การประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN Regional Forum (ARF) Workshop on Countering the Use of ICTs for Criminal Purposes จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๕ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยไทยรัสเซียและจีน เป็นประธานร่วม โดยในช่วงเปิดการประชุมฯ นายพลพงศ์ วังแพน รองอธิบดีกรมอาเซียน ได้กล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำความสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน รวมถึงผู้แสดงที่มิใช่รัฐ ในการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICTs) เพื่อก่ออาชญากรรม ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทั่วโลกและการส่งเสริมมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในกรอบ ARF อย่างเข้มข้นต่อไป
ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการของสมาชิก ARF ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์ แนวนโยบายและมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการใช้ ICT เพื่อก่ออาชญากรรม การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีในระดับประเทศ ภูมิภาคและระหว่างประเทศ และการพัฒนาความร่วมมือภายใต้แผนงาน ARF Work Plan on Security of and in the Use of ICTs โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาควิชาการ ทั้งนี้ การหารือครอบคลุม ๔ หัวข้อหลัก ได้แก่ ๑) การกำหนดความผิดทางอาญาและการป้องกันอาชญากรรม ๒) ประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านการใช้ ICTs เพื่อก่ออาชญากรรม ๓) มิติด้านกฎหมายระหว่างประเทศในการต่อต้านการใช้ ICTs เพื่อก่ออาชญากรรม และ ๔) วิธีปฏิบัติในการสืบสวนอาชญากรรมในประเทศและข้ามชาติ
ARF เป็นกลไกสำคัญที่อาเซียนมีบทบาทนำในการหารือประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเป็นเวทีให้ ๒๗ สมาชิก หารืออย่างสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (confidence building measures) และการทูตเชิงป้องกัน (preventive diplomacy) ในภูมิภาค ทั้งนี้ ARF ประกอบด้วย ๕ สาขาความร่วมมือหลัก ได้แก่ การบรรเทาภัยพิบัติ การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางทะเล การลดและไม่แพร่ขยายอาวุธ และความมั่นคงของและในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งล้วนเป็นสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ