สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔

ข่าวต่างประเทศ Thursday September 9, 2021 14:20 —กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.

ผ่าน Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

๑. นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะของ Eastern Economic Forum (EEF) ในหัวข้อ ?Through crisis towards rejuvenation? A search for ways of growth in a post-pandemic period เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๔

EEF เป็นการประชุมที่รัสเซียจัดเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับต่างประเทศภายใต้นโยบายหันหน้าสู่ตะวันออก (Turn to the East) ของประธานาธิบดีรัสเซีย

นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้วัคซีนโควิด-๑๙ เป็นสินค้าสาธารณะของโลก ขอให้ประเทศที่มีวัคซีนเพียงพอแล้วแบ่งปันวัคซีนให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคโดยเร็ว และเสนอกุญแจสำคัญ ๓ ดอกเพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-๑๙ ภายใต้วิถีปกติใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ได้แก่ (๑) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการรักษาสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความเท่าเทียมทางสังคมและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม (๒) การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน

รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานระหว่างภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลและปรับกฎระเบียบของภาครัฐให้รองรับการค้าแบบดิจิทัล และ (๓) การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้าการลงทุน การท่องเที่ยวและการพัฒนา

เขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกัน พร้อมเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนใน EEC

๒. สถานะล่าสุดของความร่วมมือจากมิตรประเทศในการช่วยไทยรับมือสถานการณ์โควิด-๑๙

๒.๑ จีน

เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายวัคซีนซิโนฟาร์ม ๑๐๐,๐๐๐ โดสจากสภากาชาดจีน เพื่อให้สภากาชาดไทย โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนได้บริจาควัคซีนซิโนแวคให้แก่ไทยแล้ว ๑,๐๐๐,๐๐๐ โดส

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนจะบริจาคเวชภัณฑ์ในการต่อสู้กับโควิด-๑๙ ในภาวะฉุกเฉินให้รัฐบาลไทยเพิ่มเติมอีกเป็นมูลค่าทั้งสิ้น ๑๐ ล้านหยวน

๒.๒ อินเดีย

รัฐบาลอินเดียได้บริจาคเครื่องผลิตออกซิเจน ๓๐๐ เครื่อง ซึ่งได้ขนส่งถึงไทยเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๔ โดยการมอบความช่วยเหลือจากรัฐบาลอินเดียวครั้งนี้สะท้อนถึงไมตรีจิตและความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียที่มีมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ ฝ่ายไทยได้มอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ต่าง ๆ ให้อินเดียเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-๑๙ ในอินเดีย ซึ่งรวมถึงสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ด้วย

๒.๓ ญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาเพิ่มเติมให้ไทย ๓๐๐,๐๐๐ โดส หลังจากที่ได้บริจาควัคซีนแอสตราเซเนกา ๑,๐๕๓,๔๕๐ โดสเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รวมวัคซีนที่รัฐบาลญี่ปุ่นมอบให้ไทยทั้งสิ้น ๑.๓๕ ล้านโดส โดยวัคซีน ๓๐๐,๐๐๐ โดสได้ขนส่งมาถึงไทยแล้วเมื่อคืนวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔

รัฐบาลญี่ปุ่นยังให้การสนับสนุนด้านระบบลูกโซ่ความเย็นที่มีความจำเป็นต่อการจัดเก็บและการขนส่งวัคซีน ระบบการเฝ้าระวังตรวจหาเชื้อ และการพัฒนายารักษาโรคและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมมูลค่ากว่า ๕.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งยังมีแผนที่จะส่งมอบเครื่องผลิตออกซิเจนให้ไทย ๗๗๕ เครื่อง มูลค่า ๑.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

๓. ผลการประชุมโต๊ะกลมระหว่างประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ภูฏาน ครั้งที่ ๑๕ เมื่อวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๔

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงขอบคุณรัฐบาลภูฏานที่ได้มอบวัคซีนโควิด-๑๙ เพื่อช่วยเหลือประเทศไทย ๑๕๐,๐๐๐ โดส บนพื้นฐานที่ไทยจะคืนวัคซีนแก่ภูฏานในอนาคต (swap arrangement) และย้ำว่าไทยจะให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่ภูฏาน

อย่างต่อเนื่อง ผ่านการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและประสบการณ์การพัฒนา โดยเฉพาะหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของไทย และแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) ของภูฏาน

โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยในภูฏานที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ (๑) โครงการส่งเสริมด้านการเกษตรโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ One Gewog One Product (OGOP) และ (๒) โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends From Thailand: FFT) ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการบรรลุเป้าหมาย SDGs จากสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs) ด้วย

นอกจากนี้ ไทยย้ำว่าไทยจะใช้โอกาสที่จะเป็นประธานกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) กระชับความร่วมมือกับภูฏานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค

๕. การฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติในไทยผ่านระบบ EXPATVAC

ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล ได้เปิดให้ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในไทย ทุกกลุ่มอายุและทุกจังหวัด ลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนทางเว็บไซต์consular.go.th ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ มีชาวต่างชาติลงทะเบียนเพื่อขอรับการฉีดวัคซีนแล้ว ๖๑,๐๐๔ คน (ณ วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔) แบ่งเป็น บุคคลอายุต่ำกว่า ๖๐ ปี ๔๘,๑๕๒ คน และบุคคลอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ๑๒,๘๕๒ คน ในจำนวนนี้เป็นสตรีมีครรภ์ ๒๙๑ คน และเป็นผู้มีโรคประจำตัว ๗ กลุ่มโรคเสี่ยง ๔,๓๐๕ คน โดยระหว่างวันที่ ๙ ? ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ มีชาวต่างชาติได้รับการฉีดวัคซีน Pfizer แล้วจำนวน ๑๐,๐๒๑ โดส

ในภาพรวม ระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ? ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ มีชาวต่างชาติได้รับการฉีดวัคซีนรวมแล้ว ๔๓๖,๔๕๕ คน คิดเป็นประมาณร้อยละ ๘.๙๑ ของชาวต่างชาติในประเทศไทย

Latest status of vaccination for foreign residents in Thailand

Since Department of Consular Affairs, Ministry of Foreign Affairs launched a website expatvac.consular.go.th for foreign residents of all age groups nationwide to register for the COVID-19 vaccination on 1 August 2021, the accumulated number of foreign residents registered (as of 8 September 2021) is 61,004 persons - 48,152 of which are under 60 years old and 12,852 are 60 and over. Among those, 291 are pregnant and 4,305 are in 7-disease health condition groups. With the same conditions for Thai nationals, vaccination for foreign residents of older age groups are prioritised while people of younger age groups will soon get vaccinated. And During 9 ? 26 August 2021, 10,021 doses of Pfizer were inoculated to foreign nationals in Thailand.

In an overview, during 28 February ? 26 August 2021, the accumulated number of foreign nationals who got vaccinated is 436,455 or approximately 8.91 percent of all foreign nationals residing in Thailand. The Government will expedite vaccination for both Thai and foreign nationals in Thailand.

๖. มาตรการการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับคนไทยและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ในต่างประเทศ

๖.๑ ฮ่องกง

ตามมาตรการล่าสุดของรัฐบาลฮ่องกงเกี่ยวกับการเดินทางเข้าฮ่องกงจากประเทศไทย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔ ผู้ที่สามารถเดินทางเข้าฮ่องกงได้ คือ (๑) ผู้ที่มีถิ่นพำนักในฮ่องกง (Hong Kong residents) รวมถึงผู้ที่มีวีซ่าทำงานหรือวีซ่านักเรียน/นักศึกษาที่ฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว และ (๒) บุตรของผู้ที่มีถิ่นพำนักในฮ่องกง (Hong Kong residents) ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ซึ่งเดินทางพร้อมกับผู้ที่มีถิ่นพำนักในฮ่องกง (Hong Kong residents) ที่ฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว

ผู้เดินทางเข้าฮ่องกงทุกคนจะต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลฮ่องกง ซึ่งเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา รัฐบาลฮ่องกงได้ประกาศรับรองเอกสารหลักฐานการฉีดวัคซีนของไทยแล้ว

เอกสารหลักฐานการฉีดวัคซีน ได้แก่ (๑) vaccine passport เล่มเหลืองที่ออกโดยกรมควบคุมโรค และ (๒) QR Code โดยอาจเป็น QR Code ในกระดาษที่แนบมากับ vaccine passport เล่มเหลือง หรือ QR Code ที่ปรากฏในเอกสารหลักฐานการฉีดวัคซีน (national certificate) หรือหลักฐานฯ ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถเรียกดูได้จากแอพพลิเคชั่น ?หมอพร้อม?

ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางจากประเทศไทย หรือมีประวัติเดินทางไปประเทศไทยในช่วง ๒๑ วันก่อนเดินทางเข้าฮ่องกง จะต้องเตรียมเอกสารก่อนเดินทางและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-๑๙ ของรัฐบาลฮ่องกง ดังนี้

ก่อนขึ้นเครื่อง

๑. กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มออนไลน์ Health Declaration Form ของรัฐบาลฮ่องกงที่ https://www.chp.gov.hk/hdf/ เพื่อแสดง QR Code ต่อเจ้าหน้าที่ที่ท่าอากาศยานฮ่องกง โดย QR Code จะมีอายุ ๔๘ ชั่วโมง

๒. หลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-๑๙ ที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลฮ่องกง

๓. ผลตรวจ RT-PCR ไม่เกิน ๗๒ ชั่วโมงก่อนกำหนดเวลาเครื่องออก

๔. หลักฐานการสำรองห้องพักในโรงแรมกักตัวในฮ่องกง เป็นเวลา ๒๑ คืน (นับวันที่เดินทางถึงฮ่องกงเป็นวันแรก)

ระหว่างการกักตัว

๕. ตรวจเชื้อฯ ภาคบังคับ ๖ ครั้ง

หลังการกักตัว

๖. เฝ้าระวังตัวเองอีก ๗ วัน

๗. ตรวจเชื้อฯ ภาคบังคับ ในวันที่ ๒๖ นับจากวันที่เดินทางถึงฮ่องกง ที่ศูนย์ตรวจหาเชื้อฯ ของรัฐบาลฮ่องกง (Community Testing Centre)

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Royal Thai Consulate-General, Hong Kong

๖.๒ ซาอุดีอาระเบีย

ตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๔ รัฐบาลซาอุดีฯ ยกเลิกการห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้าซาอุดีฯ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอฟริกาใต้ และอาร์เจนตินา และยกเลิกการห้ามคนซาอุดีฯ เดินทางไป ๓ ประเทศดังกล่าว ดังนั้น คนไทยที่จะเดินทางระหว่างซาอุดีฯ กับไทย รวมถึงนักศึกษาไทยที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในซาอุดีฯ สามารถเดินทางโดยใช้สายการบิน Emirates ผ่านเมืองดูไบ หรือ Etihad ผ่านกรุงอาบูดาบี นอกเหนือจาก Qatar Airways ผ่านกรุงโดฮา หรือ Gulf Air ผ่านกรุงมานามา

๗. ประเด็นชี้แจง

๗.๑ กรณีที่มีผู้กล่าวหาว่ากระทรวงการต่างประเทศปฏิเสธความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-๑๙ จากมิตรประเทศ

ไทยไม่เคยปฏิเสธความร่วมมือด้านวัคซีนของมิตรประเทศ กรณีความร่วมมือกับสิงคโปร์นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ แจ้งว่า สิงคโปร์รู้สึกขอบคุณไทยที่ได้บริจาคอุปกรณ์ตรวจเชื้อโควิด-๑๙ แบบ RT-PCR ให้ในช่วงต้นของการระบาดรุนแรงในสิงคโปร์ ดังนั้น โดยที่สิงคโปร์มีวัคซีนมากพอสำหรับการใช้ในประเทศแล้ว จึงประสงค์จะส่งวัคซีนแอสตราเซเนกามาให้ประเทศไทย ๑๒๐,๐๐๐ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความขอบคุณและขอรับความช่วยเหลือนี้ในรูปแบบการแลกเปลี่ยน (swap) โดยจะส่งวัคซีนคืนให้สิงคโปร์เมื่อไทยมีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการในประเทศเช่นเดียวกับความตกลงที่ไทยได้ทำกับภูฏาน โดยไทยมองว่าเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ได้คิดว่าใครจะเล็ก หรือใหญ่ หรือเป็นการเสียหน้าใครแต่อย่างใด

ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยแสวงหาความร่วมมือด้านวัคซีนโควิด-๑๙ และด้านอื่น ๆ ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในไทย โดยได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือทั้งจากจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ภูฏาน เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์และอินเดีย

๗.๒ กรณีมีบางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไทยกับจีนมีปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างกันหลายประการ

ไทยมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีและใกล้ชิดกับนานาประเทศทั่วโลก รวมทั้งกับมหาอำนาจ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ อินเดีย สหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร และรัสเซีย เป็นต้น

ไทยไม่มีปัญหาใด ๆ ในความสัมพันธ์กับจีน โดยมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนถือเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรกที่เยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๓ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในไทย

ต่อการกล่าวอ้างว่า มีการด้อยค่าวัคซีนจีน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพิ่งในสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ที่ผ่านมา ว่า การที่บางกลุ่มบุคคลด้อยค่าวัคซีนซิโนแวคไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงและความถูกต้องใด ๆ จีนเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับไทยมาเป็นเวลายาวนาน เป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งสองรัฐบาลให้ความสำคัญในทุกมิติ วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองแล้ว และมีประเทศอีก ๓๙ ประเทศทั่วโลกได้ให้

การรับรองและนำไปฉีดให้กับประชาชน

๘. ประชาสัมพันธ์

๘.๑ U.S. News & World Report ร่วมกับ BAV Group ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ VMLY&R บริษัทสื่อสารการตลาดระดับโลก และ Wharton School แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย จัดอันดับประเทศที่มีมรดกทางอารยธรรมที่ดีที่สุด ประจำปี ๒๕๖๔ โดยไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ ๑ ของอาเซียน อันดับ ๒ ของเอเชีย และอันดับ ๗ ของโลก

๘.๒ กิจกรรมออนไลน์ TICA Connect Friends from Thailand Live Show โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ จะจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด ?Enhancing the Role of Volunteer for Global Development? ในวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๓๐ - ๒๑.๐๐ น. โดยจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและใช้ชีวิตของ ๔ อาสาสมัครเพื่อนไทยที่ไปปฏิบัติงานในฐานะตัวแทนประเทศไทยที่ประเทศคู่ร่วมมือต่าง ๆ อาทิ ประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และแอฟริกา และกิจกรรมอื่น ๆ อาทิ การพูดคุยกับแขกรับเชิญพิเศษ ครูเงาะ - รสสุคนธ์ กองเกตุ ที่จะมาร่วมสร้างแรงบันดาลใจในหัวข้อ ?รู้จักตัวเองให้ดีพอ ขอทำดีเพื่อสังคม? และรับชมมินิคอนเสิร์ต ทั้งนี้ สามารถลงทะเบียนเข้าชมได้ที่ www.ticaconnect.com/register โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

๘.๓ รายการ Spokesman Live!!! คุยรอบโลกกับโฆษก กต. สัมภาษณ์นายพิชยพันธุ์ ชาญภูมิดล รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศและผู้อำนวยการสถาบันจีน-ไทย มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย ในหัวข้อ ?ทิศทางการทูตสาธารณะของไทย? ในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. ทาง Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?

๘.๔ รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์นางสาวพิณ ศรีดุรงคธรรม นักวิเทศสหการชำนาญการพิเศษ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ หัวข้อ ?๑๕ ปี อาสาสมัคร เพื่อนไทย? เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รับฟังย้อนหลังทาง Facebook ?สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย?

รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) สัมภาษณ์นายพีระวัฒน์ อัศวปรานี กงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน หัวข้อ ?Next-Generation Automotive: Investment Opportunities in Thailand? ในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ ทาง Facebook ?FM 88 Radio Thailand English?

๘.๕ การแข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษระดับมัธยมรอบชิงชนะเลิศ (MFA Inter-School Debating Championship 2021 final) โดยกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถาบัน Point Avenue

ติดตามชมการแข่งขันโต้วาทีฯ รอบชิงชนะเลิศ ระหว่างโรงเรียนนานาชาติ แองโกลสิงคโปร์กับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๗.๐๐ - ๑๘.๓๐ น. ทาง Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ?

รูปแบบของการแข่งขันในครั้งนี้เป็นไปตาม World Schools Debate ซึ่งมีกรรมการที่มีมาตรฐานในระดับสากลเป็นผู้ตัดสิน มีนักเรียนเข้าร่วมทั้งหมด ๒๕ ทีม จาก ๑๔ โรงเรียนทั่วประเทศ โดยในช่วงก่อนการแข่งขัน นักเรียนจะได้รับความรู้และการฝึกอบรมทักษะด้านการโต้วาทีและซ้อมการโต้วาทีด้วย

๙. ช่วงถาม-ตอบ

  • วิธีการลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ของชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย

ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในไทย ทุกกลุ่มอายุและทุกจังหวัด สามารถลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนทางเว็บไซต์ consular.go.th โดยหลังจากลงทะเบียนจะได้รับอีเมล์เพื่อยืนยันว่าการลงทะเบียนสำเร็จ และในขั้นตอนต่อไป จะต้องรอรับข้อความ SMS จากโรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่แจ้งวัน/เวลาและสถานที่นัดหมายฉีดวัคซีนต่อไป หากมีปัญหาเรื่องการลงทะเบียน สามารถติดต่อกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้ตามข้อมูลติดต่อใน เว็บไซต์ expatvac.consular.go.th

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ