สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๐๐ น. ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือกับผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับเมียนมา (วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕)
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบหารือกับนางโนลีน เฮย์เซอร์ (Ms. Noeleen Heyzer) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา (Special Envoy of the Secretary-General of the United Nations on Myanmar)
ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา รวมถึงการสู้รบบริเวณใกล้ชายแดนไทย-เมียนมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ เป็นต้นมา ส่งผลให้ชาวเมียนมาต้องหนีภัยเข้ามาในฝั่งไทย และเห็นพ้องกันถึงความสำคัญของการหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ความสงบ เสถียรภาพ และความเป็นปกติสุขกลับคืนสู่เมียนมาโดยเร็ว
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติและอาเซียนในการแสวงหาทางออกอย่างสันติสำหรับสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะการผลักดันให้มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามฉันทามติ ๕ ข้อของอาเซียน และสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน ไทยพร้อมสนับสนุนอาเซียนและกัมพูชาในการดำเนินการนี้อย่างเต็มที่
ไทยยังคงจะให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาที่เข้ามาในฝั่งมาไทยตามหลักมนุษยธรรม พันธกรณีระหว่างประเทศ และประสบการณ์ที่ยาวนานของไทย และพร้อมสนับสนุนการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในเมียนมา
นางเฮย์เซอร์ชื่นชมบทบาทของไทยในการประสานความร่วมมือระหว่างฝ่ายต่าง ๆ โดยได้แสดง ความพร้อมที่จะช่วยเชื่อมต่อความพยายามดังกล่าวกับสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศ
ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาได้เข้าเยี่ยมนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไทยพร้อมให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาในเมียนมา ทั้งในบริบทความสัมพันธ์ทวิภาคี ความร่วมมือกับอาเซียน และสหประชาชาติ ประเด็นปัญหาในเมียนมามีความซับซ้อน ซึ่งต้องมองด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาอย่างแท้จริง
นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ควรแก้ปัญหาอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยความเข้าใจ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้นำเมียนมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการแก้ปัญหา ไทยได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด สิ่งสำคัญในตอนนี้คือ การยุติการใช้ความรุนแรง การพูดคุยเพื่อหาทางออกโดยสันติ และการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมา ไทยพร้อมที่จะช่วยขับเคลื่อนความพยายามในด้านนี้ของอาเซียนและของประชาคมโลก ผ่านการขนส่งลำเลียงความช่วยเหลือเข้าไปในเมียนมา โดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งไทยได้ให้การสนับสนุนทางการแพทย์และมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในเมียนมาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อแสวงหาทางออกสู่สันติภาพ และสวัสดิภาพของประชาชนเมียนมา
๒. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๕)
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพบหารือกับนายฮากิอูดะ โคอิจิ (H.E. Mr. HAGIUDA Koichi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Minister of Economy, Trade and Industry - METI) ในการเยือนประเทศไทยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ที่กระทรวงการต่างประเทศ
ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกมิติ การเยือนไทยในครั้งนี้จะช่วยกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโอกาสการครบรอบ ๑๓๕ ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น และการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้
ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบเอเปค โดยเฉพาะการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ของไทยกับยุทธศาสตร์ Green Growth Strategy ของญี่ปุ่น เรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific -FTAAP) การเสริมสร้างความเชื่อมโยง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอนาคตผ่านการร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) ระหว่างภาคเอกชนไทยกับญี่ปุ่นภายใต้ข้อริเริ่ม Asia-Japan Investing for the Future ของญี่ปุ่น รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้เยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีและได้หารือและแลกเปลี่ยนแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ นายกรัฐมนตรีขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความเชื่อมั่นในการมาลงทุนในไทยจากการที่ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ ๑ ของไทยติดต่อมาหลายทศวรรษ และเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยด้วย โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการแพทย์
๓. ผลการสัมมนาเอเปค ?การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSMEs เพื่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ครอบคลุมและยั่งยืน: การลดขยะภาค อาหารในห่วงโซ่อุปทาน? (วันที่ ๑๓ - ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕)
ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ ?การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSMEs (วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย) เพื่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ครอบคลุมและยั่งยืน: การลดขยะภาคอาหารในห่วงโซ่อุปทาน? (APEC Workshop on Enhancing Green MSMEs? Competitiveness for a Sustainable and Inclusive Asia - Pacific: Food Sector Waste Reduction in Food Supply Chain) โดยได้จัดร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคของไทย (APEC Business Advisory Council - ABAC)
นายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดงาน และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการขยะอาหารจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการส่งเสริมการลดขยะภาคอาหารในห่วงโซ่อุปทานของ MSMEs ไปจนถึงโมเดลธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชั่น โดยการประชุมนี้สอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี ๒๕๖๕
แนวคิดสำคัญที่ได้จากการประชุมฯ คือ (๑) ความท้าทายหลักสำหรับ MSMEs ในการการลดขยะอาหารคือ ต้นทุนและข้อจำกัดด้านศักยภาพ ซึ่งความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในระดับภูมิภาค และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่และดิจิทัลโซลูชั่นจะเป็นตัวสนับสนุนที่ดี (๒) การลดขยะอาหาร อาศัยความร่วมมือแบบองค์รวมจากทุกภาคส่วน โดยควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นต่อการป้องกันการสร้างขยะมากกว่าการจัดการขยะและฟื้นฟูและ (๓) การใช้ประโยชน์จากอาหารอย่างเต็มศักยภาพและแปลงขยะให้มีมูลค่าถือเป็นปัจจัยสำคัญ
ไทยพยายามให้การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยส่งผลที่เป็นรูปธรรมต่อภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชน และภาคประชาชน
๔. โอกาสของผู้ส่งออกผลไม้ไทยในการใช้ด่านรถไฟผิงเสียง ส่งออกผลไม้ไปประเทศจีน
เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๕ ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าได้ลำเลียงทุเรียนไทย จำนวน ๑๗ ตู้ รวมน้ำหนัก ๒๘๘ ตัน มูลค่า ๑๑ ล้านหยวน (ประมาณ ๕๗ ล้านบาท) ผ่านเข้าสู่ประเทศจีนผ่านทางด่านรถไฟผิงเสียง ซึ่งนับเป็นขบวนรถไฟขนส่งผลไม้จากอาเซียนขบวนแรกที่เข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียงหลังจากที่ความตกลง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
ด่านรถไฟผิงเสียง เป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟแห่งแรกของประเทศจีนและเป็นทางเลือกการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน จากเดิมที่เคยใช้ทางรถบรรทุก ทางเรือ และทางเครื่องบินเท่านั้น โดยด่านแห่งนี้ได้ติดตั้งระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบสินค้า ลดความเสียหายของผลไม้จากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตู้สินค้า ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย รวมทั้งลดระยะเวลาในการรอผ่านแดนของด่านทางบกที่ใช้ระยะเวลานานกว่าผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเที่ยวรถไฟเวียดนาม-จีน ในการลำเลียงสินค้าเข้าสู่ตลาดทั่วประเทศจีน โดยสามารถใช้รถบรรทุกสินค้าลำเลียงสินค้าออกจากภาคอีสานทางถนน R8 (หนองคาย) R9 (มุกดาหาร) และ R12 (นครพนม) ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่เวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย แล้วไปที่สถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang) จังหวัดลางเซิน ซึ่งติดกับจีน เพื่อลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟ ก่อนเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงด้วยระยะทางเพียง ๑๗ กิโลเมตร ใช้เวลาวิ่งเพียง ๑ ชั่วโมง โดยเมื่อผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านรถไฟผิงเสียงแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกเพื่อกระจายผลไม้ไปยังหัวเมืองอื่นทั่วจีนได้เช่นกัน
ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (https://thaibizchina.com) ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเวียดนาม (https://thaibiz-vietnam.com/) และกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (https://business.mfa.go.th/)
๕. ไต้หวันประกาศห้ามคนไทยนำเนื้อสัตว์เข้าประเทศ
ตามที่มีข่าวไต้หวันประกาศห้ามคนไทยนำเนื้อสัตว์เข้าประเทศ โดยเฉพาะเนื้อหมู ฝ่าฝืนมีโทษปรับ ๑ ล้านบาท นั้น ขอเรียนว่ารายงานนี้เป็นข่าวจริง แต่รายงานคลาดเคลื่อนข้อมูลไม่ครบถ้วน ไต้หวันประกาศห้ามนำเข้าเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์หมูจากกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรค ASF รวมถึงประเทศไทย และรายงานโทษค่าปรับคลาดเคลื่อนในกรณีการกระทำความผิดครั้งแรก และการกระทำความผิดซ้ำ
สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป ไต้หวัน) รายงานว่า ไต้หวันห้ามการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศโดยบุคคลทั่วไป ทั้งการสั่งของทางไปรษณีย์และการนำเข้ามาพร้อมกับสัมภาระเมื่อเดินทางเข้าไต้หวัน ซึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยและจีน ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever ? ASF)
สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยได้ประชาสัมพันธ์เตือนคนไทยในไต้หวันห้ามสั่งผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเข้ามายังไต้หวัน ผ่านช่องทาง Facebook ของสำนักงาน และเครือข่ายคนไทยในไต้หวันแล้ว นอกจากนี้ สำนักงานแรงงาน ณ ไทเป และสำนักงานแรงงาน ณ เกาสง ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับแรงงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามที่กระทรวงแรงงานไต้หวันประกาศเตือน โดยแรงงานต่างชาติที่ลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากประเทศที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่เสี่ยงของโรค ASF จะถูกปรับหรือดำเนินคดี และจะถูกยกเลิกใบอนุญาตทำงานและส่งกลับประเทศ เนื่องจากผิดเงื่อนไขตามกฎหมายบริการจ้างงาน Employment Service Act ด้วยการทำผิดกฎหมายในไต้หวัน
เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๕ กรมตรวจสอบและกักกันสุขภาพสัตว์และพืช (Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine ? BAPHIQ) ของไต้หวัน ออกประกาศว่า บุคคลที่พยายามนำเข้าเนื้อหมู หรือผลิตภัณฑ์หมูจากประเทศไทย จะมีโทษปรับอย่างน้อย ๒ แสนดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ ๒๔๐,๐๐๐ บาท) ในขณะที่ผู้กระทำผิดซ้ำจะมีโทษ ๑ ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ ๑,๒๑๐,๐๐๐ ล้านบาท) ภายหลังประเทศไทยยืนยันการพบโรค ASF นอกจากนี้ หากตรวจพบว่า ผู้เดินทางเข้าไต้หวันพยายามนำเข้าเนื้อหมูจากประเทศไทย และไม่สามารถจ่ายค่าปรับที่ด่านขาเข้าได้ บุคคลนั้นจะถูกส่งกลับประเทศต่อไป
๖. เกาะสมุยได้รับการจัดอันดับ ๗ ของโลกในฐานะเกาะท่องเที่ยวยอดเยี่ยมปี ๒๕๖๔
เกาะสมุยได้รับการจัดอันดับ ๗ ของโลก และอันดับ ๒ ของเอเชีย ในฐานะเกาะท่องเที่ยวยอดเยี่ยม ปี ๒๕๖๔ จากการจัดอันดับของนิตยสารแทรเวล แอนด์ เลเชอร์ (Travel and Leisure) นิตยสารด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกชื่อดังของอเมริกา ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวร่วมลงคะแนน ระหว่างวันที่ ๑๑ มกราคม ถึงวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยใช้หลักเกณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ชายหาด อาหาร ความเป็นมิตร และมูลค่าโดยรวม
เกาะสมุยได้รับการประกาศว่าเป็นเกาะที่มีชายฝั่งทะเลที่สวยงาม น้ำทะเลใสราวแก้วคริสตัล จุดนี้เองทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติต่างหลงใหลและอยากมาเยือนสมุย โดยผลคะแนนสำรวจเกาะท่องเที่ยวโลกที่ ๑ กับ ๒ ได้แก่ เกาะมิลอสและเกาะโฟเลกันดรอส (Milos and Folegandros) ประเทศกรีซ อันดับ ๓ ได้แก่ เกาะเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ (St. Vincent and the Grenadines) ในทะเลแคริบเบียน
เป็นข่าวดี ๆ อีกข่าวหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างประเทศ สามารถเดินทางเข้ามาที่เกาะสมุยในรูปแบบแซนด์บอกซ์ โดยสามารถอยู่ในพื้นที่ ๗ วัน หากมีการฉีดวัคซีนครบโดสและแสดงหลักฐานการจองการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ ครบถ้วน ซึ่งเกาะสมุยถือเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมสูงในด้านการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของไทย
๗. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๕) เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายจักรกฤดิ กระจายวงศ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด หัวข้อ ?๗๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย- ปากีสถาน? สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?
ในวันพรุ่งนี้ (วันศุกร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๕) เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายรัชฎา จิวาลัย กงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง หัวข้อ ?Thailand?s Economic and Investment Opportunities in Penang and the Northern Malaysia? สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?
๘. รายการ Spokesman Live!!!
ในวันศุกร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ขอเชิญติดตามรายการ คุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส หัวข้อ ?การส่งเสริม Soft Power ของคนไทยในต่างแดน? สามารถติดตามชมได้ที่ Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ