การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (APEC Third Senior Officials? Meeting ? SOM3 and Related Meetings) ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ และการประชุมที่เกี่ยวข้องจะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๖-๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ ในรูปแบบพบหน้ากัน เพื่อสานต่อพันธกิจจากการประชุมครั้งก่อนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ฟื้นจากสถานการณ์โควิด-๑๙ อย่างครอบคลุมและยั่งยืน และยังเติบโตได้ท่ามกลางสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ท้าทาย ภายใต้หัวข้อหลัก ?เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดล? หรือ ?Open. Connect. Balance.?
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ นับเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่ประกอบด้วยการประชุมระดับต่าง ๆ จำนวนมากที่สุดถึง ๖๗ ครั้ง ครอบคลุมการประชุมของคณะทำงานเอเปค ๒๘ กลุ่ม และการประชุมที่จัดขึ้นโดยเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่ไทยผลักดันในวาระที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค นอกจากนี้ จะมีการจัดประชุมรัฐมนตรีเอเปค อีก ๔ สาขาในช่วงเวลาเดียวกัน ครอบคลุมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว สุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และป่าไม้ โดยมีหัวข้อประชุมที่เน้นใช้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green (BCG) Green Economy ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า ๑,๘๐๐ คน และส่วนใหญ่จะเดินทางเข้าร่วมประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ ในขณะที่บางส่วนจะเข้าประชุมที่กรุงเทพฯ และทางออนไลน์
ตลอดสองสัปดาห์ข้างหน้า ที่ประชุมทั้งหมดจะมุ่งหน้าขับเคลื่อนผลลัพธ์ ๓ ข้อที่ไทยผลักดันในการเป็นเจ้าภาพฯ เพื่อปูทางไปสู่สัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ ประเด็นหารือสำคัญประกอบด้วย (๑) สานต่อการหารือเพื่อนำประเด็นความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) มาหารือใหม่ในบริบทยุคหลังโควิด-๑๙ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในครั้งนี้ที่ประชุมจะหารือแนวทางการจัดทำแผนงานขับเคลื่อนประเด็น FTAAP ให้ต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป (๒) การประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ หรือ APEC Safe Passage Taskforce ครั้งสุดท้าย เพื่อติดตามความคืบหน้าการนำข้อริเริ่มที่ได้รับความเห็นชอบแล้วไปปฏิบัติจริง รวมทั้งหารือแนวทางการเพิ่มความคล่องตัวของการเดินทางและการทำธุรกิจในภูมิภาคฯ เพื่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานการเดินทางที่พร้อมรับมือกับ วิกกฤตใหม่ในอนาคต และ (๓) การจัดทำเป้าหมายกรุงเทพเรื่องเศรษฐกิจ BCG ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่เขตเศรษฐกิจสมาชิกกำลังร่วมกันพิจารณาร่างเอกสาร ซึ่งตั้งเป้าจะเสนอเอกสารนี้ให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค รับรองในเดือนพฤศจิกายน โดยจะจัดเสวนาเรื่องหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Roundtable on Partnership towards Sustainable Economic Growth through the BCG Economy Model) และการประชุมพิเศษเรื่องเป้าหมายกรุงเทพ เพื่อขับเคลื่อนวาระสำคัญนี้โดยเฉพาะ
การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยเดินทางเข้าสู่ช่วงสุดท้ายก่อนการประชุมผู้นำฯ ปลายปี การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เอเปคจะเร่งมือทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สร้างประโยชน์ต่อประชาชน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ.๒๐๔๐ ที่มุ่งสร้างให้ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิกเปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีสันติภาพ รวมทั้งเป็นโอกาสของไทยในการขับเคลื่อนการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนไทยด้วย
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ