เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศและมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมเปิดตัวเยาวชน ๑๐ คน ผู้ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย ภายใต้โครงการประกวดออกแบบระดับเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ (5th National Youth Design Awards) พร้อมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงผลงานของผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การตัดสินรอบสุดท้าย ผ่านระบบทางไกล โดยมีคณะกรรมการตัดสินรอบคัดเลือกเข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะและคำแนะนำตามโจทย์หลักการประกวดเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์และศักยภาพเศรษฐกิจไทย ตลอดจนความแข็งแกร่งของกรอบความร่วมมือเอเปค ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ อาวิน อินทรังษี รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะประธานคณะกรรมการ นายปิยภักดิ์ ศรีเจริญ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง นายณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ และนักออกแบบแห่งปีต่าง ๆ
คณะกรรมการฯ ได้คัดเลือก ๑๐ ผลงาน จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวน ๕๙๘ ผลงานในการประชุมผ่านระบบทางไกลเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคมที่ผ่านมา การที่เยาวชนไทยจำนวนมากสนใจส่งผลงานเข้าประกวดสะท้อนถึงความกระตือรือล้นและการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการร่วมเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศที่มุ่งให้ประชาชนไทยทุกภาคส่วน"ตระหนัก เข้าใจ มีส่วนร่วม และใช้ประโยชน์" จากวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นการประชุมที่สำคัญระดับแนวหน้าในภูมิภาค ประกอบด้วย ๒๑ เขตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึงมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและรัสเซียด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังการอบรมเชิงปฏิบัติการ เยาวชนผู้ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศทั้ง ๑๐ คนจะต้องส่งผลงานที่พัฒนาและปรับปรุงแล้ว เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกรอบรองชนะเลิศเพื่อตัดสินคัดเลือกเหลือ ๕ ผลงานเข้าสู่รอบสุดท้าย ซึ่งมีนายธนา เวสโกสิทธิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นที่ปรึกษา และนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ เป็นประธาน ตลอดจนผู้บริหารและผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร สมาคมนักออกแบบ กระทรวงวัฒนธรรมและมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและนักออกแบบแห่งปีต่าง ๆ ร่วมเป็นกรรมการ จากนั้นจะมีการนำเสนอผลงาน ๕ ผลงานที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายต่อคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี ๒๕๖๕ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อตัดสินผลงานตราสัญลักษณ์ที่ชนะเลิศในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ศกนี้ต่อไป ผลงานชนะเลิศจะใช้ในการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพในไทยตลอดปี ๒๕๖๕ โดยหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน และจะได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก ถือเป็นโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงศักยภาพในสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศการประกวดจะได้รับรางวัล ๑๕๐,๐๐๐ บาท รางวัลรองชนะเลิศ ๔ รางวัล รางวัลละ ๕๐,๐๐๐ บาท และรางวัลชมเชย ๕ รางวัล รางวัลละ ๒๐,๐๐๐ บาท
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ