สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น.

ข่าวต่างประเทศ Friday June 18, 2021 13:42 —กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น.

ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live

๑. ผลการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือติมอร์-เลสเต (๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔)

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือผ่านการประชุมทางไกลกับนางอาดัลจีซา มักนู (Adaljiza Magno)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือ ติมอร์-เลสเต

ฝ่ายติมอร์-เลสเตได้แสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่พระราชทานโครงการพระราชดำริเพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่นักเรียนติมอร์ฯ รวมทั้งขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ไทยและติมอร์-เลสเตจะฉลองโอกาสครบรอบ ๒๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

ในปี ๒๕๖๔ โดยจะผลักดันความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างกัน (Development Partners) และจะจัดการประชุมความร่วมมือด้านวิชาการ ครั้งที่ ๔ เพื่อจัดทำแผนงานความร่วมมือรวมทั้งจะส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยติมอร์ฯ เชิญชวนภาคเอกชนไทยไปลงทุนด้านเกษตรกรรม การท่องเที่ยวและการทำเหมืองแร่ในติมอร์ฯ ด้วย

ไทยย้ำการสนับสนุนของไทยต่อการสมัครเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ฯ และพร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมของติมอร์ฯ ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนต่อไป

๒. ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ ๑๑ (๑๕ - ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔)

นางสาวรุจิกร แสงจันทร์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association- IORA) ครั้งที่ ๑๑ ผ่านการประชุมทางไกล โดยมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าภาพ เพื่อติดตามความคืบหน้าการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ กับประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียรวม ๒๓ ประเทศ

ไทยมีบทบาทนำในการขับคลื่อนความร่วมมือใน ๓ สาขา ได้แก่ ประมง เศรษฐกิจภาคทะเล (Blue Economy) และการสร้างเสริมบทบาทสตรีด้านเศรษฐกิจ (Women Economic Empowerment) ล่าสุด ไทยได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมเรื่องประมงน้ำจืดให้แก่สมาชิก IORA

ไทยใช้กรอบ IORA เป็นเวทีในการขับเคลื่อนการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วน

คู่เจรจา ๙ ประเทศ เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน รักษาห่วงโซ่อุปทาน และการท่องเที่ยว ตลอดจนเพื่อเชื่อมโยงทางบกกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและจีนตอนใต้

๓. มาตรการการเดินทางระหว่างประเทศของสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

๓.๑ สหภาพยุโรป (EU)

EU จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความปลอดภัย (EU White List) ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน ๗๕ คน ต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ในช่วง ๑๔ วันที่ผ่านมา โดยประเทศสมาชิก EU สามารถพิจารณาอนุญาตให้บุคคลที่เดินทางมาจากไทยเข้าเขต EU โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์การเดินทาง และไม่ว่าจะฉีดวัคซีนมาแล้วหรือไม่

EU จะออกกฎหมายว่าด้วยเอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-๑๙ ในรูปแบบดิจิทัลของสหภาพยุโรป ?EU Digital COVID Certificate? สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศภายใน EU จึงจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โดยประเทศสมาชิก EU ๑๒ ประเทศ (จาก ๒๗ ประเทศ) ได้เริ่มบังคับใช้และออกเอกสารรับรองฯ ให้กับประชาชนของตนแล้ว ได้แก่ บัลแกเรีย เช็ก เดนมาร์ก เยอรมนี กรีซ โครเอเชีย โปแลนด์ สเปน ลิทัวเนีย เอสโตเนีย ลัตเวีย และออสเตรีย

เอกสารรับรองฯ ดังกล่าวจะออกให้บุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-๑๙ ครบโดสแล้ว หรือผู้ที่มีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ เป็นลบ หรือเป็นผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-๑๙ และรักษาหายแล้ว บุคคลที่ถือเอกสารรับรองฯ ดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นมาตรการจำกัดการเดินทาง เช่น การกักตัวหรือการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙

สำหรับคนไทย สามารถขอเอกสารรับรองฯ ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จะต้องเข้าไปในเขต EU ก่อน จึงจะยื่นขอเอกสารรับรองฯ กับหน่วยงานท้องถิ่นในประเทศที่เดินทางมาถึงได้ เพื่อใช้เดินทางข้ามไปยังประเทศอื่นใน EU

อย่างไรก็ตาม คนไทยต้องตรวจสอบมาตรการของประเทศต้นทางและประเทศปลายทางก่อนเดินทางทุกครั้ง สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://reopen.europa.eu

๓.๒ สหราชอาณาจักร

เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศมาตรการการเดินทางเข้าประเทศภายใต้สถานการณ์โควิด-๑๙ ใหม่ โดยแบ่งประเทศต้นทางเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง โดยไทยถูกเลื่อนจากกลุ่มสีเขียว ขึ้นมาอยู่ในกลุ่มสีเหลือง(Amber List)

หลักเกณฑ์การเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรจากประเทศกลุ่มสีเหลือง (Amber list) มีดังนี้

ต้องมีผลตรวจโควิดที่เป็นลบ และมีอายุไม่เกิน ๓ วันก่อนออกเดินทางหากไม่มีผลตรวจ จะถูกปรับเป็นเงินจำนวน ๕๐๐ ปอนด์ หรือไม่อนุญาตให้เข้าประเทศ

ต้องกักตัวในที่พัก (self quarantine) เป็นเวลา ๑๐ วัน โดยจะต้องจองการตรวจหาเชื้อโควิด ในวันที่ ๒ และวันที่ ๘ ของการกักตัว ระหว่างกักตัว) และสามารถขอลดจำนวนวันกักตัวได้ ด้วยการจองการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ แบบ Test to Release scheme ซึ่งจะตรวจในวันที่ ๕ ของการกักตัว หากผลเป็นลบ สามารถยุติการกักตัวได้ โดยเด็กอายุต่ำกว่า ๔ ปี ได้รับการยกเว้นไม่ต้องตรวจหาเชื้อ

๓.๓ สหรัฐฯ

ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention-CDC) กำหนดให้ผู้เดินทางเข้าสหรัฐฯ ทางอากาศทุกคน ต้องแสดงหลักฐานผลการตรวจโควิด-๑๙ เป็นลบ ซึ่งมีอายุไม่เกิน ๓ วัน ก่อนเริ่มต้นการเดินทางเข้าสหรัฐฯ โดยสายการบินสามารถปฏิเสธไม่ให้ผู้โดยสารที่ไม่แสดงหลักฐานดังกล่าวขึ้นเครื่องได้

สำหรับกรณีหญิงไทย ถูกจับกุมโดย ตม.สหรัฐฯ ที่สนามบินแอตแลนตา เนื่องจากพบน้ำมันที่มีส่วนผสมของกัญชาและเม็ดยาฟ้าทลายโจร ซึ่งถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสารเสพติด และมีประเด็นเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้ถูกเพิกถอนวีซ่าและควบคุมตัวอยู่กว่าหนึ่งเดือนก่อนส่งกลับไทย พร้อมทั้งถูกห้ามเข้าประเทศสหรัฐฯ เป็นเวลา ๕ ปี

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันได้ให้ความช่วยเหลือประสานงานและออกเอกสาร Certificate of Entry (COE) ให้หญิงไทยดังกล่าวกลับไทยแล้ว และได้ออกประกาศเตือนคนไทยที่พกยา สมุนไพร อาหารเสริม สารสกัด หรือเวชภัณฑ์ใด ๆ เดินทางมายังสหรัฐฯ ขอให้มีฉลากภาษาอังกฤษที่ระบุส่วนประกอบอย่างชัดเจน โดยสามารถตรวจสอบและศึกษาข้อมูลรายการสิ่งของต้องห้ามนำเข้าสหรัฐฯ ได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยงานศุลกากรของสหรัฐฯ (US Customs and Border Protection) https://www.cbp.gov/travel/us-citizens/know-before-you-go/prohibited-and-restricted-items

๓.๔ ญี่ปุ่น

ผู้เดินทางต่างชาติเข้าญี่ปุ่นต้องขอวีซ่าในการเดินทางเข้าประเทศและต้องมีเหตุผลความจำเป็นโดยพิจารณาเป็นรายกรณี

ในส่วนของไทย ญี่ปุ่นได้ระงับความตกลงยกเว้นการตรวจลงตรา ที่อนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเป็นเวลา ๑๔ วัน อยู่ในขณะนี้

เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔ ญี่ปุ่นได้กำหนดให้บุคคลที่เดินทางมาจากประเทศไทย (รวมถึงคนสัญชาติญี่ปุ่น) ต้องเข้ารับการกักกันตัวเป็นเวลา ๓ วัน ในสถานที่ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้กำหนด โดยจะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ในวันที่ ๓ จากนั้นผู้ที่มีผลตรวจเป็นลบ สามารถเดินทางออกจากสถานที่กักกัน เพื่อไปทำการกักตัวในที่พัก (self-quarantine) จนครบ ๑๔ วันต่อไป

๓.๕ เกาหลีใต้

กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ ระบุว่าตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นไป เกาหลีใต้จะอนุญาตให้บุคคลที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ครบถ้วนแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย ๒ สัปดาห์ก่อนการเดินทางเข้าเกาหลีใต้ สามารถเดินทางเข้าเกาหลีใต้ได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยยอมรับวัคซีน๗ ประเภทตามที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน

ผู้เดินทางจะต้องมีวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้าเกาหลีใต้เพื่อเยี่ยมครอบครัว/ญาติใกล้ชิด ดำเนินธุรกิจ การศึกษา ราชการ เพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเหตุผลทางมนุษยธรรม โดยจะต้องขออนุญาตรับการยกเว้นการกักตัวจากสถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ในประเทศต้นทางล่วงหน้า

๔. รัฐบาลไทยมอบเงินสนับสนุนมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ประเทศอียิปต์

เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๔ นายพุทธพร อิ้วตกส้าน เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้เยี่ยมคารวะศาสตราจารย์ ดร. อะห์หมัด โมฮัมหมัด อะห์หมัด อัตตัยเย็บ ผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ (Grand Imam of Al-Azhar) เพื่อมอบเงินบริจาคในนามของรัฐบาลไทย จำนวน ๑ ล้านบาท ให้แก่มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร (University of Al-Azhar) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางศาสนาที่มีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่กว่า ๒,๐๐๐ คน ทั้งนี้ อียิปต์เป็นประเทศที่มีนักศึกษามุสลิมจากไทยไปศึกษาต่อมากที่สุด

เอกอัครราชทูตฯ ได้ขอบคุณ ดร. อะห์หมัด ที่ดูแลนักศึกษาไทยในอียิปต์อย่างดีในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และขอบคุณรัฐบาลอียิปต์ที่ได้มอบทุนการศึกษาจำนวน ๑๔๔ ทุน ให้นักศึกษาไทยไปศึกษาด้านอิสลามศึกษาและสายสามัญที่มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ในปีการศึกษา ๒๕๖๔-๒๕๖๕

๕. การรับมอบบริจาคชุด PPE เพื่อแจกให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ในภารกิจอำนวยความสะดวกช่วยเหลือคนไทย

เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ นายเชิดเกียรติ อัตถากร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ PPE จำนวน ๑,๕๕๐ ชุด

จากบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ เพื่อใช้ช่วยเหลือคนไทยทั่วโลก กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณบริษัท PTT มา ณ โอกาสนี้

รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้กรมการกงสุลจัดหาและส่งสมุนไพร

ฟ้าทะลายโจรให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก เพื่อแจกจ่ายให้แก่ชุมชนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยได้ประสานกับองค์การเภสัชกรรมเพื่อจัดซื้อฟ้าทะลายโจร ในรูปแบบแคปซูลสกัดเข้มข้น จำนวน ๑๔,๕๐๐ กล่อง (รวม ๒๙๐,๐๐๐ เม็ด) โดยเฉพาะสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ที่มีคนไทยในเขตอาณาเป็นจำนวนมากและเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ สูง

สำหรับภารกิจดูแลช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่และทีมประเทศไทยทั่วโลก มีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-๑๙ ๑๓๓ คน จาก ๓๖ สำนักงาน โดยเสียชีวิตในต่างประเทศ ๔ คน และกลับมาเสียชีวิตในไทย ๑ คน

ตั้งแต่เริ่มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ระหว่างวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๓ - ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทั่วโลก ได้อำนวยความสะดวกนำคนไทยเดินทางกลับประเทศไทยผ่านเที่ยวบินพิเศษแล้ว ๑๘๕,๕๐๘ คน และได้ออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry-COE) ให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ๑๙๖,๗๔๙ ราย

๖. ประชาสัมพันธ์

๖.๑ รายการ Spokesman Live!!!

วันศุกร์ที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ติดตามรายการคุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! สัมภาษณ์นางวิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ในหัวข้อ ?CPTPP - โอกาสและความท้าทายของไทย? สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?

๖.๒ งานเทศกาลอาหารไทยฟูกูโอกะ ๒๐๒๑

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ จะจัดงานเทศกาลอาหารไทยฟูกูโอกะ (Thai Food Festival in Fukuoka 2021) ในวันที่ ๑๐ - ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ติดตามข้อมูลได้ที่ Facebook ?สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ?

๖.๓ The Cloud Podcast คุยกับทูต Season ๒ ทาง Facebook ?Saranrom Radio

The Cloud Podcast คุยกับทูต Season สอง ตอนที่ ๑ ออกอากาศเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ สัมภาษณ์นายเจษฎา กตเวทิน เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สปป. ลาว ถึงบทบาทนักการทูตที่ต้องทำงานประสานใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัดริมน้ำโขง ๑๒ จังหวัด และการปรับตัวตามนโยบายเศรษฐกิจของลาว จาก Land Lock สู่ Land Link ส่วนตอนที่ ๒ จะออกอากาศในวันเสาร์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นบทสัมภาษณ์นางกาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม สวีเดน เรื่องสัมพันธ์ไทย-สวีเดน ผ่านเกลือ ป่าไม้ และดาวเทียม?

๖.๔ รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์นายเสฎฐพล พชรพสิษฐ์กุล นักการทูตชำนาญการ กรมสารนิเทศ หัวข้อ ?การประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี ๒๕๖๕? เชิญชวนเยาวชนอายุไม่เกิน ๒๕ ปี ส่งผลงานเข้าประกวดภายในสิ้นเดือนนี้ ขณะนี้ มีผลงานส่งเข้าประกวดแล้วกว่า ๑๒๐ ชิ้น สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook ?สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย?

วันศุกร์ที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา และประธานคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์และวีดิทัศน์จากต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในไทย ในหัวข้อ ? Thailand : One of the World?s Top Foreign Filming Destinations? สามารถติดตามรับฟังได้ทาง Facebook ?FM 88 Radio Thailand English?

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ