สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ผ่าน Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. การดำเนินการทางการทูตเพื่อการจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ
การจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนไทยเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการทางการทูตในการแสวงหาวัคซีนจากต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบของการจัดซื้อ การแลกเปลี่ยน (vaccine swap) และการรับความช่วยเหลือ โดยได้ติดต่อประสานเพื่อจัดซื้อวัคซีนจากแหล่งต่าง ๆ อาทิ จากจีน (Sinovac, Sinopharm และ CanSino) สหรัฐฯ (Pfizer, Moderna, Johnson & Johnson และ Novavax) รัสเซีย (Sputnik V) ฝรั่งเศส (Sanofi) และอินเดีย (Covishield และ Covaxin)
สำหรับกับจีน รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับฝ่ายจีน เพื่อผลักดันการจัดหาวัคซีนให้ไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๓ ในการเยือนไทยของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หลังจากนั้น กระทรวงการต่างประเทศได้มีการหยิบยกเรื่องวัคซีนกับจีนในทุกโอกาส จนกระทั่งในการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีนเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๔ ซึ่งฝ่ายจีนได้ประกาศมอบวัคซีน Sinovac ๑ ล้านโดสให้กับไทย นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติม
ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศยังได้เจรจาการทำ vaccine swap เพื่อแลกเปลี่ยนหยิบยืมวัคซีนกันใช้ก่อนกับหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่าอาจจะมีเพียงพอแลกเปลี่ยนกันได้ตั้งแต่กันยายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศมอบวัคซีน AstraZeneca ๑,๐๕๐,๐๐๐ โดสให้ไทย ซึ่งมีการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนการรับมอบวัคซีนระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และวัคซีนดังกล่าวได้จัดส่งมาถึงไทยแล้วเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ที่ผ่านมา
สำหรับสหรัฐฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้หารือผลักดัน การจัดหาวัคซีนจากสหรัฐฯ มาโดยตลอด โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ได้หารือกับผู้ช่วยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งรับผิดชอบ Vaccine Diplomacy ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กับประเทศไทย และล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๔ ได้หยิบยกประเด็นการขอรับการจัดสรรวัคซีนอย่างเร่งด่วนสำหรับไทยกับนางเวนดี้ เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศมอบความช่วยเหลือวัคซีนของสหรัฐฯรวม ๘๐ ล้านโดสให้กับประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย
กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานงานในรายละเอียดกับหน่วยงานฝ่ายสหรัฐฯ และกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมในการขนส่งและรับมอบวัคซีน รวมทั้งแผนบริหารจัดการและจัดสรรวัคซีนดังกล่าวในประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งความคืบหน้าให้ทุกฝ่ายทราบในโอกาสแรก
สำหรับโครงการแบ่งปันวัคซีนภายใต้กลไก COVAX ของ WHO แม้ไทยจะไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก แต่ก็ได้ร่วมบริจาคเพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับกลไก COVAX เป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยทำให้ไทยสามารถแลกเปลี่ยน จำหน่ายหรือแจกจ่ายวัคซีนที่ไทยผลิตได้เองในอนาคตให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่ไทยประกาศไว้ว่า วัคซีนคือสินค้าสาธารณะของโลก (global public goods) ที่ประเทศต่าง ๆ ควรเข้าถึงได้ทั่วกัน
๒. ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ผ่านระบบทางไกล วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ซึ่งเป็นโอกาสที่นาย Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แนะนำตัวหลังจากเข้ารับตำแหน่ง และเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับคณะผู้บริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯ
ที่ประชุมหารือการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ และผลักดันความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล การพัฒนาทุนมนุษย์ และการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
สหรัฐฯ ย้ำการสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้แก่อาเซียนผ่านการบริจาคทวิภาคีและกลไก COVAX และย้ำว่า อาเซียนและสหรัฐฯ มีผลประโยชน์และวิสัยทัศน์ร่วมกันในการสร้างเสริมภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำความสำคัญของบทบาทของสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ และบทบาทของอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกผู้เล่นในภูมิภาค สนับสนุนข้อริเริ่ม ?Build Back Better World? (B3W) และนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ และเสนอโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) Economy
๓. ผลการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติเรื่องการเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ผ่านระบบทางไกล โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ไทยจะผลักดัน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน (๒) การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และ (๓) การส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน สมดุลและครอบคลุม ผ่านแนวคิด BCG
นายกรัฐมนตรีย้ำให้เตรียมการประชุมอย่างเหมาะสม คุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้เตรียมมาตรการด้านสาธารณสุขและการเดินทางเข้าประเทศอย่างเหมาะสม
กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยราชการและภาคเอกชนอยู่ระหว่างเตรียมข้อเสนอและโครงการต่าง ๆ รวมถึงได้เริ่มหารือกับสมาชิกเอเปคและหุ้นส่วนในภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานหมุนเวียน การคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การจัดการขยะและของเสีย และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
๔. ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน ? แคนาดา ครั้งที่ ๑๘ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ผ่านระบบทางไกล โดยมีนายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย
หารือการส่งเสริมความสัมพันธ์อาเซียน-แคนาดาในทุกมิติ โดยเฉพาะความร่วมมือในการฟื้นฟูจาก โควิด-๑๙ ซึ่งแคนาดาจะสนับสนุนเงินจำนวน ๓.๕ ล้านดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ ๙๒ ล้านบาท) ให้แก่กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ รวมทั้งจะผลักดันให้เริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดาโดยเร็ว
รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเสนอความร่วมมือ (๑) การพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลของผู้ประกอบการ MSMEs โดยใช้กลไกของโครงการ Canada-OECD Project for ASEAN SMEs (COPAS) (๒) การใช้โมเดล BCG ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (๓) การส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยเน้นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการสตรี
๕. มาตรการเพิ่มเติมสำหรับ Phuket Sandbox และมาตรการสำหรับโครงการ Samui Plus
๕.๑ มาตรการเพิ่มเติมสำหรับ Phuket Sandbox
กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะศูนย์ปฎิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแล คนไทยในต่างประเทศ (ศปก.กต.) ได้เห็นชอบให้เพิ่มมองโกเลียในรายชื่อประเทศ/พื้นที่เป้าหมายภายใต้โครงการ Phuket Sandbox ล่าสุด จึงมีทั้งสิ้น ๖๙ ประเทศ/พื้นที่
กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุข ว่าสามารถอนุญาตให้ผู้เดินทางที่ใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนที่ระบุรายละเอียดการรับวัคซีนครบ ๒ เข็มจากต่างบริษัท สามารถเดินทางเข้า Phuket Sandbox และ Samui Plus ได้ โดยต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านมาตรฐานตามข้อกำหนด
ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ? ๑๕ กรกฎาคม มีผู้ลงทะเบียนขอ COE ผ่านสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ๑๗,๔๕๑ ราย โดยได้รับอนุมัติ ๑๐,๓๕๖ ราย เป็นผู้ที่เดินทางเข้าภูเก็ตในระหว่างวันที่ ๑ - ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ๕,๕๒๔ ราย และรอเอกสารประกอบ ๖,๒๙๙ ราย (สถานะ ณ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔)
๕.๒ มาตรการสำหรับโครงการ Samui Plus
กระทรวงการต่างประเทศได้เปิดระบบให้นักท่องเที่ยวลงทะเบียนเพื่อขอ COE สำหรับผู้เดินทางเข้าโครงการ Samui Plus ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โดยมีผู้ลงทะเบียน ขอ COE ผ่านสถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก ๘๑ ราย ได้รับอนุมัติแล้ว ๑๔ ราย โดยเป็นผู้เดินทางเข้ามาในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ๑๑ ราย และรอเอกสารประกอบ ๖๕ ราย
คุณสมบัติผู้เดินทาง ได้แก่
(๑) เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ใน ๖๙ ประเทศ/พื้นที่เป้าหมายเป็นเวลาอย่างน้อย ๒๑ วัน (ยกเว้นเป็นผู้พำนักอยู่ในไทย ทั้งชาวไทยและต่างชาติ)
(๒) เป็นผู้ได้รับการฉีดวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของไทยหรือได้รับการรับรองจาก WHO หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขครบโดสแล้วอย่างน้อย ๑๔ วันก่อนการเดินทาง โดยต้องแสดงเอกสารยืนยันการฉีดวัคซีน ผู้อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน สามารถเดินทางพร้อมผู้ปกครองที่ได้รับวัคซีนแล้วได้
(๓) มีผลตรวจโควิด-๑๙ ที่เป็นลบ ที่มีระยะเวลาไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมงก่อนเดินทาง
(๔) มีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลกรณีติดเชื้อโควิด-๑๙ ในไทย วงเงินไม่น้อยว่า ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐตามระยะเวลาที่พำนัก
(๕) มีหลักฐานการชำระค่าโรงแรมมาตรฐาน Samui Extra+ สำหรับการพำนักใน ๗ วันแรก และหลักฐานการจองโรงแรมมาตรฐาน SHA+ สำหรับการพำนักใน ๗ วันถัดมา
(๖) มีหลักฐานการจ่ายค่าตรวจโควิด-๑๙ ล่วงหน้าตามจำนวนวันที่พัก
การขอ COE มีขั้นตอนและรายละเอียดเช่นเดียวกับการเดินทางเข้า Phuket Sandbox โดยต้องลงทะเบียนเพื่อขอรับ COE ล่วงหน้าได้ไม่เกิน ๓๐ วันก่อนวันเดินทางเข้าไทย
เมื่อเดินทางถึงสมุย มีข้อกำหนดดังนี้
ผู้เดินทางจะต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus โดยเปิดระบบติดตามตัวตลอดเวลา และเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ด้วยวิธี RT-PCR ในวันที่เดินทางถึงหรือวันถัดมา หากเป็นลบ สามารถทำกิจกรรมนอกห้องพักในบริเวณโรงแรมและพื้นที่ที่โรงแรมกำหนดได้
วันที่ ๔ - ๗ หากเป็นลบ สามารถเดินทางท่องเที่ยวใน อ.เกาะสมุย ตามเส้นทางที่กำหนด และเข้ารับการตรวจเชื้ออีกครั้งในวันที่ ๗
วันที่ ๘ ให้เข้าเช็คอินโรงแรม SHA+ และรอผลตรวจที่โรงแรม หากผลเป็นลบ สามารถเดินทางในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงันและเกาะเต่าได้ โดยต้องเปิดแอปพลิเคชัน Thailand Plus ไว้ตลอดเวลา
หากอยู่เกิน ๑๔ วัน หรือต้องการเดินทางไปยังจังหวัดอื่น ๆ หลังวันที่ ๑๔ ผู้เดินทางต้องเข้ารับการตรวจเชื้อครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๑๒ - ๑๓
หากพำนักน้อยกว่า ๑๔ วัน ต้องมีหลักฐานบัตรโดยสารเที่ยวบินขาออก และเมื่อครบกำหนดพำนักต้องออกจากประเทศไทยเท่านั้น
English Version
Samui Plus Scheme
Qualifications
Travelers must travel from 69 countries/territories as announced by the Tourism Authority of Thailand, and stay in such countries/territories no less than 21 days before the travel date. (Thai and foreign nationals with residence in Thailand are exempted from the 21-day requirement.)
Travelers must be fully vaccinated against COVID-19, no less than 14 days before the travel date, with a vaccine registered with the Food and Drug Administration (FDA) of Thailand or approved by WHO or the Ministry of Public Health of Thailand. Children under 18 years of age without COVID-19 vaccination are eligible only when traveling with fully-vaccinated parents or guardians.
Documents Required for COE Issuance
Valid Passport;
Vaccination certificate (which must be in English or have an English translation from a competent authority);
iii. Air ticket confirmation;
COVID-19 health insurance policy with a minimum coverage of USD 100,000;
v. Fully paid reservation hotel confirmation from hotels under Samui Extra+ for the first 7 days and proof of reservations from hotels under SHA+ for the latter 7 days.
COVID-19 test payment in Thailand according to the duration of stay (issued either by the test facility or hotel)
vii. VISA (if needed)
Arrival in Samui
Travelers must download the Thailand Plus application and turn on the tracking system at all times.
Travelers must undergo the first RT-PCR test on day 0 or 1 and must wait for the result in the hotel room. If tested negative, travelers will be able to use services and facilities within the hotel?s designated areas
On day 4 - 7, travelers are able to travel within districts of Koh Samui according to specified routes and travel programs, and have to undergo the second RT-PCR test on Day 7.
Day 8: Check in at SHA+ hotel and wait for results. If negative, travelers will be able to travel in the areas of Koh Samui, Koh Phangan and Koh Tao.
In case travelers wish to stay longer than 14 days or wish to continue journey to other Thai destinations, travelers must undergo the third RT-PCR test on Day 12-13.
๖. การรับมอบพระพุทธรูป ๑๓ องค์ที่ถูกลักลอบนำออกจากไทยและถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ กลับคืนสู่ประเทศไทย
เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กได้อัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยมีกำหนดถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โดยกระทรวงการต่างประเทศจะอัญเชิญส่งมอบให้กรมศิลปากรต่อไป
ขอบคุณสำนักงานอัยการนครนิวยอร์ก สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรณีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเพื่อติดตามคืนโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ ของไทยในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ต่อไป
๗. ประชาสัมพันธ์
๗.๑ รายการ Spokesman Live!!! สัมภาษณ์นายอรุษ ตันตสิรินทร์ ผู้สร้างสรรค์คาแรกเตอร์ แอนิเมชั่น Warbie Yama และจ้ำม่ำในไทยทาวน์ ลอสแอนเจลิส หัวข้อ ?Animator ไทย สร้างสรรค์ไกลทั่วโลก? ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. ทาง Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?
๗.๒ รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
- รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตและประธานคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์และวีดิทัศน์จากต่างประเทศที่เข้ามาถ่ายทำในไทย ในหัวข้อ "ประเทศไทยกับศักยภาพในการเป็นเป้าหมายของคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ" เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐-๐๘.๔๕ น. รับฟังย้อนหลังที่ Facebook ?สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย?
- รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) สัมภาษณ์นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ในข้อ ?Thailand?s Economic and Investment Opportunities and Covid-19 Situation in Vietnam? ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ ทาง Facebook ?FM 88 Radio Thailand English?
๗.๓ รายการคุยกับทูต ซีซั่น ๒ สัมภาษณ์นายวราวุธ ภู่อภิญญา เอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในหัวข้อ ?ชาว UAE ชอบมวยไทย โรงพยาบาลไทย และนั่งดูฝนตกที่เมืองไทย?ในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ทาง Facebook ?Saranrom Radio?
๗.๔ การสัมมนาออนไลน์เชิงวิชาการ หัวข้อ ?Envisioning the Future: Thailand - Japan Strategic Economic Partnership? จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ?Way forward for Thailand-Japan Relations in the post COVID-19 World? รและเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยจะบรรยายพิเศษ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมสัมมนาจนถึง ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔ ผ่าน https://forms.gle/yqhxG6vKsqcPNaYk9
๗.๕ การเสวนาออนไลน์เกี่ยวกับข้อควรรู้เพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ ในหัวข้อ "โอกาสในการทำงานภายหลังจบการศึกษา" จัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันและสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ รับฟังย้อนหลังที่ Facebook ?Royal Thai Embassy, Washington D.C.? หรือ Facebook ?EducationUSA Thailand?
๗.๖ การบรรยายสรุปผลการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างไม่เป็นทางการแก่สื่อมวลชน จัดโดยนิวซีแลนด์ (เจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีนี้) ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๒๐.๓๐ - ๒๑.๐๐ น. (เวลาประเทศไทย) โดยนาง Jacinda Ardern นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เป็นผู้บรรยายสรุปด้วยตนเอง สื่อมวลชนไทยลงทะเบียนได้ทางอีเมล์ APEC2021Support@mfat.govt.nz ภายในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๑.๐๐ น. (เวลาประเทศไทย)
ร้บชมย้อนหลัง https://www.facebook.com/watch/live/?extid=0&v=170605668396000&ref=watch_permalink
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ