รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติอาเซียน- จีน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ส่งเสริมการใช้ BCG โมเดล เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ณ นครฉงชิ่ง
เมื่อวันที่ ๖ ? ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามคำเชิญของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ที่ประชุมฯ หารือถึงพัฒนาการและความสำเร็จของความสัมพันธ์ฯ ตลอด ๓๐ ปีในทุกมิติ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนชื่นชมการสนับสนุนของจีนแก่อาเซียนในการรับมือกับโควิด-๑๙ อาทิ การสนับสนุนเงินจำนวน ๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สมทบกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และการสนับสนุนวัคซีนแก่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงบทบาทของจีนในการเป็นคู่เจรจาแรกที่ยกระดับสถานะความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เมื่อปี ๒๕๔๖ และเป็นภาคีภายนอกของอาเซียนประเทศแรกที่ให้สัตยาบันความตกลง RCEP เมื่อปี ๒๕๖๔ ตลอดจนร่วมยินดีที่อาเซียนและจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ ๑ ของกันและกันในปัจจุบัน
ที่ประชุมฯ ร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ฯ ในอนาคต โดยเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ โดยเฉพาะการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูหลังสถานการณ์แพร่ระบาด และการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้กำหนดให้ปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และสถานการณ์ในเมียนมา
ในการประชุมครั้งนี้ ไทยสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-จีนอย่างรอบด้าน และย้ำว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ และพยายามเร่งฟื้นฟูประเทศภายหลังการแพร่ระบาดยุติลง ประเทศไทยและอาเซียนจึงไม่ต้องการเห็นการแข่งขันและการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ แต่ควรส่งเสริมความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สงบและสันติ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และโดยที่ความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นหัวใจสำคัญสำหรับความสัมพันธ์อาเซียน-จีนในอนาคต ไทยได้เสนอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการขจัดความยากจน การเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพิจารณาใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular and Green Economy Model: BCG) เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งได้เสนอเอกสารรายชื่อโครงการความร่วมมืออาเซียน-จีน เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งรวบรวมตัวอย่างกิจกรรมและโครงการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไทยจะดำเนินการ ทั้งในกรอบทวิภาคีกับจีน กรอบอาเซียน และกรอบพหุภาคี จำนวน ๓๐ โครงการ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ และเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีนในวาระที่มีความสำคัญนี้
การประชุมครั้งนี้นับเป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในลักษณะพบปะหารือเป็นครั้งแรกตั้งแต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จีนจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปีของความสัมพันธ์ฯ ในปี ๒๕๖๔
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ