นายกรัฐมนตรีพร้อมร่วมมือฝ่าวิกฤตพลังงานและอาหารโลกในการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาของโลกกรอบความร่วมมือ BRICS Plus

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 28, 2022 14:13 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาของโลกกรอบความร่วมมือ BRICS Plus (BRICS Plus High-level Dialogue on Global Development) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets and Developing Countries: EMDCs) ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ?สร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในศักราชใหม่เพื่อร่วมอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐? (Foster a Global Development for the New Era to Jointly Implement the 2030 Agenda for Sustainable Development) โดยไทยได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค

ปี ๒๕๖๕ และประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญและเป็นมิตรกับจีน

ที่ประชุมได้หารือกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับแนวทางในการรับมือกับประเด็นปัญหาสำคัญของโลก เช่น วิกฤตราคาพลังงาน ความไม่มั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการเร่งอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมว่า เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระดับโลกและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลดความขัดแย้งระหว่างกัน กลุ่มประเทศ BRICS และ EMDCs ควรร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ในการพลิกฟื้นระบบพหุภาคีให้เข้มแข็ง สมดุล และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นตามแนวคิด ๓ ประการ ดังนี้ (๑) เสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานและเพิ่มพูนความเชื่อมโยงระหว่างกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤตพลังงานและอาหารโลก (๒) ส่งเสริมความเกื้อกูลระหว่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Economy Model) กับข้อริเริ่มว่าด้วยการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative: GDI) ผ่านการกระชับความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคีอย่างเปิดกว้างและครอบคลุมสู่

ความสมดุลในทุกมิติ นอกจากนี้ ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แสดงความพร้อมที่จะแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ร่วมกับประเทศ BRICS และ EMDCs ต่อไป (๓) ร่วมสนับสนุนการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

อนึ่ง การประชุมครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทนำของไทยในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายต่างประเทศของไทยที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไทยเป็นประธานกลุ่ม ๗๗ (G77) (ปี ๒๕๕๙) ประธานอาเซียน (ปี ๒๕๖๒) และเจ้าภาพเอเปคและประธานบิมสเทคในปัจจุบัน ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในห้วงการประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS (BRICS Summit) ครั้งที่ ๑๔ ภายใต้หัวข้อ ?สร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วน BRICS คุณภาพสูง สู่ศักราชใหม่แห่งการพัฒนาระดับโลก? (Foster High-quality BRICS Partnership, Usher in a New Era for Global Development) และเป็นครั้งที่ ๒ ที่นายกรัฐมนตรีได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมรอบความร่วมมือ BRICS Plus

นับตั้งแต่มีการประชุมครั้งแรกที่เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี ๒๕๖๐ นอกจากผู้นำประเทศสมาชิก BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนยังได้เชิญผู้นำจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่ดีกับจีนทั้งสิ้น ๑๓ ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย อาร์เจนตินา อียิปต์ อินโดนีเซีย คาซัคสถาน เซเนกัล อิหร่าน อุซเบกิสถาน กัมพูชา เอธิโอเปีย ฟิจิ มาเลเซีย และไทย

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ