เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงด้านความร่วมมือลุ่มน้ำโขงผลักดันความร่วมมือเพื่อรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ และร่างแผนปฏิบัติการหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong - U.S. Partnership ? MUSP) ฉบับใหม่ ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส MUSP
นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงด้านความร่วมมือลุ่มน้ำโขง เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong - U.S. Partnership ? MUSP) ผ่านระบบทางไกล โดยได้ผลักดันความร่วมมือเพื่อรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ความร่วมมือด้านสาธารณสุข การจัดหาและผลิตวัคซีน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และร่างแผนปฏิบัติ MUSP ฉบับใหม่
เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงด้านความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong - U.S. Partnership ? MUSP) โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ และกัมพูชาเป็นประธานร่วมในการประชุม ซึ่งเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งแรกของ MUSP หลังจากที่ประเทศสมาชิกได้เห็นชอบให้ยกระดับจากข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขง (Lower Mekong Initiative ? LMI) เป็น MUSP เมื่อปี ๒๕๖๓
?การประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิก MUSP ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และสหรัฐฯ ได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมการประชุมรัฐมนตรี MUSP ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ โดยได้ร่วมกันให้ข้อคิดเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการ MUSP ค.ศ. ๒๐๒๑-๒๐๒๓ โดยเน้นโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมสำหรับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีฯ ในเดือนสิงหาคม ศกนี้ ให้การรับรองต่อไป
?ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือภายใต้ MUSP เพื่อการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการรับมือกับโรคระบาดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเห็นพ้องให้ MUSP เพิ่มพูนความร่วมมือด้านสาธารณสุข การผลิต การจัดหาและการเข้าถึงวัคซีน และพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขและระบาดวิทยา รวมทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ ผ่านการพัฒนาทางโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาดิจิทัลและการสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะ MSMEs และ start-ups เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและการบูรณาการของห่วงโซ่มูลค่า ในการนี้ ไทยได้เสนอให้ประเทศสมาชิกนำรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green - BCG Economy) มาช่วยให้การฟื้นฟูเป็นไปอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
?นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ของ MUSP อาทิ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและน้ำ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและทุนการศึกษา และการพัฒนาเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ