การประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้องฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕

ข่าวต่างประเทศ Thursday March 10, 2022 14:24 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๕ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ ณ กรมประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ นายสรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า ๕๑ หน่วยงานและองค์กร เข้าร่วม

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญการให้ความร่วมมือและสนับสนุนด้านประชาสัมพันธ์ของทุกหน่วยงานซึ่งจะช่วยกันคิดและพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้ให้กลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มเพื่อให้การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้เป็นวาระที่สร้างโอกาสดี ๆ รวมถึงต่อยอดการค้า การลงทุน โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัลให้กับประเทศและคนไทยทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่

ที่ประชุมฯ รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ความคืบหน้าการเตรียมการด้านสารัตถะ โดยเฉพาะผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๑ และการประชุมที่เกี่ยวข้องกว่า ๓๐ การประชุม ระหว่างวันที่ ๑๔-๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม (key deliverables) และข้อริเริ่ม/โครงการภายใต้แต่ละประเด็นสำคัญ ได้แก่ (๑) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน (Open) (๒) การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว (Connect) และ (๓)การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน (balance) ซึ่งไทยมุ่งมั่นนำเสนอเป้าหมายกรุงเทพเรื่องเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ รับทราบการดำเนินการประชาสัมพันธ์ของคณะอนุกรรมการฯ เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ ?ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม? ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศไทย เขตเศรษฐกิจเอเปค และกลุ่มประเทศที่เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยมุ่งเน้นการผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ on air online และ on ground อาทิ การจัดทำรายการThailand Today การจัดทำคลิปวีดิทัศน์ ภาพยนตร์โฆษณา การจัดเสวนาวิชาการ การลงบทความ บทสัมภาษณ์ และ Infographic เพื่อเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ ผ่านทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งผลิตรายการและจัดทำสื่อต่าง ๆ ใช้ภาษาถิ่นและสื่อบุคคล เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากกลุ่มชาวบ้าน และได้มีการประชาสัมพันธ์เป็นภาษาต่างประเทศเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยให้แก่กลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติ อีกด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสารนิเทศได้จัดกิจกรรม APEC Media Focus Group เพื่อให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้แก่สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ และ FCCT Panel Discussion on APEC สำหรับสื่อต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับเอเปค แนวคิดหลักของการเป็นเจ้าภาพ และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับเอเปคไปยังสาธารณชนและกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ โดยมีแผนที่จะจัดกิจกรรม APEC Media Focus Group เพิ่มเติมอีก ๔ - ๕ ครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพื่อเชื่อมโยงภาคธุรกิจต่างประเทศกับไทยในประเด็นเฉพาะ เช่น การส่งเสริม EEC สตาร์ทอัพไทย และเพิ่มการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางและครอบคลุมกลุ่มสตรี เยาวชน ผู้ประกอบการท้องถิ่น และสื่อมวลชนในท้องถิ่น

คณะอนุกรรมการฯ ได้หารือแผนการประชาสัมพันธ์โดยประสานข้อมูลกับคณะอนุกรรมการด้านสารัตถะ เพื่อนำประเด็นที่เป็นประโยชน์ และเรื่องราวต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเน้นการสร้างความเข้าใจถึงผลดีต่อประชาชนและผู้ประกอบการไทย ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานที่ปรึกษาด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย (Communication Consultative Group ? CCG) อาทิ การจัดทำ APEC 2022 PR Guidelines เพื่อเป็นแนวทางในการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดเอกภาพและมาตรฐานเดียวกันในการประชาสัมพันธ์ โดยมีเนื้อหาครอบคลุม ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี ๒๕๖๕ ของไทย ตาม ๕ กลุ่มเป้าหมายหลัก ประเด็นอ่อนไหวที่สำคัญในการสื่อสารเกี่ยวกับเอเปค การใช้ตราสัญลักษณ์เอเปค เป็นต้น

ที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญและพิจารณาแนวทางการสร้างพันธมิตรด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ฯ กับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์ให้มีความเปิดกว้างและครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศ และยังเป็นการส่งเสริมความตระหนักรู้และความมีส่วนร่วมตามยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้รับการสนับสนุนด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ครอบคลุมทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ๒๐ หน่วยงาน ภาคสถาบันการศึกษา ๑๑ หน่วยงาน และองค์กรอื่นๆ ๔ หน่วยงาน นอกจากนี้ ได้สร้างพันธมิตรกับภาคเอกชน ในรูปแบบ Communication Partners รวม ๔๒ บริษัท ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า พันธมิตรบริษัทเอกชนหลายแห่งได้แสดงความพร้อมและยินดีที่จะให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับกระทรวงฯ ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทเอกชนที่เป็นพันธมิตรด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ได้ให้ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การสนับสนุนพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าในการจัดงานและนิทรรศการให้ความรู้การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย การประชาสัมพันธ์บนฉลากน้ำดื่ม การประชาสัมพันธ์ APEC Billboard บริเวณทางด่วน และการประชาสัมพันธ์สื่อทั้งวีดิโอและภาพนิ่งเกี่ยวกับเอเปคในจอ LED ของพันธมิตรบริษัทเอกชน และ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์เพื่อการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ