การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ภายใต้คณะทำงานของเอเปค ซึ่งกลไกการหารือระดับคณะทำงานเหล่านี้จะปูทางไปสู่การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี และระดับผู้นำ และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในการเป็นเจ้าภาพเอเปค ๒๕๖๕ กล่าวคือการส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง การฟื้นฟูความเชื่อมโยง และการสนับสนุนการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ภายใต้หัวข้อหลัก ?เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล?
การประชุมคณะทำงานเอเปคในช่วงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ ครอบคลุมสาขาความร่วมมือที่หลากหลายภายใต้ ๒๘ คณะทำงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง ผ่านความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร ทรัพย์สินทางปัญญา การต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใส การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ผ่านการหารือด้านการท่องเที่ยว สุขภาพ การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน และเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน เช่น การสนับสนุนและ สร้างพลังทางเศรษฐกิจให้แก่สตรี ความมั่นคงทางอาหาร การประมงยั่งยืน รวมไปถึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกุญแจนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสร้างกำไรไปพร้อมกัน
ในโอกาสการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี ๒๕๖๕ ผู้แทนหน่วยงานไทยยังทำหน้าที่ประธานคณะทำงาน ๗ คณะ ได้แก่ กลุ่มงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัล คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการรับรอง หุ้นส่วนเชิงนโยบายความมั่นคงทางอาหาร คณะทำงานด้านสุขภาพ คณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใส และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและกฏหมายการแข่งขัน ซึ่งการเป็นประธานคณะทำงานที่หลากหลายเหล่านี้เป็นโอกาสให้ไทยได้ผลักดันประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในการเป็นเจ้าภาพเอเปคผ่านกลไกคณะทำงาน และสะท้อนความสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่สอดคล้องและสนับสนุนภารกิจของเอเปคในมิติต่าง ๆ
ตัวอย่างเช่น ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านพิธีการศุลกากร ไทยจะนำเสนอผลการหารือหัวข้อ ?ศุลกากรและเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน? ในขณะที่คณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการรับรองจะหารือผลการประชุมเรื่อง ?BCG เพื่อ MSMEs ในเอเปค ? ความท้าทายและแนวทางดำเนินการ? ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไทยริเริ่มเช่นกัน นอกจากนี้ ไทยจะจัดการหารือเชิงนโยบายเรื่อง ?ครอบครัวอัจฉริยะ? ภายใต้คณะทำงานด้านสุขภาพเพื่อพัฒนานโยบายการวางแผนครอบครัวแบบครอบคลุมที่คำนึงถึงทางเลือกการมีบุตรและการทำงานของสตรี
การประชุมคณะทำงานถือเป็นกลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือของเอเปคในสาขาต่าง ๆ สะท้อนความโดดเด่นของเอเปคในฐานะแหล่งบ่มเพาะความคิดและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับสมาชิกเอเปคพิจารณานำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละเขตเศรษฐกิจ โดยมีส่วนสำคัญทำให้เอเปครักษาสถานะการเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับแนวหน้าของภูมิภาคที่มุ่งสร้างความมั่งคั่งและอยู่ดีกินดีให้ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของไทยต่อไป
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ