รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีชิลี โดยยินดีต่อการครบรอบ ๖๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย ? ชิลีในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ชูโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เป็นแนวคิดหลักทั้งในการเป็นเจ้าภาพเอเปค ของไทยและการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมปูทางสู่ความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน
เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แทนหารือทางโทรศัพท์กับนายเซบัสเตียน ปิญเญรา เอเชนิเก ประธานาธิบดีชิลี โดยทั้งสองฝ่ายร่วมหารือกระชับความสัมพันธ์ไทย - ชิลี ที่ก้าวหน้าและจะครบรอบ ๖๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๖๕
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำการใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model- BCG ) เป็นแนวทางในการสนับสนุนการฟื้นฟูภูมิภาคจากโควิด-๑๙ ซึ่งจะเป็นแนวคิดหลักของวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕ และการเข้าร่วมของไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) หรือ COP26 นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนซึ่งเป็นสาขาที่ชิลีมีความเชี่ยวชาญ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในปี ๒๕๖๓ ชิลีเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ ๔ ของประเทศไทยในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยมีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น ๗๗๒.๒๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสองประเทศมีความตกลงการค้าเสรี ไทย - ชิลี เป็นกลไกทางการค้าที่สำคัญ โดยภาษีสินค้าทุกรายการภายใต้ความตกลงการค้าเสรีดังกล่าวจะลดเหลือร้อยละ ๐ ในปี ๒๕๖๖
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ