การแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตเพื่อรับรองร่างภาคผนวก ๒ (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ฉบับแก้ไขของความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตเพื่อรับรองร่างภาคผนวก ๒ ของความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement- JTEPA)
เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตเพื่อรับรองร่างภาคผนวก ๒ (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) ฉบับแก้ไข ของความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement- JTEPA) โดยนายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเป็นผู้ลงนามหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ดังกล่าวในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น
การแลกเปลี่ยนหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อรับรองภาคผนวก ๒ ฉบับแก้ไข (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) เป็นผลมาจากการประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ JTEPA ครั้งที่ ๖ ซึ่งมีกรมศุลกากรของไทยและกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์ (Product Specific Rules: PSRs) ภายใต้บทที่ ๒ กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ของ JTEPA จากพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี ค.ศ. ๒๐๐๒ (HS 2002) เป็นฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๗ (HS 2017) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการทางการค้าแก่ผู้ประกอบการของทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่นโดยผู้นำเข้าจะสามารถลดระยะเวลาในการจัดเตรียมเอกสารประกอบการนำเข้าและลดความเสี่ยงต่อการเพิ่มต้นทุนทางการค้าในเรื่องภาระค่าภาษีหากมีการปรับเปลี่ยนพิกัดศุลกากรผิดพลาด ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบต่อการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนฯ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยและญี่ปุ่นยังได้มีการรับรองเอกสารขั้นตอนการดำเนินการ (Operational Procedures ? OP) ฉบับแก้ไขของ JTEPA เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ผ่านการแลกเปลี่ยนหนังสือระหว่างประธานคณะกรรมการร่วม (Joint Committee: JC) ภายใต้ JTEPA ของทั้งสองฝ่าย ตามอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ใน JTEPA ซึ่งเอกสาร OP ฉบับแก้ไขมีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) เพิ่มความความสะดวกในการแก้ไขเอกสารภายใต้ความตกลงเมื่อมีการปรับโอนพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ในอนาคต และเพิ่มความชัดเจนในการปฏิบัติเมื่อมีการปรับเปลี่ยนพิกัดระบบฮาร์โมไนซ์ และ (๒) พัฒนาระบบสำหรับใช้ในการตรวจสอบความแท้จริงและความถูกต้องของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและญี่ปุ่นสามารถตรวจสอบความแท้จริงและความถูกต้องของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ผ่านระบบตรวจสอบที่กำหนดไว้ โดยระบบตรวจสอบดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อรองรับการยื่นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form JTEPA) ในรูปแบบไฟล์ PDF เป็นมาตรการชั่วคราวซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี ๒๕๖๕ ก่อนที่การปรับใช้ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์จะแล้วเสร็จ JTEPA จึงเป็นความตกลงแรกของไทยที่รับรองหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบไฟล์ PDF
ในลำดับต่อไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นจะมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อรองรับการบังคับใช้ภาคผนวก ๒ (เรื่องกฎเฉพาะผลิตภัณฑ์) และเอกสาร OP ฉบับแก้ไขของ JTEPA ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดของการบังคับใช้ดังกล่าวได้เพิ่มเติมจากประกาศของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ต่อไป
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ