ไทยได้รับเลือกเป็นรองประธานการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (United Nations Commission on International Trade Law: UNCITRAL) สมัยที่ ๕๕ ณ นครนิวยอร์ก
นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานในการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (United Nations Commission on International Trade Law: UNCITRAL) สมัยที่ ๕๕ ระหว่างวันที่ ๒๗ มิถุนายน - ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕
การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกภายหลังไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิก UNCITRAL ต่อเป็นสมัยที่ ๗ โดยคณะผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงท่าทีของไทยในระเบียบวาระที่อยู่ในความสนใจ ได้แก่ คณะทำงาน ๑ เรื่องการลดอุปสรรคทางกฎหมายสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) คณะทำงาน ๓ ว่าด้วยการปฏิรูปกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor-State Dispute Settlement Reform) และการทำงานในอนาคตของ UNCITRAL ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของคณะทำงาน ๒ เรื่องการระงับข้อพิพาท
นอกจากนั้น การประชุมฯ สมัยที่ ๕๕ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างอนุสัญญาว่าด้วยผลทางระหว่างประเทศของการขายเรือโดยกระบวนการทางศาล (Convention on the international effects of judicial sales of ships) ข้อแนะนำเพื่อให้ความช่วยเหลือศูนย์ไกล่เกลี่ยและองค์กรอื่น ๆ ที่สนใจเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยภายใต้ข้อบังคับการไกล่เกลี่ยของ UNCITRAL (Recommendations to assist mediation centres and other interested bodies with regard to mediation under the UNCITRAL Mediation Rules) และกฎหมายแม่แบบว่าด้วยการใช้และการยอมรับการบริหารจัดการด้านการระบุตัวตนของผู้ใช้งานและระบบการสร้างความไว้วางใจข้ามพรมแดน (Model Law on the Use and Cross-border Recognition of Identity Management and Trust Services)
UNCITRAL ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ๒๕๐๙ (ค.ศ. ๑๙๖๖) เป็นกลไกที่สำคัญของสหประชาชาติในการพัฒนากฎหมายการค้าระหว่างประเทศ และมีสมาชิกทั้งหมด ๗๐ ประเทศ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยสมัชชาสหประชาชาติ โดยไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิก UNCITRAL สมัยล่าสุด วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๒ - ๒๐๒๘ ซึ่งเป็นการได้รับเลือกตั้งสมัยที่ ๗ ของไทย ทั้งนี้ ไทยได้ใช้ประโยชน์จากผลงานของ UNCITRAL ในการพัฒนากฎหมายภายในของไทย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ และพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. ๒๕๕๘
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ