นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ โดยได้ย้ำความร่วมมือในการจัดสรรและกระจายวัคซีนโควิด-๑๙ การเริ่มเปิดการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ MSMEs และสตาร์ทอัพ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่สมดุลกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model)
เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างไม่ทางการ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี ๒๕๖๔ เป็นประธานการประชุม
ที่ประชุมได้หารือการบูรณาการความร่วมมือด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ โดยเฉพาะ (๑) การกระจายวัคซีนแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและการขยายการผลิตวัคซีนเพื่อเอาชนะวิกฤตโควิด-๑๙ (๒) มาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบและเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจตามที่ประชาคมระหว่างประเทศได้ดำเนินการ อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ชั่วคราว การระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนา การออกสิทธิพิเศษถอนเงิน และการปรับระบบภาษีโลก และ (๓) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุมและสมดุลกับสิ่งแวดล้อม?
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอ ๔ ประเด็นสำคัญในการรับมือและฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ โดยในระยะเร่งด่วน ให้เน้น (๑) การจัดสรรและกระจายวัคซีนโควิด-๑๙ ให้ประชาชนทุกคนอย่างรวดเร็วที่สุด และเพิ่มศักยภาพและขยายฐานผลิตวัคซีน (๒) การเริ่มเปิดการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนให้เอเปคผลักดันแนวปฏิบัติด้านการเดินทางร่วมกันและการยอมรับร่วมกันของเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน (๓) มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ MSMEs และสตาร์ทอัพซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนให้กลุ่มเหล่านี้เปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ปกติใหม่ และ (๔) ในระยะยาว นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ โดยไทยมุ่งมั่นที่จะแลกเปลี่ยนโมเดล BCG เพื่อผลักดันการปรับกระบวนทัศน์ของเอเปคไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุล
?การประชุมครั้งนี้เป็นการจัดเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษซึ่งริเริ่มโดยนิวซีแลนด์ จากปกติที่จัดการประชุมระดับผู้นำ ๑ ครั้งต่อปีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องความร่วมมือของเอเปคเพื่อเอาชนะโควิด-๑๙ และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ที่ประชุมยังได้รับรองถ้อยแถลงของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งมีสาระสำคัญที่เน้นความร่วมมือของเอเปคในการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เข้มแข็ง สมดุล มั่นคง ยั่งยืนและครอบคลุม การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม และความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเพื่อเอาชนะโควิด-๑๙ และเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ