เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง และเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลุ่มมิตรลุ่มน้ำโขง ที่กรุงพนมเปญ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้แทนสมาชิกกลุ่มมิตรลุ่มน้ำโขง (Friends of the Mekong: FoM) ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการประสานงานและโอกาสสำหรับความร่วมมือสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและการสร้างความสามารถในการฟื้นตัวด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวข้อสำหรับการหารือในครั้งนี้
เอกอัครราชทูตอรุณรุ่งฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงส่งเสริมการใช้จุดเด่นของ FoM คือ ความคล่องตัว เพื่อให้ความร่วมมือมีความยืดหยุ่นและสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งการจะบรรลุผลลัพธ์ดังกล่าวได้ FoM ต้องมุ่งเน้นด้านการพัฒนา ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อการรับมือกับความท้าทายทางนโยบายและความยั่งยืนในอนุภูมิภาคฯ และยังได้เรียกร้องให้มีการส่งเสริมการสอดประสานและการเกื้อหนุนกันระหว่างกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในอนุภูมิภาคฯ โดยเฉพาะ ACMECS ซึ่งเป็นข้อต่อที่จะเชื่อมโยงและสร้างความสอดประสานระหว่างผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างกรอบความร่วมมือต่าง ๆ
นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตอรุณรุ่งฯ ได้ย้ำความสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและระบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเสนอการใช้รูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นแนวทางสำหรับการฟื้นฟูหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคฯ และเสนอให้สมาชิก FoM ร่วมกันสนับสนุนโครงการ ACMECS BCG Outlook เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้ FoM มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
FoM เดิมชื่อกลุ่มมิตรลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Friends of the Lower Mekong: FLM) อยู่ภายใต้ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative: LMI) ปัจจุบัน อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong - U.S. Partnership: MUSP) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๔ และมีสหรัฐอเมริกาเป็นประธาน โดยเป็นเวทีการประสานงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคฯ สำหรับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง ๕ ทั้งนี้ สมาชิกอื่น ๆ ของ FoM อีก ๘ ประเทศและองค์กร ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพยุโรป ธนาคารพัฒนาเอเชีย ธนาคารโลก และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ