คำอธิบายการลงคะแนนเสียงของประเทศไทยที่กล่าวหลังการลงคะแนนเสียงในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยเร่งด่วนพิเศษ ครั้งที่ ๑๑ วาระต่อเนื่อง ในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๕ (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
คำอธิบายการลงคะแนนเสียงของประเทศไทย ที่กล่าวหลังการลงคะแนนเสียง
ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยเร่งด่วนพิเศษ ครั้งที่ ๑๑
วาระต่อเนื่อง ในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๕
๑. ไทยลงคะแนนงดออกเสียงต่อการพิจารณาข้อมติ เนื่องจากไทยยึดมั่นต่อแนวทางการดำเนินงาน ในระบอบพหุภาคีที่โปร่งใส ไม่เอนเอียง และครอบคลุม โดยไทยเห็นว่า การตัดสินใจเพื่อระงับสมาชิกภาพของรัฐสมาชิก ไม่ว่าในองค์กรใด ๆ ของสหประชาชาติ ควรดำเนินการอย่างรอบคอบ และจะต้องผ่านการปรึกษาหารือกันบนพื้นฐานของหลักการ ข้อเท็จจริงที่ได้รับการตรวจพิสูจน์แล้ว โดยรับฟังความคิดเห็นที่สร้างสรรค์และมีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
๒. ไทยขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อชาวยูเครนและครอบครัวที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากสงครามในยูเครน
๓. ไทยห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อความขัดแย้งและวิกฤตด้านมนุษยธรรมในยูเครนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แม้ไทยจะเชื่อว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อพลเรือน ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ในเมืองบูชา เราเห็นว่า การดำเนินการใด ๆ ควรจะต้องเป็นไปอย่างเป็นกลาง โปร่งใส และครอบคลุม
๔. เพื่อการพิจารณาสถานการณ์อย่างเป็นกลาง จำเป็นต้องมีข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนที่เป็นที่ได้รับการยอมรับ และหลักฐานที่ชัดเจนผ่านการตรวจพิสูจน์โดยแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ซึ่งรวมถึงหลักฐานที่นำเสนอต่อศาลระหว่างประเทศ เราจึงสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการสหประชาชาติ ให้มีการสอบสวนโดยอิสระ เพื่อเป็นหลักประกันกระบวนการตรวจสอบความรับผิดชอบ และไทยหวังว่าคณะกรรมการตรวจสอบอิสระระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จะสามารถเริ่มทำงานได้โดยเร็วที่สุด เพื่อสืบสวนข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงนี้อย่างเป็นกลาง โปร่งใสและครอบคลุม
๕. เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อคุ้มครองพลเรือนและสิ่งของต่าง ๆ ของพลเรือน ตลอดจนเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยไม่เลือกประติบัติ เพราะอีกชีวิตหนึ่งที่สูญเสียก็มากเกินไปแล้ว
๖. ในส่วนของไทย เราจะยังคงให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ตกทุกข์จากความขัดแย้งในยูเครน ไทยขอย้ำการสนับสนุนให้ทุกฝ่ายสานต่อการหารือทางการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการไม่เลือกประติบัติและการหารืออย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากทางเดียวที่จะยุติวิกฤตด้านมนุษยธรรมได้ คือการยุติข้อพิพาท ดังนั้น ไทยจึงขอย้ำคำเรียกร้องให้ทุกฝ่ายและประชาคมระหว่างประเทศใช้ความพยายามอย่างที่สุดเพื่อยุติการสู้รบและความขัดแย้ง
๗. ไทยขอย้ำคำเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสานต่อการหารือทางการเมือง เพื่อหาทางออกที่สันติและยั่งยืน
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ