รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีความสมดุลการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล
เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๕๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีดาโตะ เอรีวัน เปฮิน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่สองของบรูไนดารุสซาลาม ในฐานะประธานอาเซียนเป็นประธานการประชุม และมีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน รวมถึงเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วม
ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง การดำเนินการตามเป้าหมายและผลลัพธ์ของการเป็นประธานอาเซียนของบรูไนฯ เช่น ความริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และองค์รวมเพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองของอาเซียนต่อกรณีฉุกเฉินและภัยพิบัติ (ASEAN SHIELD) และการส่งเสริมระบอบพหุภาคีนิยม โดยที่ประชุมฯ ย้ำความสำคัญของระบอบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยมในการรับมือกับความไม่แน่นอนและสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเน้นการใช้ประโยชน์จากสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง โดยเฉพาะความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดการเผชิญหน้าและส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังหารือเกี่ยวกับการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการเข้าถึงวัคซีนและความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟู สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อ เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีความสมดุล และเสนอให้อาเซียนพิจารณากำหนดทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกโดยคำนึงถึงการแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาค และย้ำความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา ซึ่งไทยได้ให้การสนับสนุนทางการแพทย์ ทั้งอุปกรณ์ป้องกันและรักษาโรคโควิด-๑๙ รวมทั้งอบรมให้คำปรึกษาทางการแพทย์ออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนเมียนมาในการรับมือกับโรคระบาด
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้มอบหมายให้นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
๑. การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ ๒๓ หารือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนโดยไทยได้ย้ำความสำคัญของการประสานงานระหว่างองค์กรเฉพาะสาขาและระหว่างเสา ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน ความร่วมมือทางกฎหมาย และการบรรจุความร่วมมือภายใต้ AOIP และประเด็นร่วมสมัย เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์และวาระสตรี สันติภาพ และความมั่นคง ในการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๒๕ และการจัดทำแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนฉบับใหม่
๒. การประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ ๒๙ เน้นการผลักดันความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นของอาเซียนในการรับมือกับโควิด-๑๙ โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-๑๙ โดยได้รับรองกรอบการจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียน ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนให้มีการรับรองวัคซีนและใบรับรองการฉีดวัคซีนร่วมกัน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดการเดินทางในภูมิภาค นอกจากนี้ ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนในเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยยังได้ผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อช่วยฟื้นฟูภูมิภาคจากโควิด-๑๙ และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
๓. การประชุมคณะกรรมาธิการสำหรับเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นย้ำความสำคัญของการลงนามในพิธีสารแนบท้ายสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ Plan of Action to Strengthen the Implementation of the SEANWFZ Treaty (ค.ศ. ๒๐๑๘ - ๒๐๒๒) ซึ่งรวมถึงการจัดทำพิธีสาร ASEAN Protocol for Preparedness and Response to a Nuclear and Radiological Emergency โดยไทยได้สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์กับประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และการจัดทำร่างข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ เรื่อง สนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในที่ประชุมสหประชาชาติ สมัยที่ ๗๖
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ