ไทยนำเสนอหัวข้อหลักการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคประจำปี ๒๕๖๕ และร่วมระดมสมองกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนหัวข้อหลักและประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันเพื่อให้เอเปคเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ และมุ่งไปสู่การเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ยั่งยืน สมดุล และทุกคนมีส่วนร่วม ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG Economy)
เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศจัดการสัมมนาเชิงอภิปราย หัวข้อ ประเด็นสำคัญของการประชุมเอเปค ปี ๒๕๖๕ ที่โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต จ. ภูเก็ต เพื่อนำเสนอประเด็นสำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคประจำปี ๒๕๖๕ ของไทยภายใต้หัวข้อหลัก ?เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล? และวางพื้นฐานไปสู่การประชุมเอเปคตลอดปี ๒๕๖๕ โดยมีภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์การระหว่างประเทศ ภาคเอกชน เจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจเอเปค ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของการประชุมเอเปคในปีหน้า โดยเฉพาะการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ อย่างครอบคลุม ยั่งยืน และสมดุล
?นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปคประจำปี ๒๕๖๕ ได้กล่าวเปิดและย้ำความสำคัญของเอเปคในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด เพื่อขับเคลื่อนการค้าและการลงทุน ปรับกระบวนทัศน์สู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม
นอกจากนี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวสุนทรพจน์นำเสนอแนวคิด BCG economy และการปรับเปลี่ยนมุมมองการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืน และเด็กชายภูมิ ตันศิริมาศ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นเยาว์ ร่วมนำเสนอมุมมองการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนที่เริ่มจากพลังของตัวบุคคล
?ประเด็นที่ได้มีการหารือ ได้แก่ บทบาทของภาครัฐและเอกชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น โดยภาครัฐจะต้องให้สิทธิประโยชน์และดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการปรับตัวของเอกชน เอกชนจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจจากการมุ่งแสวงผลกำไรไปสู่ความยั่งยืน ขณะที่ภาคการเงินจะต้องสรรหาเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสีเขียว นอกจากนี้ ภาคการเดินทางและท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-๑๙ จึงจำเป็นต้องฟื้นฟูการเดินทางระหว่างเขตเศรษฐกิจที่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วน โดยแนวทางที่เป็นไปได้ คือ การมีมาตรการเดินทางและหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ที่สอดคล้องและใช้ร่วมกันได้ระหว่างเขตเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เอเปคควรร่วมมืออย่างรวดเร็วและใกล้ชิดยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอและมีความเสี่ยงสูงหากไม่ลงมือทำในตอนนี้
?การสัมมนาเชิงอภิปราย หัวข้อ ประเด็นสำคัญของการประชุมเอเปค ปี ๒๕๖๕ ได้ช่วยวางรากฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอหัวข้อหลัก ประเด็นสำคัญ โครงการ และผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่ไทยจะผลักดันในปีหน้า และร่วมกันวางแผนงานการทำงานของเอเปคตลอดปี ๒๕๖๕ ต่อไป
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ