รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (Post Ministerial Conferences-PMC) ณ กรุงพนมเปญ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 10, 2022 14:17 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (Post Ministerial Conferences-PMC) ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ประชุมหารือกับประเทศคู่เจรจา ๑๒ การประชุม ประกอบด้วยประเทศคู่เจรจา ๑๐ ประเทศ และ ๑ องค์กร ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐฯ รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป และการประชุมในกรอบอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลักดันความร่วมมืออย่างรอบด้านระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจานั้น ๆ สรุปสาระสำคัญของแต่ละการประชุม ได้ดังนี้

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - ญี่ปุ่น

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-ญี่ปุ่น ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น ร่วมกับนายฮายาชิ โยชิมาสะ (HAYASHI Yoshimasa) รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น โดยได้ผลักดันความร่วมมือระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่นในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการเมืองและความมั่นคงภายใต้เอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก หรือ AOIP (ASEAN Outlook to the Indo-Pacific) การพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการใช้ประโยชน์จากโมเดลเศรษฐกิจ BCG และด้านสาธารณสุขผ่านการเร่งรัดการจัดตั้งและการดำเนินการศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ หรือ ACPHEED (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases)

นอกจากนั้น ที่ประชุมฯ ยังได้แสดงความพร้อมการเตรียมการฉลองวาระครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น ในปี ๒๕๖๖ โดยเปิดตัวตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองวาระดังกล่าว และเห็นชอบให้เสนอเอกสาร Concept Paper on ASEAN Commemorative Summit for the 50th Year of Friendship and Cooperation ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้พิจารณามีข้อตัดสินใจต่อไป

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำความสำคัญของสาธารณรัฐเกาหลีในการเป็นประเทศคู่เจรจาที่ส่งเสริมการฟื้นฟูภูมิภาคอย่างยั่งยืน และผลักดันความร่วมมืออาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข การพัฒนาที่ยั่งยืน การแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน วัฒนธรรม (Soft power) และแลกเปลี่ยนประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี โดยไทยจะดำรงตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ต่อจากเวียดนามเป็นลำดับต่อไป

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - จีน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชูบทบาทที่แข็งขันของไทย ในการเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน และผลักดันความร่วมมือที่สร้างสรรค์และมุ่งไปข้างหน้าของอาเซียนและจีน ในความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ที่อยู่บนพื้นฐานหลักการร่วมกัน การฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกันภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รวมทั้งความร่วมมือในการพัฒนาและในด้านอื่นๆ ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ? อินเดีย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ผลักดันความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ โดยเสนอแนวทางรูปแบบเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือ และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน ? อินเดียในช่วงปี ๒๕๖๑ - ๒๕๖๔ ไทยในแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ โดยเฉพาะในระดับประชาชนในอดีต และแบ่งปันประสบการณ์การเป็นประเทศผู้ประสานงานกับสิงคโปร์ซึ่งปฏิบัติเป็นผู้ประสานงานในปัจจุบันจนถึงปี ๒๕๖๗

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ? สหรัฐฯ

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาค โดยส่งเสริมระบบพหุภาคีที่ครอบคลุมและสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน รวมทั้งผลักดันความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ? รัสเซีย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน - รัสเซีย เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่าง ASEAN - Eurasia Economic Commission (EEC) และเสนอความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ? ออสเตรเลีย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน - ออสเตรเลีย โดยส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน อาทิ การฟื้นฟูที่ยั่งยืนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว และร่วมกับประเทศในอาเซียนและจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี หารือประเด็นในการรับมือกับความท้าทายและวิกฤตการณ์ร่วมกัน ทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม ดังนี้

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ? สหภาพยุโรป

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงและสันติภาพ การเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งรวมถึงการจัดทำ เขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป และระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเจริญเติบโตสีเขียว

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ? นิวซีแลนด์

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ การแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน และสนับสนุนความร่วมมือในสาขาที่นิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญ อาทิ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ? แคนาดา

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันประเด็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างกันผ่านความตกลงการค้าเสรี FTA อาเซียน ? แคนาดา รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม MSMEs พร้อมเสนอแนวทางรูปแบบเศรษฐกิจ BCG เพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืน

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ? สหราชอาณาจักร

ถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ภายหลังสหราชอาณาจักรเข้าเป็นประเทศคู่เจรจากับอาเซียนเมื่อปี ๒๕๖๔ โดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศโดยได้ผลักดันความร่วมมือที่เป็นจะเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้ระหว่างอาเซียน - สหราชอาณาจักร ในอนาคตอันใกล้โดยเฉพาะการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นฟูจากโควิด-๑๙ ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ