ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ลาว ครั้งที่ ๒๒ ที่ กรุงเทพฯ

ข่าวต่างประเทศ Monday November 8, 2021 13:29 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๓ - ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission - JC) ไทย - ลาว ครั้งที่ ๒๒ ร่วมกับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สปป. ลาว ที่กรุงเทพฯ

การประชุม JC ไทย - ลาว ครั้งที่ ๒๒ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินความร่วมมือไทย - ลาว ภายใต้แนวคิดหลัก คือ ?การฟื้นฟูไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน? โดยทั้งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือที่ครอบคลุมรอบด้านทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อก้าวไปสู่ ?ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) เพื่อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนทั้งสองประเทศ โดยการหารือเป็นไปอย่างราบรื่นด้วยบรรยากาศของมิตรภาพและความเข้าใจซึ่งกันและกัน สรุปประเด็นที่สำคัญของการประชุม ดังนี้

๑. ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงเพื่อส่งเสริมความมั่นคงร่วมกัน

ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญอย่างสูงกับการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน และเห็นพ้องที่จะยกระดับความเข้มงวดการลาดตระเวนตามแนวชายแดนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในทั้งสองประเทศ รวมทั้งความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและการต่อต้านการค้ามนุษย์

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านแรงงานโดยฝ่ายไทยตระหนักถึงบทบาทสำคัญของแรงงานลาวในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยและให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานลาวในประเทศไทย นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันเตรียมความพร้อมในการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายอีกครั้งเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย

๒. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูที่มั่นคงและยั่งยืนของทั้งสองประเทศ

  • การค้า ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าโดยเฉพาะการค้าชายแดน และเห็นชอบที่จะคงเป้าหมายการค้าร่วมกันที่ ๑๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายไปถึงปี ๒๕๖๘ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดการพิจารณายกระดับจุดผ่านแดนและหารือกันเกี่ยวกับการกลับมาเปิดจุดผ่านแดนที่ทั้งสองฝ่ายปิดไปชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ โดยมีมาตรการสาธารณสุขที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน ตลอดจนช่วยให้วิถีชีวิตของประชาชนตามแนวชายแดนสามารถกลับสู่สภาวะปกติ
  • การลงทุน ทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกและคุ้มครองนักลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งจะส่งเสริมการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาระบบโลจิสติกส์และเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินระหว่างประเทศ
  • การส่งเสริมความเชื่อมโยงไร้รอยต่อ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การประสานมาตรฐานและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและการขนส่งระหว่างประเทศในอนุภูมิภาค อาทิ การเร่งรัดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ ๕ (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) และสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ ๖ (อุบลราชธานี - สาละวัน) และการเปิดใช้งานพื้นที่ควบคุมร่วม (Common Control Area: CCA) ณ จุดผ่านแดนถาวรหรือด่านสากลที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกัน นอกจากนี้ สองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการหารือ ๓ ฝ่าย ระหว่างไทย ? สปป. ลาว - จีน เกี่ยวกับการเชื่อมโยงระบบรางให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกันของทุกฝ่าย
  • การอำนวยความสะดวกการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชน ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาความพร้อมและกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนและการไปมาหาสู่ของประชาชน โดยในระยะแรกอาจมุ่งเน้นการเดินทางในลักษณะ one-day trip ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี และนครหลวงเวียงจันทน์
  • ความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ : ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล ความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) ความร่วมมือด้านพลังงาน และการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

๓. ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในระดับประชาชน

  • ความเป็นหุ้นส่วนด้านสาธารณสุข ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญอย่างสูงกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข และจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลตามแนวจังหวัดและแขวงชายแดนไทย - ลาว ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และเตรียมความพร้อมสำหรับโรคระบาดใหม่ในอนาคต ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแห่ง สปป. ลาว ได้เป็นประธานร่วมในพิธีส่งมอบ (๑) ศูนย์บำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดและศูนย์รองรับผู้ป่วยอุบัติเหตุเบื้องต้นและส่งต่อให้แก่โรงพยาบาลเมืองโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์ ซึ่งไทยได้ให้การสนับสนุนการก่อสร้าง และ (๒) อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับเตรียมการรองรับผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-๑๙ แก่โรงพยาบาลเด็ก นครหลวงเวียงจันทน์
  • ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโดยเฉพาะในสาขาการศึกษา เกษตร และสาธารณสุข ให้มีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่านแผนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย - ลาว ระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๖๕)
  • ความร่วมมือด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความสัมพันธ์ระดับประชาชน ทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยฝ่ายไทยพร้อมสนับสนุนทุนการศึกษา ๗๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย - ลาว และทุนฝึกอบรมให้แก่บุคลากรจาก สปป. ลาว รวมทั้งจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและความเข้าใจอันดันดีระหว่างประชาชนของสองประเทศ

๔. ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค

ไทยพร้อมสนับสนุน สปป. ลาว อย่างเต็มที่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ ๑๐ ในปี ๒๕๖๕ และทั้งสองฝ่ายจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของอาเซียน การสร้างประชาคมอาเซียน และการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ