นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๑ - ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย และหารือข้อราชการกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วงเย็นของวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ ณ ทำเนียบรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นทั้งในมิติทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีต่อพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย - ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และในโอกาสการครบรอบ ๑๓๕ ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และการครบรอบ ๑๐ ปี ของการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันในปีนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นประโยชน์ที่จะหารือกันเพื่อพิจารณายกระดับสถานะความสัมพันธ์จาก ?หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์? เป็น ?หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน? เพื่อสะท้อนความแน่นแฟ้นและความเจริญก้าวหน้าของสัมพันธ์
ในด้านความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ผู้นำทั้งสองฝ่ายแสดงความประสงค์ที่จะหาข้อสรุปและประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ ๕ ปี ภายในปีนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน และแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยา ดิจิทัล และเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวในพื้นที่ต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะสอดประสานโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย กับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ของญี่ปุ่น และร่วมมือกันในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนจากญี่ปุ่น การส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เศรษฐกิจดิจิทัล และ 5G การส่งเสริม SME และ Startup ที่มีนวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมการค้า โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นย้ำว่า ไทยเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นในภูมิภาค และญี่ปุ่นพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle-EV) และ Startup ที่มีนวัตกรรม
ในด้านสาธารณสุข ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ ให้แก่ไทยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-๑๙ อาทิ การมอบวัคซีน Astra Zeneca กว่า ๒ ล้านโดส และอุปกรณ์สำหรับการจัดเก็บวัคซีน ทั้งสองฝ่ายยังได้ยืนยันความพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือในด้านสาธารณสุขระหว่างกันเพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่ที่อาจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในด้านการเมืองความมั่นคง นายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านความมั่นคง กลาโหมและด้านยุติธรรม และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในประเทศที่สาม รวมถึงการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียน - ญี่ปุ่น ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น (๒๕๖๔ - ๒๕๖๗) และในโอกาสการครบรอบ ๕๐ ปีความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในปี ๒๕๖๖ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพภายใต้เอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก กับแนวคิดอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน อาทิ สถานการณ์ในเมียนมา ยูเครน ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก คาบสมุทรเกาหลี การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และการลดอาวุธและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยืนยันที่จะเดินทางมาเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ และสนับสนุนไทยในการจัดการประชุมให้ประสบลุล่วงด้วยดี?
ภายหลังการหารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น (๒) ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และ (๓) หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้แถลงข่าวร่วมกันเกี่ยวกับสาระสำคัญของผลการหารือทวิภาคี และเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและคณะ
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ