สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๔

ข่าวต่างประเทศ Friday December 17, 2021 13:59 —กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ณ ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ และทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

โดยที่สถานการณ์โควิด-๑๙ ทั่วโลกได้กลับมาค่อนข้างรุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนมาตรการเดินทางเข้าเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยคนไทยบางส่วนถูกปฏิเสธเข้าเมือง เนื่องจากมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเงื่อนไขการเดินทาง อาทิ บางประเทศในยุโรปอนุญาตให้เข้าเมืองเฉพาะ ?การเดินทางที่จำเป็น? เท่านั้น รวมทั้งแต่ละประเทศมีมาตรการรับรองวัคซีนแตกต่างกัน จึงขอให้ผู้เดินทางชาวไทยตรวจสอบกฎระเบียบการเข้าเมืองและการฉีดวัคซีนอย่างเคร่งครัดก่อนเดินทางไปต่างประเทศ โดยสามารถสอบถามข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศที่จะเดินทางไป และสถานเอกอัครราชทูตประเทศนั้น ๆ ในไทย

๑. การเยือนไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

เมื่อช่วงเย็นของวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ ได้ปรากฏเป็นข่าวว่า สื่อมวลชนสหรัฐฯ ที่ร่วมคณะของนาย Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตรวจพบเชื้อโควิด-๑๙ โดยในช่วงเดียวกัน คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ติดต่อกับกระทรวงการต่างประเทศทันทีเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้นำไปสู่การยกเลิกการเดินทางเยือนไทย

ในช่วงค่ำของวันเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้โทรศัพท์ถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความเสียใจที่ไม่สามารถเดินทางเยือนไทยในครั้งนี้ได้ เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของบุคคลในคณะฝ่ายสหรัฐฯ และของบุคคลในไทยที่ฝ่ายสหรัฐฯมีกำหนดการจะพบปะด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนสหรัฐฯในโอกาสแรกและหวังว่าจะได้มีโอกาสเยือนไทยในอนาคตอันใกล้ พร้อมย้ำว่าจะใช้โอกาสการหารือครั้งต่อไปเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรไทย-สหรัฐฯให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป

๒. การประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของกลุ่มประเทศ G7 เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๔

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุม G7 Foreign and Development Ministers? Meeting ผ่านระบบทางไกล โดยมีนางเอลิซาเบท (ลิซ) ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและความเท่าเทียมสหราชอาณาจักร เป็นประธาน และผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 และแขกของประธาน ได้แก่ ออสเตรเลีย สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพแอฟริกา และประเทศสมาชิกอาเซียน

ในการประชุมอาเซียน-G7 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสมาชิก G7 ซึ่งต่างมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับอาเซียนในฐานะคู่เจรจาหรือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อสนับสนุนอาเซียนในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียน และฟื้นฟูอย่างยั่งยืนภายหลังโควิด-๑๙ นอกจากนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้เข้าร่วมการประชุม G7 ในหัวข้อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล และการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีนและความมั่นคงด้านสาธารณสุข

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ และบทบาทที่สร้างสรรค์ของ G7 ในอินโด-แปซิฟิกผ่านการดำเนินความร่วมมือในสาขาภายใต้เอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) รวมทั้งได้ผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises ? MSMEs) การส่งเสริมการเงินสีเขียวเพื่อระดมทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการนำแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับโลก ตลอดจนส่งเสริมการเข้าถึงและการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนวาระเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) เพื่อช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางสาธารณสุขของโลก

๓. กิจกรรมฉลองโอกาสครบรอบ ๗๕ ปี ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๔

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดกิจกรรมฯ และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ โดยมี นางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา ( Armida Salsiah Alisjahbana) เลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมกล่าวในงานด้วย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเน้นย้ำบทบาทที่ "เข้มแข็ง สร้างสรรค์ และต่อเนื่อง" ของไทยในฐานะสมาชิกและหุ้นส่วนด้านการพัฒนาของสหประชาชาติตลอด ๗๕ ปี

ที่ผ่านมา ชูความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG และขอให้สนับสนุนเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ติดตามบันทึกรายการการถ่ายทอดงานได้ทางเฟซบุ๊ก ?กระทรวงการต่างประเทศ?

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวคำปราศรัยเนื่องในวาระครบรอบ ๗๕ ปีการเป็นสมาชิกสหประชาชาติของไทย โดยย้ำความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาความสามารถของบุคลากรด้านการทูตพหุภาคี ด้วยการสนับสนุนให้ปฏิบัติงานหรือดำรงตำแหน่งสำคัญในสหประชาชาติรวมทั้งยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือพหุภาคีภายใต้สหประชาชาติ

นายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติ ได้มีข้อความชื่นชมบทบาทด้านการทูตพหุภาคีของไทย และขอบคุณไทยที่เป็นประเทศเจ้าบ้านที่ดีในการเป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานสหประชาชาติ โดยเฉพาะ UNESCAP และสนับสนุนภารกิจของสหประชาชาติตลอด ๗๕ ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับนัยสำคัญของข้อความทางวีดิทัศน์ของนายอับดุลเลาะฮ์ ชะฮีด ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖ ชื่นชมข้อริเริ่มที่สร้างสรรค์ของไทย อาทิ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บทบาทของไทยในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก และการที่ไทยได้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ในสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง

๔. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกำหนดร่วมประชุม

คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) ไทย ? กัมพูชา ครั้งที่ ๑๑ ณ กรุงพนมเปญ และเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๔

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งนี้จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด?ฟื้นฟูไปด้วยกันเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง? (Peace, Prosperity, Recovery Together) โดยจะมุ่งเน้นความร่วมมือใน ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-๑๙ (๒) ความร่วมมือเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองตามแนวชายแดน และ (๓) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน

ไทยและกัมพูชาจะร่วมกันทบทวนความคืบหน้าความร่วมมือต่าง ๆ ที่ผ่านมา และกำหนดทิศทางความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองระหว่างกัน โดยกระทรวงการต่างประเทศจะนำเสนอสรุปผลการประชุมในโอกาสแรกต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ด้วย

๕. ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๒-๒๐๒๓ เป็นสมัยที่ ๙

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ ที่ประชุมสมัชชา สมัยสามัญ ครั้งที่ ๓๒ ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ได้เลือกตั้งคณะมนตรี IMO วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๒ ? ๒๐๒๓ ที่สำนักงานใหญ่ IMO ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งไทยได้รับเลือกตั้งจากสมาชิก IMO ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี IMO กลุ่ม C ด้วยคะแนนเสียง ๑๐๗ เสียง (เป็นอันดับที่ ๑๙ ของประเทศที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด ๒๐ ประเทศ) จากรัฐสมาชิกที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมด ๑๖๐ ประเทศ ส่งผลให้ไทยได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรี IMO ต่อเนื่องเป็นวาระที่ ๙ ติดต่อกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ สะท้อนความไว้วางใจที่รัฐสมาชิก IMO ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของไทยในเวทีระหว่างประเทศในด้านกิจการทางทะเล

ในการสมัครรับเลือกตั้งในวาระนี้ ประเทศไทยได้ชูประเด็นเรื่องการขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกด้านกิจการทางทะเลเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากประเทศสมาชิก IMO และสอดคล้องบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์ของไทยในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในทุกมิติในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก

องค์การทางทะเลระหว่างประเทศเป็นเวทีในการสร้างความร่วมมือเพื่อกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล และมีประเทศสมาชิก ๓ กลุ่มคือ A B และ C โดยกลุ่ม A เป็นประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศ และกลุ่ม B และ C เป็นกลุ่มที่มีผลประโยชน์ลดหลั่นลงมา

On 10 December 2021, Thailand was re-elected to the Council of the International Maritime Organization (IMO) in Category ?C? for the term 2022-2023 at the elections held during the 32nd Session of the IMO Assembly at the headquarters of the IMO in London.

Thailand received 107 votes out of the total of 160 votes casted (ranked the 19th) and is among the 20 countries elected for Category C. This is the 9th consecutive term which Thailand has served in the IMO Council, under Category ?C?, since having been first elected in 2006.

In presenting the candidature, Thailand championed the theme ?Global Partnership for Maritime Sustainability?, which is very well-received among the IMO member states and reiterates Thailand?s active and constructive role in driving sustainability at the regional and global levels.

International Maritime Organization establishes standards and operations for safety of maritime shipping and protects maritime environment.

๖. องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศรับรองขึ้นทะเบียน ?โนรา? (Nora) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ ที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage ? ICS-ICH) สมัยสามัญ ครั้งที่ ๑๖ ผ่านระบบทางไกล ได้มีมติให้ขึ้นทะเบียน ?โนรา? (Nora, dance drama in southern Thailand) ในบัญชีรายชื่อตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งมวลมนุษยชาติ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. ๒๐๐๓ (2003 Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) ของ UNESCO

โนราเป็นการละเล่นพื้นเมืองของภาคใต้ที่มีทั้งการร้องและรำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านศิลปะการแสดงที่ไม่หยุดนิ่ง มีพัฒนาการในการสร้างสรรค์ให้เหมาะกับชุมชน กาลเวลา และสังคมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ทั้งนี้ โนรานับเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทยลำดับที่ ๓ ต่อจากโขนและนวดไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเมื่อปี ๒๕๖๑ และ ๒๕๖๒ ตามลำดับ

๗. ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ ของไทยได้รับรางวัลชนะเลิศพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในโลก

เมื่อวันที่ ๗ - ๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ ผู้ค้าข้าวของสหรัฐฯ ได้จัดการประกวดข้าวโลก (World?s Best Rice Award 2021) ในรูปแบบไฮบริด ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นการจัดงานครั้งที่ ๑๓ มีผู้ส่งข้าวเข้าประกวด ๖ ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน อินเดีย เวียดนาม เมียนมา และไทย รวม ๑๑ ตัวอย่าง โดยข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ จากภาคอีสาน ซึ่งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยส่งเข้าประกวด ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งเป็นการได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกเป็นปีที่ ๒ ติดต่อกัน และจากการจัดประกวด ๑๓ ครั้ง ไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ ๗ ครั้ง

กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความยินดีกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวและเกษตรกรไทยสำหรับผลการตัดสิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออกของสินค้าภาคเกษตรของไทย

๘. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

รายการ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) สัมภาษณ์นางอัจฉรา เสริบุตร อุปนายกสมาคมสหประชาชาติแห่งประเทศไทย และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด หัวข้อ ?ทำความรู้จักสมาคมสหประชาชาติแห่งประเทศไทย? เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รับชมย้อนหลังทาง Youtube ?MFA Thailand Channel?

รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวร ณ นครนิวยอร์ก หัวข้อ ?Sustaining Sustainability for All? ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๘.๐๕ น. รับชมย้อนหลังทาง Youtube ?MFA Thailand Channel?

๙. รายการ Spokesman Live!!!

รายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์ ดร.ศราวุฒิ ปิ่นทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการออกแบบเชิงวัฒนธรรม คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวข้อ ?ปรุงรสวัฒนธรรมให้กลมกล่อมบนเส้นทางสายเกลือ? ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ทาง Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?

๑๐. ถาม-ตอบ

ต่อคำถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความคืบหน้าและการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศกรณีนักศึกษาไทยถูกทำร้ายร่างกายที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กว่า สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ติดตามและให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด โดยนักศึกษาไทยบุคคลดังกล่าวมีอาการบาดเจ็บพกช้ำ และได้แจ้งความต่อสำนักงานตำรวจในนครนิวยอร์กหลังเกิดเหตุแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพักรักษาตัว โดยเมื่ออาการบาดเจ็บดีขึ้นแล้ว จะเดินทางมายังสถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อจัดทำเอกสารแสดงตนของไทยใหม่ เนื่องจากสูญหายไปจากเหตุการณ์ข้างต้น ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจนครนิวยอร์กอยู่ระหว่างการติดตามตัวผู้ก่อเหตุ โดยสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ประสานงานกับตำรวจอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงการต่างประเทศขอเตือนคนไทยที่พำนักในต่างประเทศโปรดใช้ความระมัดระวังในการเดินทางและการดำรงชีวิต เนื่องจากเหตุไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยหากประสบเหตุ ขอให้ดำเนินการแจ้งความต่อสำนักงานตำรวจหรือหน่วยงานดูแลรักษาความปลอดภัยในท้องที่ และสามารถขอรับความช่วยเหลือได้จากสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ในประเทศที่พำนักอยู่ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งญาติหรือบุคคลใกล้ชิดสามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือได้จากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศอีกทางหนึ่ง

  • * * * *

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ