สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

ข่าวต่างประเทศ Friday November 26, 2021 14:21 —กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์สัญจร

วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

วันนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ได้จัดการ?แถลงข่าวประจำสัปดาห์สัญจร? ณ จุดผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้มีการจัดการพาเดินเยี่ยมชมขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศไทยภายใต้ระบบ Thailand Pass อย่างละเอียดจากสถานที่จริงในโอกาสนี้ด้วย

ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่ระบบ Thailand Pass ได้เปิดใช้งาน กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการการทำงานอย่างเต็มที่

ในการรวบรวมข้อคิดเห็นจากผู้ใช้งาน และนำมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยตามนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล

๑. การเปิดประเทศด้วยระบบ Thailand Pass

ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบ Thailand Pass แล้ว ๒๙๖,๘๔๒ คน ได้รับอนุมัติแล้ว ๒๓๖,๑๘๔ คน หรือเกือบร้อยละ ๘๐ โดยในจำนวนดังกล่าว ได้รับการอนุมัติแบบอัตโนมัติ ๑๒๔,๘๑๔ คน (สถานะ ณ วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น.)

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันปรับปรุงระบบและเพิ่มรูปแบบการใช้งานต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น อาทิ เพิ่มให้สามารถอัพโหลดเอกสารเป็นไฟล์ PDF ได้ ให้ผู้ที่ลงทะเบียนสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานะและดาวน์โหลด QR Code ได้ด้วยตนเองผ่าน access code โดยไม่ต้องรออีเมล์อนุมัติ รวมทั้งการจัดทำรายชื่อโรงแรม SHA Extra Plus ที่เชื่อมต่อข้อมูลถึงโรงพยาบาลได้ ซึ่งขณะนี้ผู้ใช้งานหลายคนก็ได้แสดงความพึงพอใจ โดยได้รับอนุมัติ QR Code ภายในไม่กี่นาทีหลังลงทะเบียน

Updates on Thailand Pass system

As of 25 November 2021, 09.00 hrs, the accumulated number of travelers registered through the ?Thailand Pass? website is 296,842 persons ? 236,184 of which or almost 80 percent have been approved. 124,814 of those were approved by the auto-approved system.

All related agencies have addressed all of the technical issues and improved the Thailand Pass system to facilitate travelers into the country. The additional features include:

A dropdown list for selecting eligible SHA Extra Plus hotels that are connected to hospitals;

Registrants can individually check their registration status and download the QR code once approved by access code without having to wait for a confirmation e-mail; and,

Registrants can now upload relevant documents in PDF.

Many registrants have expressed satisfaction over the efficiency of the system as they received the approval QR Code within minutes after registration.

Today, the Ministry of Foreign Affairs also organised a virtual walkthrough to show the real operation at the Thailand Pass checkpoint at Suvarnabhumi International Airport, including the process of document check for travelers entering Thailand, which usually takes only 20 seconds.

๒. นายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

การประชุมจัดขึ้นเพื่อฉลองวาระครบรอบ ๓๐ ปีความสัมพันธ์อาเซียน ? จีน โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ทรงเป็นองค์ประธานร่วมกับประธานาธิบดีจีน

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำ (๑) วิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้พร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ ๒๑ ท่ามกลางสถานการณ์

โควิด-๑๙ และความท้าทายอื่น ๆ ในอนาคต โดยอาเซียนสามารถเรียนรู้จากความสำเร็จของจีนในการขจัดความยากจนและความหิวโหย (๒) การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมจากรากฐาน ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนทุกช่วงวัย นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด และเน้นเสริมสร้างศักยภาพของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ MSME ผู้ประกอบการสตรี และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับยุคปฏิรูปอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และ (๓) ความมุ่งมั่นของไทยที่จะผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป โดยย้ำการเสริมสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งและความยั่งยืนในทุกมิติ รวมถึงเสนอโมเดลเศรษฐกิจเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)

นายกรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำความสำคัญในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ รวมทั้งดุลยภาพเชิงยุทธศาสตร์ในสถาปัตยกรรมของภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง ยืนยันการสานต่อบทบาทที่สร้างสรรค์ในการผลักดันความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และสนับสนุนการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC) และการเจรจาจัดทำประมวลแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ให้สำเร็จโดยเร็ว

ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุมฯ ด้วย

๓. กิจกรรมในโอกาสการเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ของไทย และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ (ISOM)

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศจัดกิจกรรมเปิดตัวตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี ๒๕๖๕ ณ ไอคอนสยาม โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วม โดยมีการมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ รองชนะเลิศและชมเชยจากการประกวดตราสัญลักษณ์ รวมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับเอเปคและการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ซึ่งนิทรรศการยังคงจัดแสดงที่ไอคอนสยามจนถึงวันที่ ๗ ธันวาคม ศกนี้ โดยกระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนงที่เข้าร่วมกิจกรรมและประชาสัมพันธ์อย่างคับคั่ง

ภายหลังการเปิดตัวตราสัญลักษณ์ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมระดมสมอง APEC Media Focus Group ครั้งที่ ๒ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจของสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย และหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางและยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยให้ประชาชนไทย ?ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม? ตลอดจนใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพเอเปคในการแสดงศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทย โดยมีสื่อมวลชนไทยและสื่อต่างประเทศในไทยเข้าร่วมกว่า ๕๐ คน

ในโอกาสนี้ ที่ประชุมระดมสมองเห็นพ้องว่า สื่อมวลชนเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐกับประชาชน การผลักดันความร่วมมือเอเปคได้สำเร็จยิ่งขึ้นต้องอาศัยการปฏิบัติของภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยสูงสุด

ระหว่างวันที่ ๑ ? ๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศจะจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ (APEC ISOM) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต จ. ภูเก็ต ซึ่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และเป็นการประชุมแบบพบหน้า (physical meeting) ของเอเปคครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยในวันที่ ๑ ธันวาคม จะเป็นการสัมมนา Symposium on 2022 Priorities Programme เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ถึงประเด็นความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญในช่วงการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี ๒๕๖๕ และวันที่ ๓ ธันวาคม จะเป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ (APEC Informal Senior Officials? Meeting - ISOM) ทั้งนี้ สื่อมวลชนที่สนใจสามารถลงทะเบียนทาง https://forms.gle/QLE7SoeWaYiqE7Hm6 ภายในวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๖.๓๐ น.

๔. การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-เวียดนาม (Joint Commission on Bilateral Cooperation-JCBC) ครั้งที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ผ่านระบบทางไกล

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุม ร่วมกับนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม ภายใต้แนวคิด ?ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งเพื่อการฟื้นฟูและเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน? เพื่อผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์รูปธรรม และช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

หารือแผนการแลกเปลี่ยนเยือนระดับสูงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี ๒๕๖๕ อาทิ การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat ? JCR) ครั้งที่ ๔ ซึ่งเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพ

ประเด็นสำคัญของการประชุมประกอบด้วย ๓ ประเด็น ได้แก่

(๑) ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกัน พัฒนาและวิจัยวัคซีน แลกเปลี่ยนข้อมูล เพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยขณะนี้ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ ๑ ของเวียดนามในอาเซียน และจะดำเนินการสำคัญร่วมกัน อาทิ การบรรลุเป้าหมายการค้า ๒๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ๒๕๖๘ การจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) การอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าข้ามแดน และการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของไทยในเวียดนาม

(๒) ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนและการหารือระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ และส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลและการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

(๓) ความเป็นหุ้นส่วนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ส่งเสริมความร่วมมือในระดับประชาชน โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาและการฝึกอบรม แลกเปลี่ยนเยาวชน และความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น

มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-เวียดนาม ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยกับเวียดนาม (๒) ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเวียดนาม และ (๓) การสถาปนาเมืองคู่มิตรระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับจังหวัดเถื่อเทียน-เว้

๕. การหารือทวิภาคีระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับนาง Jutta Urpilinen กรรมาธิการยุโรปด้านหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ผ่านระบบทางไกล

เห็นพ้องว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG กับแผน European Green Deal (EGD) ของสหภาพยุโรปมีเป้าหมายที่สอดคล้องกันและเป็นโอกาสสำหรับความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีสีเขียว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจหมุนเวียน การต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) สมุทราภิบาล (Ocean Governance) การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และความย้ำร่วมมือในกรอบอาเซียน อาทิ กองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน และศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทย

หารือ (๑) การมีส่วนร่วมของเยาวชนและประชาชนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการจัดตั้งเวที ASEAN-EU Youth Forum เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนในสองภูมิภาค และ (๒) การบรรลุการจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (PCA) โดยเร็ว

๖. การรับมอบวัคซีนโมเดอร์นาจำนวน ๑ ล้านโดส จากสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายวิชชุ เวชชาชีวะ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิก น.พ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายไมเคิล ฮีธ อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้ร่วมรับวัคซีนโมเดอร์นา ๑,๐๐๐,๐๒๐ โดส ซึ่งต่อมา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานรับมอบวัคซีนดังกล่าวจากฝ่ายสหรัฐฯ

กระทรวงการต่างประเทศขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อความร่วมมือในการรับมือกับโควิด-๑๙ ที่ใกล้ชิด ซึ่งสะท้อนถึงมิตรภาพอันยาวนาน และความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยตั้งแต่ช่วงเริ่มการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ สหรัฐฯ ได้สนับสนุนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ ตลอดจนให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการมอบวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ของบริษัทไฟเซอร์ ๑,๕๐๓,๔๕๐ โดส เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ที่ผ่านมา ทำให้จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ได้มอบวัคซีน mRNA ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ให้แก่ไทยแล้วกว่า ๒.๕ ล้านโดส

๗. การดูแลคนไทยที่ถูกกักกันและบังคับให้ทำงานอย่างผิดกฎหมายในกรุงพนมเปญ

ตามที่ปรากฏบนข่าวว่า มีกลุ่มชาวไทยถูกหลอกลวงให้ไปทำงานผิดกฎหมายที่กัมพูชา โดยถูกกักกันและบังคับให้ทำงานอย่างผิดกฎหมายในแก๊งคอลเซนเตอร์ และเว็บไซต์พนัน ให้อดอาหาร และถูกข่มขู่ทำร้ายร่างกาย จนต้องขอความช่วยเหลือจากทางการไทย นั้น กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล ได้รวบรวมข้อมูลและนำส่งให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ เพื่อแจ้งความต่อทางการกัมพูชา โดยหลังจากที่ตำรวจกัมพูชาได้ช่วยเหลือคนไทยออกมาแล้ว สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ให้ความช่วยเหลือดูแลคนไทยกลุ่มดังกล่าวระหว่างรอการเดินทางกลับประเทศไทย

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือจากคนไทยที่ถูกหลอกลวงไปทำงานที่กัมพูชามากกว่า ๑๐๐ ครั้ง และสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ช่วยเหลือคนไทยจากขบวนการดังกล่าวมาแล้วว่า ๕๐๐ คน

กระทรวงการต่างประเทศจึงขอแจ้งเตือนผู้ที่สนใจไปทำงานที่ประเทศกัมพูชา หากเห็นโฆษณารับสมัครงานในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีค่าตอบแทนสูงผิดปกติ ขอให้พิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน และตรวจสอบข้อมูลข่าวสารจากกรมการจัดหางานก่อนตัดสินใจตอบรับไปทำงานในกัมพูชาและประเทศอื่น ๆ เพราะอาจถูกล่อลวงเข้าเมืองหรือทำงานอย่างผิดกฎหมาย และอาจเป็นอันตรายต่อตนเอง

๘. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์นางสาววินัญดา วรรณสิน นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กรมสารนิเทศ หัวข้อ ?กรมสารนิเทศกับนโยบาย circular และความมุ่งมั่นสู่การเป็นสำนักงานสีเขียว? เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. ทาง Youtube ?MFA Thailand Channel?

รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นางสาวปฤณัต อภิรัตน์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หัวข้อ "APEC Informal Senior Officials' Meeting (ISOM)"

ในวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ ทาง Youtube ?MFA Thailand Channel?

๙. รายการ Spokesman Live!!!

รายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์ ดร.วิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย หัวข้อ ?สตรีคนแรกของไทยในบทบาทสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ? ในวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ทาง Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?

๑๐. รายการ คุยกับทูต ซีซั่น ๒

รายการคุยกับทูต ซีซั่น ๒ จะสัมภาษณ์นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา หัวข้อ ?เวียนนา เมืองของทูตในละครไทย ศูนย์กลางแห่งดนตรีคลาสสิกที่น่าอยู่ติดอันดับโลกและมีพืชผักสวนครัวไทย? วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ทางเว็บไซต์ the Cloud และ Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ?

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ