ไทยหารือกระชับความร่วมมือกับสหประชาชาติเพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือใหม่ระหว่างไทยกับสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework - UNSDCF)
หน่วยงานไทยระดมสมองแลกเปลี่ยนมุมมองกับหน่วยงานสหประชาชาติในไทยเกี่ยวกับแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาของไทยอย่างบูรณาการ ภายใต้ร่างกรอบความร่วมมือใหม่ซึ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework - UNSDCF) โดยยึดหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเห็นพ้องให้กรอบความร่วมมือใหม่ ซึ่งระบุถึงประเด็นและสาขาความร่วมมือระหว่างสหประชาชาติกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย สอดรับกับการพัฒนา ๔ ด้าน ๑๓ หมุดหมายของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ และการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้ไทยฟื้นฟูกลับมาให้เข้มแข็งกว่าเดิมจากสถานการณ์โควิด-๑๙
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กรมองค์การระหว่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Resident Coordinator?s Office ? UNRCO) จัดการประชุมหารือกับหน่วยราชการไทยเพื่อจัดทำร่างกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Cooperation Framework ? UNSDCF) ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและสหประชาชาติ กว่า ๑๗๐ คนเข้าร่วม
อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวเปิดการประชุม เน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ ของไทยในการกำหนดทิศทางที่ทีมสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Country Team ? UNCT) รวม ๒๒ หน่วยงาน จะสนับสนุนการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของไทย ควบคู่ไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดย UNSDCF จะทดแทนกรอบความร่วมมือหุ้นส่วน (United Nations Partnership Framework ? UNPAF) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหประชาชาติ ฉบับปัจจุบัน (วาระปี ๒๐๑๗ ? ๒๐๒๑) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปีนี้
หลังจากนี้ ในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ คณะกรรมการสามฝ่ายจะร่วมกันจัดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นต่อร่าง UNSDCF จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ อาทิ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเอกชน เพื่อให้ UNSDCF มีความครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ และตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ