คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ชี้แจงกรณีข้อกล่าวหาของ Seafood Working Group (SWG) ที่เชื่อมโยงกับรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๑
เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๓๐ น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (คณะกรรมการ ปกค.) ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ โดยที่ประชุมได้พิจารณากรณี Seafood Working Group (SWG) เรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปรับลดระดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report: TIP Report) ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๑ จาก Tier 2 เป็น Tier 2 Watch List ซึ่ง SWG ได้เผยแพร่รายงานข้อคิดเห็นต่อการดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย รวมทั้งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เสนอให้ผลักดันให้ไทยถอนร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ....
ที่ประชุมคณะกรรมการ ปกค. ได้พิจารณารายงานของ SWG เบื้องต้น พบว่า มีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงในหลายประเด็นอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ (๑) SWG หยิบยกปัญหาแรงงานที่ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองเนื่องจากเกรงถูกนายจ้างข่มขู่ฟ้องร้องด้วยกฎหมายหมิ่นประมาท หรือการปฏิบัติปิดปากคนด้วยกฎหมาย (SLAPP Law) ซึ่งกระทรวงยุติธรรมชี้แจงว่า ได้มีความพยายามยกระดับและพัฒนามาตรการ/กลไกคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีความร่วมมือกับ UNDP ในการศึกษาการพัฒนากฎหมายและมีการดำเนินการในกรอบคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีกลไกกองทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายและความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีด้วย (๒) SWG ระบุว่ากระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้ใช้ผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งเป็นการใช้ผู้ต้องขังเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า ซึ่งกระทรวงยุติธรรมยืนยันว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จ เนื่องจากในกระบวนการให้ผู้ต้องขังมีอาชีพก่อนได้รับการปล่อยตัว กระทรวงยุติธรรม มีกลไกพักการลงโทษ ทำให้พ้นจากสถานะผู้ต้องขังและสามารถทำงานกับภาคเอกชนได้ตามความสมัครใจ และ (๓) SWG ระบุว่า การดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในประเทศไทยและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ๒ ปี ตามการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือน ธ.ค. ๒๕๖๓ มีค่าใช้จ่ายสูงและมีขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้แรงงานต่างด้าวอาจไม่สามารถเข้าร่วมโครงการและนำไปสู่ความเสี่ยงโดนเอาเปรียบโดยนายจ้าง กระทรวงแรงงานได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กระบวนการลงทะเบียนทำได้ง่ายผ่านระบบออนไลน์ และมีค่าใช้จ่าย ๖,๒๘๐ บาท ซึ่งครอบคลุมค่าบริการตรวจร่างกายและประกันสุขภาพให้กับแรงงานตลอดระยะเวลา ๒ ปีด้วย
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยซึ่งมีพัฒนาการความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งจัดทำข้อมูลชี้แจงประเด็นที่คลาดเคลื่อนในรายงานข้อคิดเห็นของ SWG เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการดำเนินการของไทยต่อไป
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ