สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
ในปี ๒๕๔๖ ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) หรือ APEC 2003 เอเปคเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการค้าการลงทุนของสมาชิก ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วย ๒๑ เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก เมื่อ ๑๙ ปีมาแล้ว ถึงแม้เอเปคจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและระดับการพัฒนา แต่สมาชิกก็มีจุดแข็งที่สามารถส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นหุ้นส่วน อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านการค้าและการลงทุนเสรีได้
ตั้งแต่คืนวันพรุ่งนี้ (ศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี ๒๕๖๕ ไทยจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ๒๐๒๒ อีกครั้งท่ามกลางบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะขอเน้นย้ำความสำคัญของการเป็นเจ้าภาพการประชุมของคนไทยทั้งประเทศร่วมกัน
๑. นายกรัฐมนตรีรับมอบความเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี ๒๕๖๕ จากนิวซีแลนด์
เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปคซึ่งนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีการค้าของแต่ละเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมการประชุม เพื่อทบทวนการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา และเสนอข้อคิดเห็นเชิงนโยบายต่อแนวทางการดำเนินงานในปีต่อไป ซึ่งจะเป็นปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ในการประชุมนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง การอำนวยความสะดวกการเดินทางอย่างปลอดภัย การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุมยั่งยืน
ในวันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ หลังจากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๘ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ ในช่วงเวลา ๒๐.๔๕ น. ไทยจะรับมอบการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมพิธีรับมอบตำแหน่งเจ้าภาพจากนางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
ขอเชิญทุกท่านติดตามรับชมการออกอากาศพิธีการรับมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปคของไทยปี ๒๕๖๕ พร้อมแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีต่อประชาชนชาวไทยในเช้าวันเสาร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ทางสถานีโทรทัศน์ NBT ททบ.๕ MCOT และ ThaiPBS หลังเคารพธงชาติ (เวลา ๐๘.๐๒ น.)
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะจัดพิธีการเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคอย่างเป็นทางการ และการเสวนาระดมสมอง APEC Media Focus Group ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ณ ไอคอนสยาม เพื่อหารือแนวทางการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยเพื่อให้ประชาชนไทย ?ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม? ตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำมาโดยตลอด
การเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่ไทยจะเปิดตัวและขับเคลื่อนการพลิกโฉมประเทศจากสถานการณ์โควิดไปสู่อนาคต และแสดงความพร้อมในการต้อนรับชาวต่างชาติ ตั้งแต่ระดับผู้นำ นักธุรกิจ และองคาพยพทั้งหมดของเอเปค ตลอดจนสื่อชั้นนำของโลกนับหมื่นคน ที่จะเดินทางมาประเทศไทยตลอดปีหน้า
ติดตามความเคลื่อนไหวของ #APEC2022THAILAND ได้ตามช่องทางนี้
FB: https://www.facebook.com/APEC2022Thailand
IG: https://www.instagram.com/apec2022th
Twitter: https://twitter.com/APEC2022TH
LinkedIn: https://www.linkedin.com/company/apec2022thailand
๒. ผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี กับนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
ก่อนการส่งมอบความเป็นเจ้าภาพที่จะเกิดขึ้น ผู้นำไทยและนิวซีแลนด์ได้มีการพูดคุยหารือทวิภาคีกันด้วย โดยเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี และเพิ่มพูนการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ ในโอกาสที่ไทยจะรับมอบการเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ต่อจากนิวซีแลนด์ และเป็นโอกาสครบรอบ ๖๕ ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ด้วย
นายกรัฐมนตรีทั้งสองเน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศและภูมิภาคจากผลกระทบของโควิด-๑๙ โดยเพิ่มพูนความร่วมมือในการค้าการลงทุน ตลอดจนสาขาที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของไทยและแผนเศรษฐกิจ ๓๐ ปีของนิวซีแลนด์ (New Zealand Economic Plan) อาทิ เทคโนโลยีเกษตร นวัตกรรมอาหาร พลังงานทดแทน รวมทั้งความร่วมมือด้านสาธารณสุข การศึกษา และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งเป็น จุดแข็งของนิวซีแลนด์
นายกรัฐมนตรียังได้ฝากให้ฝ่ายนิวซีแลนด์พิจารณาเปิดประเทศให้แก่กลุ่มนักเรียนและนักศึกษาไทยเป็นลำดับแรกด้วย
๓. รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักรเยือนไทย
นางเอลิซาเบท ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร
การเยือนไทยครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรก (มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย) ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ ของนางทรัสส์ฯ โดยได้เยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี และพบหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
ในการพบหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายย้ำให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกันโดยเฉพาะระดับผู้นำและฝ่ายสหราชอาณาจักรได้เชิญฝ่ายไทยเข้าร่วมการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔ (Strategic Dialogue - SD4) ที่สหราชอาณาจักร ในครึ่งแรกของปี ๒๕๖๕
ทั้งสองฝ่ายได้หารือความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ได้แก่ (๑) ด้านการค้าการลงทุน โดยให้ใช้กลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ครั้งที่ ๑ ระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เพื่อปูทางไปสู่การหารือการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน ฝ่ายไทยได้เชิญชวนฝ่ายสหราชอาณาจักรขยายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วย (๒) ด้านความมั่นคง มุ่งเน้นการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศในโอกาสแรกและกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ (๓) การอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างกัน ฝ่ายสหราชอาณาจักรได้ปรับมาตรการเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรและยอมรับผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ซิโนแวคและซิโนฟาร์มครบโดสสามารถเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ และฝ่ายไทยได้เสนอการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราผู้ถือหนังสือเดินทางทูตระหว่างกัน (๔) สหราชอาณาจักรได้สอบถามถึงโอกาสที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (CPTPP) ภายในปลายปี ๒๕๖๔ ซึ่งฝ่ายไทยแจ้งว่าอยู่ระหว่างพิจารณา (๕) การแลกเปลี่ยนความเห็นต่อประเด็นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและอินโด-แปซิฟิกรวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา อาเซียน และหุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ (AUKUS)
การเยือนไทยของนางทรัสส์เป็นการย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มีมาจะยาวนานกว่า ๔๐๐ ปี รวมทั้งเป็นโอกาสดีให้ทั้งสองฝ่ายกระชับความร่วมมืออย่างรอบด้าน ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง และด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการเติบโตสีเขียวและสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาคที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน
๔. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นำโดยนาย Amerish Bera สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ พรรคเดโมแครต รัฐแคลิฟอร์เนีย และประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านเอเชีย แปซิฟิก เอเชียกลาง และการไม่แพร่ขยายอาวุธ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต อีก ๓ คน ประกอบด้วย นาย Derek Kilmer รัฐวอชิงตัน นาย Juan Vargas รัฐแคลิฟอร์เนีย และนาง Abigail Spanberger รัฐเวอร์จิเนีย เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสเดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ ๗ ? ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
ทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของความเป็นพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานและแน่นแฟ้น และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นที่สองฝ่ายให้ความสำคัญร่วมกัน อาทิ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุน โดยเฉพาะโอกาสของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-๑๙ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับพัฒนาการที่สำคัญในภูมิภาค รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา และบทบาทของอาเซียน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ชื่นชมความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ ๒๖ (COP26) ที่เมือง Glasgow สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ และการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา และย้ำถึงการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อการดำเนินการดังกล่าวของไทย
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยังได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวแม้เป็นช่วงโควิด-๑๙ พร้อมย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสนับสนุนภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ลงทุนในประเทศไทย ความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหาร ไทยมุ่งมั่นเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและความร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดพร้อมสนับสนุนการดำเนินบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกลไกอาเซียน ACMECS และ US-Mekong Partnership
การเยือนครั้งนี้ถือเป็นการเยือนไทยของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ คณะแรกนับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ
๕. ไทยเสนอรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เสนอรายงานประเทศทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รอบที่ ๓ ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์
ไทยเน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของไทยที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนควบคู่กัน อีกทั้งได้สะท้อนความก้าวหน้าการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในด้านต่าง ๆ เพื่อยืนยันบทบาทของไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการยึดมั่นต่อพันธรณีของไทยภายใต้ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี
รายงาน UPR ของไทย ครอบคลุมการดำเนินการ พัฒนาการ ความสำเร็จ ตลอดจนความท้าทาย ทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิพลเมืองและทางการเมือง และสิทธิของกลุ่มต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนและการบริหารจัดการกับความท้าทายและผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ อีกทั้งให้มุมมองเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนในอนาคตของไทย
กระบวนการ UPR เป็นกระบวนการภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) ซึ่งกำหนดให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติ จัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ ทุก ๔ ปีครึ่ง โดยใช้ระบบรัฐสมาชิกเป็นผู้ทบทวนกันเอง (peer review) เพื่อให้ข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติต่อไปอย่างสมัครใจ โดยประเทศไทยได้นำเสนอรายงานฯ มาแล้ว ๒ รอบ (รอบที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๕๔ และรอบที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๕๙) ในกระบวนการจัดทำรายงานฯ และการนำเสนอรายงานฯ ของไทยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อความครอบคลุม สะท้อนมุมมอง และการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในหลายมิติ
การทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในรอบที่ ๓ นี้ เป็นไปในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ และครอบคลุมหลากหลายประเด็น หลายประเทศชื่นชมการดำเนินการของประเทศไทยในการส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ และนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในสถานการณ์โควิด-๑๙ รวมทั้งให้ความสนใจในเรื่องการส่งเสริมสิทธิของเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้โยกย้ายถิ่นฐาน นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ไทยที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ในการพิจารณาสิทธิมนุษย์ชนอย่างต่อเนื่องต่อไป วันพรุ่งนี้ จะมีการรับรองรายงาน UPR และมีการถ่ายทอดทางเว็บไซต์ของ UN https://media.un.org/en/webtv ด้วย
สำหรับข้อเสนอของประเทศต่าง ๆ ที่มีต่อรายงาน UPR ของไทย จะมีการรวบรวมไว้ในการรับรองรายงานในวันศุกร์นี้ และจะมีการพิจารณาข้อเสนอต่าง ๆ ต่อไป
๖. ความคืบหน้าการเปิดประเทศด้วยระบบ Thailand Pass
มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว ๑๔๗,๕๐๓ คน ได้รับอนุมัติแล้ว ๙๒,๙๒๐ คน (สถานะ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๐ น.) ซึ่งแนวโน้มผู้ได้รับอนุมัติแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยมีระบบ auto-approve ที่สามารถแบ่งเบาการตรวจเอกสารใบรับรองวัคซีนแบบ manual ได้ประมาณ ๑ ใน ๓
ในช่วงวันที่ ๑ - ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ มีผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทางท่าอากาศยานทุกแห่ง จำนวน ๓๐,๕๓๘ ราย โดยประเทศต้นทางที่มีผู้เดินทางเข้าไทยมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามลำดับ
กระทรวงการต่างประเทศ รับทราบถึงปัญหาและข้อห่วงกังวลต่าง ๆ ของผู้ลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass บางรายไม่ได้รับ QR Code ซึ่งปัญหาต่าง ๆ อาจมาจากหลายสาเหตุ อาทิ
ผู้ลงทะเบียนไม่ได้อัพโหลดเอกสารการฉีดวัคซีนตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในแบบฟอร์มเอกสาร เอกสารที่โหลดจากกระดาษที่ไม่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตรวจเอกสารด้วยตาเปล่า เพราะไม่สามารถตรวจด้วยระบบการอนุมัติอัตโนมัติได้
การกรอกข้อมูล และแนบเอกสารต่าง ๆ ไม่ตรงตามรายการที่กำหนด รวมทั้งเอกสารการเข้าพักที่โรงแรมที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลที่รับตรวจ RT-PCR
มีการลงข้อมูลซ้ำหลายครั้ง ทำให้เกิดความสับสนในการพิจารณาอนุมัติ บางกรณีลงข้อมูลซ้ำแต่ระบุเงื่อนไขการเข้าพื้นที่แตกต่างกัน (อาทิ เช่น วันที่ ๑ ระบุว่าจะเข้าด้วยวิธียกเว้นการกักตัว แต่ลงทะเบียนวันที่ ๒ เลือกแบบแซนด์บอกซ์ เป็นต้น)
ผู้เดินทางควรเผื่อเวลาให้ตรวจสอบใบรับรองวัคซีนล่วงหน้า เพื่อมั่นใจว่าจะได้รับ QR code ทันเวลา โดยประกาศกำหนดว่าใช้เวลาพิจารณาเอกสาร ๗ วัน แต่โดยเฉลี่ยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถตรวจใบรับรองวัคซีนได้ใน ๓ วัน สำหรับผู้มีความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินขอให้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ในเมืองที่อาศัยอยู่หรือใกล้ที่สุด
กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กรมควบคุมโรค ประสานงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อรับทราบข้อขัดข้องทางเทคนิคต่าง ๆ นำไปปรับปรุงระบบ Thailand Pass ให้สามารถบริการผู้เดินทางได้สะดวกขึ้น โดยได้รับคำแนะนำต่าง ๆ จากผู้ใช้งานนำมาปรับใช้ด้วย โดยคาดว่าการพัฒนาระบบต่าง ๆ (features) จะสามารถใช้ได้ภายในสัปดาห์นี้ อาทิ
พัฒนาให้ผู้ยื่นคำร้องสามารถยื่นเอกสารในรูปแบบ pdf file ด้วย
ทำ drop down list ให้เลือกโรงแรมที่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาล เพื่อป้องกันปัญหาข้อมูลไม่เชื่อมต่อกัน
ให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนเองได้ รวมทั้งสามารถเพิ่มเติมเอกสารได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำ
เร่งประสานงานเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถอ่าน digital vaccine certificate แบบอัตโนมัติให้ได้มากขึ้นจากที่มีอยู่ปัจจุบัน ๓๐ ประเทศ เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่ในการตรวจเอกสาร ซึ่งในระหว่างนี้ กรมควบคุมโรคได้เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลการตรวจเอกสารแล้ว
พัฒนาระบบเพื่อป้องกันระบบขัดข้อง และเพื่อลดระยะเวลาพิจารณาอนุมัติ ซึ่งระยะเวลาในการพิจารณาขึ้นอยู่กับระบบรหัสสาธารณะในการอนุมัติเอกสารวัคซีน (Public Key Infrastructure - PKI) ซึ่งบางประเทศยังไม่มีการรับรองระบบนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ ประสานกับประเทศที่ยังไม่ได้รับรองระบบฯ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาพิจารณาคำร้องลงได้
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ call center กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศหมายเลข ๐๒ ๕๗๒ ๘๔๔๒ ซึ่งปัจจุบันได้เพิ่มคู่สายเป็น ๓๐ สาย และโทรศัพท์มือถือ ๓ สาย รวมทั้งอีเมล support@tp.consular.go.th
ส่วนในกรณีอยู่ในต่างประเทศ สามารถติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของสถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ได้ทุกแห่ง โดยสามารถค้นหาหมายเลขติดต่อได้ ตาม QR code ที่ปรากฏตามภาพฉาย
Update on Thailand Pass system
As of 11 November 2021, 08.00 hrs, the accumulated number of travelers registered through the ?Thailand Pass? website is 147,503 persons ? 92,920 of which have been approved.
From 1-10 November 2021, accumulated number of travelers entered Thailand through international airports is 30,538. Countries of departure with highest numbers of travelers are: the US, Germany, the UK, Japan and South Korea respectively.
We acknowledged some issues with the system, and we are now working to improve the system, with the latest feature being the official support on mobile devices.
Difficulties encountered by some of the registrants of Thailand Pass who were unable to receive their QR Codes may be due to the following reasons:
Registrants did not upload vaccination documents according to the recommendations in the application form.
The information and documents attached were incorrectly filled in.
The same information was entered multiple times leading to confusion in the consideration process. Some names were registered multiple times but with different information.
Some registered their emails incorrectly or because their mailboxes were full, so they were not able to receive their confirmation emails and QR Codes.
Travelers should ensure time in advance to check vaccination certification documents. Even though the announcement states that the consideration process takes up to 7 days but on average the officials of the Ministry of Public Health are able to check the vaccination certification documents within 3 days.
For those who have an urgent necessity or emergency, please contact the Royal Thai Embassy or Consulate-General in your country or nearest to you.
The Ministry of Foreign Affairs, the Digital Government Development Agency and the Department of Disease Control are in constant communication and coordination in order to address all of the technical issues and improve the Thailand Pass system to facilitate travelers. Improved features are expected to be ready this week, namely;
to improve the system to enable registrants to upload PDF files,
to provide a drop down list for choosing hotels that are connected to hospitals,
to add a function for registrants to check on progress on their application, without having to register again,
to create functions that registrants can individually check their registration status and add additional required documents without making a new registration,
to provide an option for registrants to get the QR code by themselves when approved, without the need to wait for a confirmation email,
to speed up coordination on adding to the list of 30 countries for which the digital vaccine certificate is available, which will reduce the burden for officials in checking documents and minimize consideration time.
Although consideration of applications may not be immediate, we aim for it to take the minimum amount of time possible. Thus far, some approvals have taken a few days. But in any case, applicants are still encouraged to allow 7 days ahead of the intended date of travel to ensure that registrants receive the QR code in time.
Any additional queries can be addressed to the call center and email of the Department of Consular Affairs as follows;
- Call Center (24 Hours /with 30 additional lines and 3 mobile numbers for this purpose): 02 572 8442/ 065-205-4247 / 065-205-4248 / 065-205-4249;
- E-mail (For reporting technical problems only): support@tp.consular.go.th
People residing outside of Thailand may also contact the nearest Royal Thai Embassy and Royal Thai Consulate-General.
๗. มาตรการการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับคนไทยและมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ในต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น)
๗.๑ สหรัฐฯ
รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปรับมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ คือ
๑. หลักฐานการฉีดวัคซีน ผู้โดยสารที่ไม่ได้มีสัญชาติสหรัฐฯ หรือมีถิ่นพำนักในสหรัฐฯ ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ อย่างครบถ้วนก่อนขึ้นเครื่องบิน
วัคซีนที่สหรัฐฯ ยอมรับ คือ วัคซีนที่ อย.สหรัฐฯ อนุมัติ หรืออนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization: EUA) ในสหรัฐฯ หรือวัคซีนที่ WHO อนุญาตให้ใช้กรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Listing) ได้แก่ Janssen (J&J), Pfizer, Moderna, AstraZeneca, Covishield, Sinopharm และ Sinovac
ผู้ที่ถือว่าฉีดวัคซีนครบถ้วนจะต้องได้รับวัคซีนแบบ ๑ โดส หรือ ๒ โดสเข็มสุดท้าย อย่างน้อย ๒ สัปดาห์ขึ้นไปก่อนวันเดินทาง ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนแบบ ๒ โดส สามารถฉีดไขว้ประเภทของวัคซีนได้
๒. ผลตรวจโควิด-๑๙ ผู้โดยสารทุกสัญชาติที่อายุตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป ต้องแสดงหลักฐาน ได้แก่
(๑) ผลตรวจโควิด-๑๙ เป็นลบก่อนขึ้นเครื่องบิน โดยผู้ได้รับวัคซีนครบโดสต้องตรวจภายใน ๓ วันก่อนวันเดินทาง และผู้ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดสต้องตรวจภายใน ๑ วันก่อนวันเดินทาง โดยต้องเป็นผลตรวจแบบ viral test (รวมถึงแบบ RT-PCR) หรือการตรวจแบบ antigen test ซึ่งได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศต้นทาง หรือ (๒) สำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-๑๙ ต้องแสดงหลักฐานการติดเชื้อโควิด-๑๙ ในช่วง ๙๐ วันก่อนการเดินทาง และหลักฐานการได้รับอนุญาตจากแพทย์ให้เดินทางได้เนื่องจากหายแล้ว
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ได้ที่เว็บไซต์ของ CDC สหรัฐฯ https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/travelers/proof-of-vaccination.html
๗.๒ ญี่ปุ่น
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกประกาศมาตรการผ่อนคลายสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เป็นต้นมา ดังนี้
(๑) ลดระยะเวลากักตัวจาก ๑๐ วัน เหลือ ๓ วัน สำหรับชาวญี่ปุ่น ชาวต่างชาติผู้ที่มีสถานะพำนักในญี่ปุ่นและเดินทางกลับเข้าญี่ปุ่น และชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นเพื่อทำธุรกิจ/การทำงานระยะสั้น และการเดินทางเข้าระยะยาวที่ได้รับการอนุมัติในกรณีอื่น ๆ โดยจะต้องมีเงื่อนไข ดังนี้
ต้องได้รับการฉีดวัคซีน Pfizer Moderna หรือ AstraZeneca ครบ ๒ เข็มเท่านั้น
ก่อนเดินทางเข้าญี่ปุ่น ต้องได้รับการอนุมัติการเดินทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่นก่อน โดยจะต้องยื่นแผนกิจกรรมและการเดินทางภายในญี่ปุ่น (Designated Activities) ระหว่างวันที่ ๔ ? ๑๔ เมื่อเดินทางถึงญี่ปุ่นให้ทางการญี่ปุ่นพิจารณา นอกจากนั้น นายจ้างหรือหน่วยงานผู้รับผิดชอบ จะต้องยื่นจดหมายรับรองการเดินทางและกิจกรรม (designated activities) ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่น เพื่อพิจารณาอนุมัติการเดินทาง
(๒) อนุญาตให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ฝึกงานชาวต่างชาติ (technical trainees) สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้จำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จำกัดไว้สูงสุดวันละ ๓,๕๐๐ คน เป็น ๕,๐๐๐ คน โดยก่อนเดินทางเข้าญี่ปุ่นจะต้องยื่น designated Activities และมีต้นสังกัดเป็นผู้รับรองและดูแลกิจกรรมในช่วงแรกด้วย โดยจะต้องกักตัว ๑๔ วัน
ญี่ปุ่นไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
รายละเอียดเพิ่มเติมของเงื่อนไขการเดินทางเข้าญี่ปุ่น สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว https://site.thaiembassy.jp และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย https://www.th.emb-japan.go.jp/itprtop_th/index.html
๘. การประกวดโลโก้ความสัมพันธ์ไทย - ออสเตรเลีย
กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา และสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย จัดโครงการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๐ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ซึ่งจะตรงกับวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๕ ภายใต้หัวข้อ ?70 years Australia-Thailand: Partnership & Prosperity? โดยตราสัญลักษณ์ที่ชนะการประกวด จะปรากฏบนสื่อประชาสัมพันธ์ที่ใช้ในกิจกรรมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ตลอดปี ๒๕๖๕ และมีรางวัลสำหรับผู้ชนะการประกวด อาทิ บัตรโดยสารเครื่องบินไป - กลับ เส้นทางกรุงเทพฯ ? นครซิดนีย์ หรือนครซิดนีย์ ? กรุงเทพฯ และที่พักในกรุงเทพฯ หรือนครซิดนีย์ จำนวน ๓ คืน ทั้งนี้ ผู้เข้าประกวดจะต้องมีสัญชาติไทยหรือออสเตรเลีย และส่งผลงานได้ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางhttps://thailand.embassy.gov.au/bkok/70_anniversary_logo_competition_Th.html
๙. รายการ คุยกับทูต ซีซั่น ๒
วันเสาร์นี้ (วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) เวลา ๑๓.๐๐ น. รายการคุยกับทูตซีซั่น ๒ จะสัมภาษณ์เอกอัครราชทูตภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ในหัวข้อ ?อินเดียกับบทบาทโรงงานผลิตยาของโลก? สามารถติดตามได้ทางเว็ปไซต์ the Cloud เฟสบุ๊คกระทรวงการต่างประเทศ และช่องทางต่าง ๆ ตามที่ปรากฏบนภาพฉาย
๑๐. รายการ Spokesman Live!!!
ในวันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ขอเชิญติดตามรายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หัวข้อ ?การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีกับการต่างประเทศ? สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?
๑๑. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
ในวันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายพฤทธิพงษ์ ปุณฑริโกบล ผู้อำนวยการกองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หัวข้อ ?ไทยเตรียมพร้อมรับหน้าที่เจ้าภาพ APEC 2022? สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ Facebook ?สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย?
ในวันพรุ่งนี้ (วันศุกร์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) เวลา ๐๘.๐๕ รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นางสาวชนิตนาท ญาณกิตติกุล นักการทูตปฏิบัติการ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) หัวข้อ ?TICA?s Development Diplomacy in Public Health during the COVID-19 Era? สามารถรับฟังย้อนหลังได้ทาง Facebook ?FM 88 Radio Thailand English?
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ