สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ วันพฤหัสบดีที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 8, 2022 14:21 —กระทรวงการต่างประเทศ

สรุปผลการแถลงข่าวประจำสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๑.๓๐ น.

ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ

๑. แถลงการณ์ไทยต่อสถานการณ์ในยูเครน และความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือคนไทยในยูเครน

กต.ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ ๒๔ ก.พ. ๒๕๖๕ ว่า (๑) ไทยติดตามพัฒนาการในยูเครนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการทวีความตึงเครียดในยุโรป ด้วยความห่วงกังวลอย่างยิ่ง และ (๒) ไทยสนับสนุนความพยายามที่ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อแสวงหาการแก้ไขสถานการณ์อย่างสันติผ่านการหารือ

รมต.ตปท.อาเซียนได้ออกถ้อยแถลงต่อสถานการณ์ในยูเครนเมื่อ ๒๖ ก.พ. ๒๕๖๕ (๑) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุด และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการหารือผ่านทุกช่องทาง รวมถึงช่องทางการทูต เพื่อควบคุมสถานการณ์ ลดความตึงเครียด และแสวงหาการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ หลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ และสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (๒) เชื่อว่ายังคงมีพื้นที่สำหรับการหารืออย่างสันติเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์อยู่เหนือการควบคุม เพื่อให้สันติภาพ ความมั่นคง และการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวกันดำรงอยู่ต่อไป จึงนับเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่ายที่จะยึดมั่นหลักการของการเคารพซึ่งกันและกันในอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และสิทธิที่เท่าเทียมกันของทุกชาติ

ออท.ผทถ.ไทยประจำสหประชาชาติกล่าวต่อที่ประชุมสหประชาชาติใน ๒ วาระ ดังนี้ (๑) ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๖ เมื่อวันที่ ๒๓ ก.พ. ๒๕๖๕ และ (๒) การประชุมสหประชาชาติสมัยพิเศษ (UNGA Emergency Special Session) ครั้งที่ ๑๑ เมื่อวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕ มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

ไทยสนับสนุนความพยายามในการหาทางยุติสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสันติผ่านการเจรจาที่เป็นไปตามกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยธำรงไว้ซึ่งหลักการว่าด้วยอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และสนับสนุนการเรียกร้องของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการหาทางยุติเรื่องนี้อย่างสันติวิธี รวมถึงความพยายามของสหประชาชาติและกลไกในระดับภูมิภาค

ไทยชื่นชมเพื่อนบ้านของยูเครนและชาติอื่น ๆ สำหรับการระดมความช่วยเหลือไปสู่ผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยจะทำอย่างสุดความสามารถในการที่จะช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของพลเรือนที่ได้รับผลกระทบโดยจะส่งความช่วยเหลือโดยตรงและผ่านความร่วมมือกับชาติต่าง ๆ ที่เห็นตรงกัน

ไทยสนับสนุนการหยุดยั้งการใช้กำลังหรือการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังต่อรัฐอื่น ดังนั้น เราเรียกร้องขอให้ยุติความรุนแรงและการใช้อาวุธทันที ยิ่งสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้าง ซ้ำเติมสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและผลกระทบต่อความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของคนทั่วโลก ซ้ำเติมการฟื้นตัวจากโควิด-๑๙ ที่ยิ่งเปราะบางอยู่แล้ว

ไทยเรียกร้องให้มีการเจรจาพูดคุยเพื่อหาข้อยุติที่ยั่งยืนผ่านองค์การสหประชาชาติ กลไกภูมิภาค หรือกลไกอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับ

ปท.สมาชิกสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ลงมติรับข้อมติในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๑๑) เมื่อวันที่ ๒ มี.ค. ๒๕๖๕ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย ๑๔๑ เสียง (รวมถึงไทย) ไม่เห็นด้วย ๕ เสียง (เบลารุส เกาหลีเหนือ ซีเรีย เอริเทเรีย และรัสเซีย) และงดออกเสียง ๓๕ เสียง จากทั้งหมด ๑๘๑ ประเทศที่เข้าร่วมประชุม ยืนยันถึงอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนภายในพรมแดนยูเครน เรียกร้องให้รัสเซียหยุดใช้กำลัง และถอนกองกำลังออกจากยูเครนโดยทันที

ไทยมีคำอธิบายการลงมติ (Explanation of Vote) สรุปได้ ดังนี้ (๑) ไทยตัดสินใจลงคะแนนเสียงสนับสนุนร่างข้อมติดังกล่าว เนื่องจากไทยให้ความสำคัญกับหลักการที่บรรจุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคารพต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้กำลังต่อรัฐ (๒) การให้การสนับสนุนร่างข้อมตินั้น สะท้อนความห่วงกังวลอย่างยิ่งของไทย ต่อพลเรือนที่ได้รับผลกระทบ และผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากการเผชิญหน้าและความรุนแรงในพื้นที่ และ (๓) ไทยมีความกังวลกับผลกระทบในระยะยาวต่อระเบียบโลกที่ต้องตั้งบนพื้นฐานของกฎระเบียบ ไทยจึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายส่งเสริมการเจรจาหารือรูปแบบต่าง ๆ เพื่อหาข้อยุติสำหรับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างสันติ เป็นท่าทีของประเทศไทยที่ได้แสดงในสหประชาชาติ

ความคืบหน้าการอพยพคนไทยจากยูเครน

เมื่อวันที่ ๒ และ ๓ มี.ค. ๒๕๖๕ สอท. ณ กรุงวอร์ซอได้ประสานงานเพื่ออพยพคนไทยออกจากโปแลนด์และโรมาเนีย รวมทั้งสิ้น ๑๓๖ คน โดยมีผู้บริหารกรมการกงสุลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อนรับและอำนวยความสะดวกที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

คณะคนไทยชุดที่ ๑ จำนวน ๓๘ คน เดินทางโดยเครื่องบินออกจากกรุงบูคาเรสต์ เมื่อวันที่ ๑ มี.ค. ถึงประเทศไทยโดยสายการบินไทย เที่ยวบิน TG923 เมื่อวันที่ ๒ มี.ค. เวลา ๐๖.๒๕ น.

คณะคนไทยชุดที่ ๒ จำนวน ๕๘ คน เดินทางโดยเครื่องบินออกจากกรุงวอร์ซอ เมื่อวันที่ ๒ มี.ค. เดินทางถึงประเทศไทยโดยสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบิน EK384 วันที่ ๒ มี.ค. เวลา ๑๒.๐๕ น.

คณะคนไทยชุดที่ ๓ จำนวน ๔๐ คน เดินทางโดยเครื่องบินออกจากกรุงวอร์ซอ เมื่อวันที่ ๒ มี.ค. เดินทางถึงประเทศไทยโดยสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบิน EK384 วันที่ ๓ ธ.ค. เวลา ๑๒.๐๕ น.

สำหรับคนไทยบางส่วนที่ยังไม่แจ้งความประสงค์ในการเดินทางกลับเนื่องจากมีคู่สมรสชาวยูเครน ประสงค์อยู่ต่อกับครอบครัว/นายจ้าง และบางส่วนที่ยังต้องอยู่ในเมืองที่พำนักและไม่สามารถเดินทางออกมาได้เนื่องจากมีการประกาศปิดเมืองหรือสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย รวมจำนวน ๓๙ คน จากการตรวจสอบข้อมูลกับกลุ่มคนไทยที่ยังติดค้างอยู่ในเมืองต่าง ๆ ทราบว่า ทุกคนยังปลอดภัย

สถานะคนไทยในยูเครน ๒ มี.ค. ๒๕๖๕ (เวลา ๒๓.๓๐ น.)

คนไทยในยูเครนที่แสดงความประสงค์กลับไทย ๒๑๙ คน (จาก ๒๕๖ คน)

อพยพออกจากยูเครนแล้ว ๒๐๓ คน

เดินทางถึงไทย (รวมวันที่ ๓ มี.ค.) ๑๓๖ คน

รออพยพกลับไทย ๕๙ คน

ยังออกจากยูเครนไม่ได้ ๘ คน

ประสงค์อยู่ในยูเครนต่อไป ๓๑ คน

๒. ผลการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ นรม. มาเลเซีย (๒๔ - ๒๖ ก.พ. ๒๕๖๕)

นรม.ได้พบหารือกับดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นรม. มาเลเซีย และคณะ ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นผู้นำต่างประเทศคนแรกที่เดินทางเยือนประเทศไทยตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

นรม. ทั้งสองแสดงเจตนารมณ์ยกระดับความสัมพันธ์ไทยและมาเลเซียสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่แน่นแฟ้น และจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ทั้งสองได้เห็นพ้องกันที่จะผลักดันการเปิดการเดินทางระหว่างกันสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสโดยไม่ต้องกักกันโรคในโอกาสแรก รวมทั้งการยอมรับใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ แบบดิจิทัลร่วมกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศระหว่างกันต่อไป รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินโครงการส่งเสริมความเชื่อมโยงชายแดน เช่น การสร้างถนนเชื่อมต่อด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งใหม่ ๒ แห่ง รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วมกัน

รนรม./รมว.กต.เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ดาโตะ ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รมว.กต.มาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายหารือแนวทางกระชับความสัมพันธ์ และพร้อมผลักดันโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงต่าง ๆ ตามที่ นรม.ทั้งสองฝ่ายหารือกันไว้ให้มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและบทบาทของอาเซียน

๓. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (๒๐ - ๒๔ ก.พ. ๒๕๖๕)

รนรม./รมว.กต.เยือนฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๔ ก.พ. ๒๕๖๕ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (Ministerial Forum for Cooperation in the Indo-Pacific) โดยฝรั่งเศสในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Presidency of the Council of the EU) ในช่วงเดือน ม.ค. - มิ.ย. ๒๕๖๕ เป็นเจ้าภาพ โดยมี รมต. ตปท.เข้าร่วม ๕๖ ประเทศ ประกอบด้วยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้

รนรม./รมว.กต.เข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมรายสาขาในเวทีประเด็นระหว่างประเทศ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาสมุทร ความหลากหลายทางชีวภาพ สาธารณสุข และนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ของไทยในการรับมือกับประเด็นท้าทายระดับโลกเพื่อความเจริญที่ยั่งยืนและครอบคลุม รวมทั้งได้กล่าวถึงบทบาทไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปคในปีนี้

รนรม./รมว.กต.ลงนามแผนการสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. ๒๐๒๒-๒๐๒๔) กับนายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง (Jean-Yves Le Drian) รมว.กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสภายในปี ๒๕๖๗

ไทยขอบคุณฝรั่งเศสที่บริจาควัคซีนไฟเซอร์จำนวน ๔๐๐,๑๔๐ โดส ซึ่งคาดว่าจะจัดส่งมายังไทยในเดือน มี.ค. ๒๕๖๕ และขอรับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสในการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน และการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป

รนรม./รมว.กต.ได้พบหารือทวิภาคีกับ รมว. กต. และผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศ อาทิ

นางมาริส เพย์น รมว.กต.ออสเตรเลีย เรื่องการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ออสเตรเลีย ๗๐ ปี และการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้

นางนาไนอา มาฮูทา รมว.กต.และการค้านิวซีแลนด์ ประเด็นความร่วมมือทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบอาเซียนและกรอบ ACMECS และกระชับความสัมพันธ์ที่ดำเนินมากว่า ๖๕ ปี และการฟื้นฟูจากผลกระทบโควิด-๑๙ ความร่วมมือในสาขาที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย และแผนเศรษฐกิจ ๓๐ ปีของนิวซีแลนด์ (New Zealand Economic Plan)

นายฟรานส์ ทิมเมอร์มานส์ รองประธานบริหารคณะกรรมาธิการยุโรปด้านแผนปฏิรูปสีเขียว ไทยยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๖๕

รนรม./รมว.กต.เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกระบวนการบาหลี (Bali Process Steering Group) ร่วมกับ รมว.กต. อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อันเป็นเวทีหารือระดับภูมิภาค เพื่อการจัดการกับการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ การลักลอบขนคน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติด้วย

๔. การเยือนประเทศไทยของปลัด กต. บังกลาเทศ (๑ มี.ค. ๒๕๖๕)

นายมาซุด บิน โมเมน (Mr. Masud Bin Momen) ปลัด กต.บังกลาเทศ เดินทางเยือนไทยเพื่อเป็นประธานการประชุมหารือทวิภาคี (Bilateral Consultations) ไทย - บังกลาเทศ ครั้งที่ ๒ ร่วมกับปลัด กต.

ที่ประชุมฯ หารือแนวทางพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน การเมืองความมั่นคง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาความเชื่อมโยง โดยฝ่ายบังกลาเทศมองไทยเป็นต้นแบบการพัฒนาในหลายด้าน และสนใจเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานเพื่อนำไปปรับใช้ สองฝ่ายยังสนับสนุนความร่วมมือในกรอบพหุภาคีที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation - BIMSTEC) ซึ่งไทยจะเป็นประธานในระหว่างปี ๒๕๖๕ - ๒๕๖๖

ภายหลังการประชุม ปลัด กต.บังกลาเทศเข้าเยี่ยมคารวะ รนรม./รมว.กต. ขอบคุณที่ฝ่ายไทยอำนวยความสะดวกในการอพยพคนบังกลาเทศในไทยกลับประเทศ รวมทั้งในการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ให้แก่ชาวบังกลาเทศที่พำนักอยู่อาศัยในไทย

ทั้งสองฝ่ายได้เปิดตัวตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - บังกลาเทศ ครบรอบ ๕๐ ปี ซึ่ง สอท. ณ กรุงธากา ออกแบบร่วมกับ กต. บังกลาเทศ เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบความสัมพันธ์ฯ ตลอดปี ๒๕๖๕

๕. การปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยในรูปแบบ Test and Go

ที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ ๒๓ ก.พ. ๒๕๖๕ ปรับมาตรการ ดังนี้

การตรวจหาเชื้อในครั้งที่ ๒ ขณะอยู่ไทยในวันที่ ๕ เปลี่ยนจากการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เป็นการตรวจ ATK ด้วยตนเอง และรายงานผ่านแอพลิเคชั่นหมอชนะ โดยผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ไม่ต้องจองโรงแรมในคืนที่ ๕ ที่อยู่ในไทย

ปรับลดวงเงินกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล จาก ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เป็น ๒๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้มีสัญชาติไทยไม่ต้องมีประกัน รวมทั้งชาวต่างชาติสามารถใช้เอกสารประกันสังคมหรือเอกสารรับรองจากนายจ้าง/ หน่วยงานในไทยแทนได้

การเปลี่ยนแปลงข้างต้น มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕ เป็นต้นมา โดยผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ยังต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ https://tp.consular.go.th/ โดยกรุณาเผื่อเวลาลงทะเบียนก่อนเดินทางอย่างน้อย ๓-๗ วัน ทั้งนี้ เงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรการ Test and Go อื่น ๆ ยังคงเหมือนเดิม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข hotline กรมการกงสุล โทร (66) 02 572 8442 (ตลอด ๒๔ ชั่วโมง) อีเมล: testgo@consular.go.th

Thailand Pass FAQs : https://consular.mfa.go.th/th/content/thailand-pass-faqs-2

๖. การปรับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น/สิงคโปร์/อิสราเอล

๖.๑ ญี่ปุ่น

ตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕ เป็นต้นมา ญี่ปุ่นได้ปรับมาตรการเข้าเมืองที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดังนี้

ผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ สายพันธ์โอไมครอน (รวมถึงประเทศไทย) ต้องกักตัวที่บ้านพักเป็นเวลา ๗ วัน แต่หากได้รับวัคซีนอย่างน้อย ๓ เข็ม ตามเงื่อนไขของทางการญี่ปุ่น จะผ่อนผันการกักตัวได้

วัคซีนที่ญี่ปุ่นรับรองสำหรับการผ่อนผันระยะเวลากักตัว ได้แก่

วัคซีน ๒ เข็มแรก Pfizer, Astrazeneca, Moderna หรือ Johnson & Johnson ๑ เข็ม เท่านั้น

วัคซีนเข็มที่ ๓ ได้แก่ Pfizer และ Moderna เท่านั้น

ขณะนี้ ญี่ปุ่นอนุญาตให้กลุ่มชาวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้ เฉพาะผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นใหม่เพื่อพำนักในญี่ปุ่นระยะยาว และผู้เดินทางระยะสั้น (ต่ำกว่า ๓ เดือน) เพื่อดำเนินธุรกิจและทำงาน โดยนักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้าญี่ปุ่นได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Facebook: สอท. ณ กรุงโตเกียว

๖.๒ สิงคโปร์

ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ก.พ. ๒๕๖๕ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าเมือง และการขยายการจัดทำช่องทางพิเศษ (Vaccinated Travel Lane ? VTL) ทั้งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก สรุปมาตรการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ดังนี้

สิงคโปร์จัดกลุ่มประเทศต้นทางตามความเสี่ยง ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเสี่ยงต่ำ กลุ่มเสี่ยงกลาง (ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้) และกลุ่มเสี่ยงสูง

ผู้เดินทางจากประเทศไทย (รวมทั้งนักท่องเที่ยว) สามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัว ผ่านช่องทาง VTL แต่หากเดินทางเข้าด้วยช่องทางปกติต้องกักตัวเป็นเวลา ๗ วัน ที่บ้านพักหรือโรงแรม โดยผู้เดินทางต้องแสดงผล RT-PCR หรือ ART (ATK) เป็นลบ ภายในไม่เกิน ๔๘ ชั่วโมงก่อนเดินทาง และตรวจ PCR อีกครั้งในวันที่ ๗ ของการกักตัว

สอท. ณ สิงคโปร์ ได้จัดทำรายละเอียดมาตรการเดินทางเข้าเมืองล่าสุดของสิงคโปร์ บนเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (https://thaibizsingapore.com/news/%e0%b8%81/directions/travel-measure-sg/)

๖.๓ อิสราเอล

ตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕ รัฐบาลอิสราเอล ประกาศผ่อนปรนมาตรการเดินทางเข้าอิสราเอล โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติจากทุกประเทศ สามารถเดินทางเข้าอิสราเอลทางอากาศได้ โดยต้องแสดงผลตรวจ RT-PCR เป็นลบที่ออกภายใน ๗๒ ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่อง และตรวจ RT-PCR อีกครั้งเมื่อเดินทางถึงอิสราเอล หากผลออกมาเป็นลบไม่ต้องกักตัว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Facebook: Royal Thai Embassy, Tel Aviv

๗. ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในกัมพูชา

เมื่อเช้าวันที่ ๒ มี.ค. ๒๕๖๕ สอท. ณ กรุงพนมเปญ ได้ส่งคนไทยและบุคคลที่ถือเอกสารที่ออกโดยทางการไทย จำนวน ๕๖ คน ซึ่งถูกหลอกลวงมาทำงานผิดกฎหมายในกัมพูชา เดินทางกลับประเทศไทย ทางด่านปอยเปต-คลองลึก อ. อรัญประเทศ จ. สระแก้ว

กต.ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งไทยและกัมพูชา ที่ช่วยอำนวยความสะดวก เพื่อป้องกันคนไทยจากการถูกหลอกลวง มา ณ ที่นี้

๘. ผลการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR)

เมื่อวันที่ ๑๕ ก.พ. ๒๕๖๕ ครม.มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) คนปัจจุบัน ให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนไทยฯ ต่ออีก ๑ วาระ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ ก.พ. ๒๕๖๕ ถึงวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๒๕๖๗

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมราฯ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ตลอดช่วง ๓ ปีที่ปฏิบัติหน้าที่ใน AICHR โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่ประธาน AICHR เมื่อปี ๒๕๖๒ โดยผลักดันการส่งเสริมประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน การเชื่อมโยงประเด็นสิทธิมนุษยชนกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประเด็นสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมสิทธิของผู้พิการ รวมทั้งยังได้ทำงานใกล้ชิดกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

๙. กรมการกงสุลเปิดให้บริการรับรองนิติกรณ์เอกสารเพิ่ม ๒ แห่ง

กต. โดยกรมการกงสุล เปิดให้บริการรับรองเอกสารราชการสัญชาติและนิติกรณ์ สำเนาเอกสาร และลายมือชื่อบุคคล เพิ่มเติมอีก ๒ แห่ง ได้แก่

(๑) สนง.หนังสือเดินทางชั่วคราว ภูเก็ต ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลภูเก็ต เฟสติวัล ชั้น B เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๖๕ โดยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๗๖ ๒๒๒ ๐๘๐ ถึง ๘๑

(๒) สนง.หนังสือเดินทางชั่วคราว ปทุมวัน ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ (MBK Center) ชั้น ๕ โซน A เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ ๑๔ มี.ค. ๒๕๖๕ โดยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒ ๑๒๖ ๗๖๑๖

สามารถจองคิวออนไลน์ก่อนเข้ารับบริการได้ที่ https://qlegal.consular.go.th

๑๐. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ ๓ มี.ค. ๒๕๖๕) เวลา ๐๘.๓๐ - ๐๘.๔๕ น. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ หัวข้อ ?บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศกับภารกิจการอพยพคนไทยในยูเครน? สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?

วันพรุ่งนี้ (วันศุกร์ที่ ๔ มี.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕ - ๐๘.๒๐ น. รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ หัวข้อ "Roles of MFA on evacuating Thai Nationals in Ukraine " สามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?

คำถาม-คำตอบ

ประเทศไทยหรือศรีลังกาจะเป็นเจ้าภาพ BIMSTEC 2022 ในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๕

ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ BIMSTEC ต่อจากศรีลังกาในเดือนมีนาคม ๒๕๖๕ ภายหลังการประชุมผู้นำ BIMSTEC

เหตุผลการลงข้อมติข้อมตินการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนครั้งที่ ๑๑ (Eleventh Emergency Special Session) เกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน

ไทยตัดสินใจลงคะแนนสนับสนุนเพราะไทยให้ความสำคัญกับหลักการที่อยู่ในสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้กำลังของรัฐต่อรัฐ รวมถึงการข่มขู่ว่าจะใช้กำลัง

การให้การสนับสนุนร่างข้อมตินั้น สะท้อนความห่วงกังวลอย่างยิ่งของไทย ต่อพลเรือนที่ได้รับผลกระทบ และผลกระทบต่อยูเครน และประเทศอื่น ๆ ด้านมนุษยธรรมจากการเผชิญหน้าและความรุนแรงในพื้นที่

ไทยมีความกังวลกับผลกระทบในระยะยาวต่อระเบียบโลก ซึ่งคือการการเคารพต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ที่ต้องตั้งบนพื้นฐานของกฎระเบียบโลก จึงเป็นเหตุผลที่ไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายส่งเสริมการเจรจาหารือรูปแบบต่าง ๆ เพื่อหาข้อยุติสำหรับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างสันติ เป็นท่าทีของประเทศไทยที่ได้แสดงในสหประชาชาติ

กองการสื่อมวลชน

กรมสารนิเทศ

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ