได้ทาง Facebook ?FM 88 Radio Thailand English?

๙.๓ การลงทะเบียนสื่อมวลชนสำหรับการบรรยายสรุปก่อนการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting) ปี ๒๕๖๔

ขอเชิญชวนสื่อมวลชนที่สนใจร่วมรับฟังการบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชน (ภาษาอังกฤษ) ก่อนการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๗.๐๐ น. (เวลาไทย) ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเอเปค ประจำปี ๒๕๖๔ ซึ่งประเทศนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังได้ทางอีเมล์ ภายในวันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม โดยสื่อมวลชนที่ลงทะเบียนแล้วจะได้รับสิทธิเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการบรรยายสรุปการแถลงข่าว และการประชุมในกรอบเอเปคที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพตลอดทั้งปี ๒๕๖๔ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการติดตามประเด็นและพัฒนาการที่น่าสนใจก่อนการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในช่วงปลายปีนี้และตลอดปี ๒๕๖๕

ติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ apec2021nz.org/media หรือสอบถามเพิ่มเติมที่อีเมล์ APEC2021support@media.govt.nz

  • * * * *

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ