สรุปการแถลงข่าวประจำสัปดาห์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ น.
ทาง Facebook Live กระทรวงการต่างประเทศ
๑. ไทยให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ยูเครน
กต. ได้อนุมัติงบประมาณให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครน ๒ ล้านบาท โดยมอบหมายให้ สอท. ณ กรุงวอร์ซอ จัดซื้อสิ่งของเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและนำไปมอบให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ผ่านสภากาชาดยูเครนหรือองค์การระหว่างประเทศที่เหมาะสม
การดำเนินการของรัฐบาลไทยครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ที่ไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ยูเครน โดยเมื่อปี ๒๕๖๒ ไทยบริจาคเงินช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและ
การแพทย์แก่ผู้พลัดถิ่นในภาคตะวันออกของยูเครน จำนวน ๑ ล้านบาท ผ่านคณะกรรมการกาชาดสากล (ICRC) และสภากาชาดไทย
๒. ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือคนไทยในยูเครน
การอพยพคนไทยในยูเครนได้ดำเนินการผ่าน (๑) สอท. ณ กรุงวอร์ซอ โดยอพยพคนไทยจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในยูเครน เมืองลวิฟ ผ่านโปแลนด์ และ
(๒) สอท. ณ กรุงบูคาเรสต์ โดยอพยพคนไทยจากเมืองโอเดซาและเมืองใกล้เคียงผ่านโรมาเนีย
ระหว่างวันที่ ๒๕ ก.พ. - ๖ มี.ค. ๒๕๖๕ กต. กรมการกงสุล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อพยพคนไทยที่ประสงค์ออกจากยูเครน ๒๓๐ คน เสร็จสิ้นแล้ว จากคนไทยในยูเครนทั้งหมด ๒๕๖ คน และได้เดินทางกลับโดยเครื่องบินพาณิชย์จำนวน ๗ เที่ยวบิน รวมทั้งสิ้น ๒๒๓ คน (บางส่วนเดินทางกลับประเทศไทยด้วยตนเอง)
ในการอพยพคนไทยกลับทุกเที่ยวบิน อธ.กรมการกงสุล และรอง อธ.กรมการกงสุลทั้ง ๒ ท่าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมโรค กระทรวงแรงงาน และ
การท่าอากาศยาน ได้ต้อนรับและอำนวยความสะดวกที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก สอท. และ สกญ. ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สอท. ณ กรุงเบิร์น สอท. ณ กรุงโดฮา สกญ. ณ เมืองดูไบ และ สอท. ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ในการประสานงาน
ในภารกิจการอพยพครั้งนี้ สอท. ณ กรุงวอร์ซอ ยังได้อพยพชาวฟิลิปปินส์ จำนวน ๑๕ คน ออกจากยูเครนไปยังกรุงวอร์ซอ ซึ่ง ออท.ฟิลิปปินส์ ณ กรุงวอร์ซอ ได้แสดงความขอบคุณ สอท.สำหรับความช่วยเหลือในครั้งนี้ ขณะที่ สอท. ณ กรุงบูคาเรสต์ ได้ให้ความร่วมมือแก่ สอท.สิงคโปร์ประจำเยอรมนีในการอพยพชาวสิงคโปร์ จำนวน ๒ คน ออกจากเมืองโอเดซาไปยังโรมาเนียด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของมิตรประเทศอาเซียน
สำหรับคนไทยจำนวน ๒๖ คนที่ตัดสินใจพำนักอยู่ในยูเครนต่อไป สอท. ขอให้พิจารณาเดินทางออกจากยูเครนโดยเร็วที่สุด และหากต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อ สอท. ทางไลน์ระหว่าง สอท. กับคนไทยในยูเครนได้ตลอดเวลา หรือโทรศัพท์ฉุกเฉิน หมายเลข +๔๘ ๖๙๖ ๖๔๒ ๓๔๘
๓. งานเปิดตัวหนังสือ Hundred Years Between ในวาระครบรอบ ๑๑๕ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-นอร์เวย์ (๙ มี.ค. ๖๕)
เมื่อวันที่ ๙ มี.ค. ๒๕๖๕ กต.ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือที่ระลึกHundred Years Between ในวาระครบรอบ ๑๑๕ ปีความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์ ในปี ๒๕๖๓ ที่ กต. โดยมีท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และ รอง นรม./รมว.กต.เข้าร่วม
สอท. ณ กรุงออสโลได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนมีความเข้าใจและตระหนักรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างสองประเทศ โดยกิจกรรมในมิติประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเชิงวิชาการได้รับเกียรติจากท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เป็นที่ปรึกษา ภัณฑารักษ์ และศิลปินรับเชิญพิเศษ
จัดทำวีดิทัศน์สารคดี ชุด ?สัปดาห์หนึ่งในนอร์เวย์/ One Week in Norway? และงานนิทรรศการภาพถ่ายกล้องฟิล์ม ?Hundred Years Between? ถ่ายทอดมุมมองและความรู้สึกจากการตามรอยเสด็จประพาสนอร์เวย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี ๒๔๕๐ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่วางรากฐานของความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสองประเทศ
หนังสือที่ระลึก Hundred Years Between รวบรวมผลงานจากงานนิทรรศการภาพถ่ายกล้องฟิล์ม ?Hundred Years Between? ถ่ายทอดมุมมองจากการตามรอยเสด็จประพาสนอร์เวย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนำเสนอเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผูกโยงเรื่องราวความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์จากบท
พระราชนิพนธ์ ?ไกลบ้าน? ตลอดจนเนื้อหาที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจแนวคิด และการออกแบบนิทรรศการภาพถ่าย
๔. การประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ (๙ มี.ค. ๖๕)
เมื่อวันที่ ๙ มี.ค. ๒๕๖๕ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็น ปธ.การประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ ณ กรมประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี อธ.กรมสารนิเทศ อธ.กรมประชาสัมพันธ์ และคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า ๕๑ หน่วยงาน
ที่ประชุมฯ รับทราบแนวทางการประชาสัมพันธ์ของคณะอนุกรรมการฯ เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ ?ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม? ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งไทย เขตเศรษฐกิจเอเปค และกลุ่มประเทศที่เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยมุ่งเน้นการผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบทั้ง on air online และ on ground ทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งผลิตรายการและจัดทำสื่อต่าง ๆ ใช้ภาษาถิ่นและสื่อบุคคล เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาค
กต.ได้จัดกิจกรรม APEC Media Focus Group มาแล้ว ๒ ครั้งเพื่อให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้แก่สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับเอเปค และมีแผนที่จะจัดกิจกรรมนี้อีก ๔-๕ ครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพื่อเชื่อมโยงภาคธุรกิจต่างประเทศกับไทยในประเด็นเฉพาะ เช่น การส่งเสริม EEC สตาร์ทอัพไทย และเพิ่มการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางและครอบคลุมกลุ่มสตรี เยาวชน ผู้ประกอบการท้องถิ่น และสื่อมวลชนในท้องถิ่น
ที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญและพิจารณาแนวทางการสร้างพันธมิตรด้านการประชาสัมพันธ์ฯ กับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์ให้เปิดกว้างและครอบคลุม โดยกรมสารนิเทศ กต. จะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ร่วมกับภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา องค์กรอื่น ๆ รวมถึงพันธมิตรภาคเอกชนในรูปแบบ APEC Communication Partners ตลอดทั้งปี
๕. งานสัมมนา High Level Seminar: ?Ending AIDS: Zero Discrimination, One World? เนื่องในวันยุติการเลือกปฏิบัติ (๗ มี.ค. ๖๕)
เมื่อวันที่ ๗ มี.ค. ๒๕๖๕ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผช.รมว.กต.ได้กล่าวถ้อยแถลงในการสัมมนาระดับสูงหัวข้อ ?Ending AIDS: Zero Discrimination, One World?
เนื่องในโอกาสวัน Zero Discrimination Day ที่ กต. โดยมีผู้แทนคณะทูต ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษาเข้าร่วมงานในรูปแบบผสมกว่า ๑๐๐ คน ผช.รมว.กต.ย้ำความสำคัญของการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ความมุ่งมั่นในการจัดการกับปัญหา การแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการขจัดการตีตราและเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีและเอดส์ให้หมดไปจากโลก
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รนรม./รมว.สธ.ได้กล่าวเปิดงาน โดยยกเรื่องปัญหาการตีตราและการเลือกปฏิบัติที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีไทยในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS Programme Coordinating Board: PCB) ปี ๒๕๖๕ มีความมุ่งมั่นที่จะจัดการปัญหาดังกล่าว และพร้อมทำงานร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อให้สามารถบรรลุตามเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำและยุติโรคเอดส์ให้ได้ภายในปี ๒๕๗๓
ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN
ออท.เคนยา/ประเทศไทย อท.อังกฤษ/ประเทศไทย รษก.ผอ. UNAIDS ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ผู้แทน Asia Pacific Network of people living with HIV/AIDS และเยาวชนจาก Asia Pacific Network of Young Key Populations ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง และความท้าทายจากการเลือกปฏิบัติและความไม่เสมอภาคที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีและเอดส์ ย้ำความสำคัญของการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในทุกระดับ รวมถึงการมีนโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นการตีตราและเลือกปฏิบัติ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
๖. ไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ปี ๒๕๖๙
สมาคมพืชสวนโลก (The International Association of Horticultural Producers - AIPH) ประกาศให้ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก กลุ่ม B (ระดับนานาชาติ มีระยะเวลาจัดประมาณ ๓-๖ เดือน) ระหว่างวันที่ ๑ พ.ย. ๒๕๖๙ - ๑๔ มี.ค. ๒๕๗๐ ภายใต้แนวคิด Diversity of Life: Connecting people, water and plants for sustainable living (วิถีชีวิตสายน้ำและพืชพรรณ) ที่บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด อ.เมือง จ.อุดรธานี
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน โดยมีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อแสดงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทย สร้างเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีด้านพืชสวนในระดับชาติและนานาชาติ (๒) กระจายรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ (๓) พัฒนาและต่อยอดการเกษตร สร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และ (๔) ผลักดันให้ จ.อุดรธานี เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการเกษตรของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และต่อยอดสู่โมเดลเศรษฐกิจ BCG Model คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานมหกรรมฯ ถึง ๓.๖ ล้านคน เพิ่มเงินสะพัดระหว่างการจัดงานประมาณ ๓ หมื่นล้านบาท และสร้างการจ้างงานกว่า ๘ หมื่นอัตรา
๗. งานสัมมนาออนไลน์ ASEAN Bio-Circular-Green Economy Knowledge Sharing Series: Introductory Session: Putting the BCG Model Into Practice (๑๔ มี.ค. ๖๕)
กต.โดยกรมอาเซียน ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ
ศูนย์ ASEAN Center for Sustainable Development Studies and Dialogue จัดงานสัมมนาออนไลน์ ?ASEAN BCG Knowledge Sharing Series: Introductory Session on Putting the BCG Concept into Practice? ในวันที่ ๑๔ มี.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐?๑๖.๓๐ น. นำเสนอ
การพัฒนาขีดความสามารถในด้านนโยบายการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียนผ่านแนวคิด BCG ตลอดจนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีในด้าน
การพัฒนาที่ยั่งยืนกับประเทศสมาชิกอาเซียนและกับประเทศภาคีภายนอก
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยในครั้งต่อไปจะเชิญผู้แทนจากภาคีภายนอกของอาเซียนมาแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญและแนวปฏิบัติที่ดีในสาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ การเกษตรอัจฉริยะและการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมสีเขียว และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
๘. รายการบันทึกสถานการณ์ และ MFA Update
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มี.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๓๐-๐๘.๔๕ น. รายการ ?บันทึกสถานการณ์? ทาง FM 92.5 (ภาษาไทย) ได้สัมภาษณ์นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ ออท. ณ
กรุงพนมเปญ หัวข้อ ?การทูตไทยในความสัมพันธ์กับกัมพูชา? รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?
วันศุกร์ที่ ๑๑ มี.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๕-๐๘.๒๐ น. รายการ ?MFA Update? FM 88.0 (ภาษาอังกฤษ) จะสัมภาษณ์นายกัลยาณะ วิภัติภูมิประเทศ ออท. ณ
กรุงออตตาวา หัวข้อ "Opportunities for Thai businesses in Canada?s Market" รับชมย้อนหลังได้ทาง youtube ?MFA Thailand Channel?
๙. รายการ Spokesman Live !!!
วันศุกร์ที่ ๑๑ มี.ค. ๒๕๖๕ เวลา ๒๐.๐๐-๒๐.๓๐ น. รายการคุยรอบโลกกับโฆษก กต. - Spokesman Live!!! จะสัมภาษณ์นายพุทธภูมิ อาษานอก นักพัฒนาชุมชนที่
เบนินและภูฏาน นางสาวจิราภรณ์ สุขแป้น ครูผู้ช่วยสอนภาษาไทยที่เมียนมา และนายนิติศาสตร์ คล้ายสมจิตร์ ครูสอนดนตรีสากลที่ สปป.ลาว หัวข้อ ?กระทบไหล่อาสาสมัครเพื่อนไทย ทูตแห่งการพัฒนาในภาคประชาชน? ติดตามชมได้ที่ Facebook ?กระทรวงการต่างประเทศ? และ ?Saranrom Radio?
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ