เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงและเจ้าหน้าที่อาวุโสกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ที่เวียงจันทน์ โดยจัดโดย สปป. ลาว ในฐานะประธาน ACMECS
ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการเตรียมการจัดตั้ง ACMECS Interim Secretariat ที่ไทย และให้สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute: MI) ทำหน้าที่สนับสนุนทางเทคนิค โดยจะมีการประกาศจัดตั้ง (launch) Interim Secretariat ที่การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๑๐ ซึ่ง สปป. ลาว จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในช่วงปลายปี ๒๕๖๕ และ ACMECS Interim Secretariat จะเริ่มดำเนินงานภายในช่วงต้นปี ๒๕๖๖
ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเงิน ACMECS ครั้งที่ ๖ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ที่เวียงจันทน์ โดยมีคณะผู้แทนกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิก ACMECS เข้าร่วม โดยเฉพาะความคืบหน้าของการดำเนินการจัดตั้งกองทุน ACMECS Development Fund (ACMDF) ซึ่งได้มีการกำหนดเป้าหมายที่จะจัดตั้งกองทุนฯ ให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๖ เพื่อใช้ในการสนับสนุนโครงการความร่วมมือของ ACMECS ตามแผนแม่บท ACMECS ค.ศ. ๒๐๒๙-๒๐๒๓ และความคืบหน้าในการจัดตั้งกลไก ACMECS Project-based Financing Mechanism (ACMPF) ซึ่งกลไกทางการเงินของ ACMECS ทั้งสองจะเป็นช่องทางสำหรับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners: DPs) และหุ้นส่วนภายนอก (external partners) ในการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการของ ACMECS
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมผู้นำฯ ซึ่ง สปป. ลาว ได้นำเสนอหัวข้อสำหรับการประชุมผู้นำฯ ได้แก่ Towards Seamless Connectivity for the Mekong Sub-regional Integration และเตรียมร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ (Vientiane Declaration) เพื่อที่ประชุมผู้นำฯ ให้การรับรองเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ทั้งนี้ ก่อนหน้าการประชุมผู้นำฯ ACMECS จะจัดการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโส ACMECS กับ DPs กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งจะเชิญว่าที่ DPs กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ อิสราเอล และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะเข้าเป็น DPs ของ ACMECS ต่อไป เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมด้วย เพื่อ DPs ทั้งหมดจะได้รับทราบพัฒนาการล่าสุดของ ACMECS และหารือแนวทางที่ DPs จะสามารถให้การสนับสนุน ACMECS ให้มีความคืบหน้าที่เป็นประโยชน์และเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
อนึ่ง ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มเมื่อปี ๒๕๔๖ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างการเจริญเติบโต สร้างโอกาสการจ้างงาน และลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ